4 ตอนที่ผ่านมาผู้เขียน เขียนถึงมาตรฐาน ESG ระดับโลกที่ได้รับการยอมรับสูงสุดจากนักลงทุนสถาบันและบริษัทขนาดใหญ่ ตามรายงาน Rate the Raters ประจำปี 2023 ของ SustainAbility สถาบันจัดอันดับ ESG ชื่อดัง ตั้งแต่ S&P Global ESG, EcoVadis และ ISS-ESG
มาตรฐาน ESG เหล่านี้มีที่มาต่างกัน โมเดลการหารายได้จากการสร้างและขายมาตรฐาน ESG ก็ไม่เหมือนกัน ภาคธุรกิจไทยอาจคุ้นเคยกับมาตรฐาน S&P Global ESG ที่สุด เพราะเป็นมาตรฐานการเปิดเผยข้อมูลเบื้องหลังชุดดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices: DJSI) คุ้นเคยน้อยสุดกับมาตรฐาน ESG อย่าง ISS-ESG ที่เน้นให้บริการกับนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเห็นว่า “จุดร่วม” ของมาตรฐาน S&P Global ESG, EcoVadis และ ISS-ESG ที่สำคัญต่อการสร้างความน่าเชื่อถืออย่างกว้างขวาง ทั้งจากธุรกิจและนักลงทุน สามารถสรุปได้ 4 ข้อหลักดังต่อไปนี้
ข้อแรก ข้อมูลที่ใช้ประเมิน ESG ตั้งอยู่บนหลักฐาน (evidence-based) กล่าวคือ กำหนดให้บริษัทที่เข้ารับการประเมินส่งหลักฐานต่างๆ ที่แสดงให้เห็นว่าบริษัทให้ความสำคัญและรับผิดชอบต่อประเด็น ESG ตามมาตรฐาน ESG นั้นๆ จริง ไม่ว่าจะเป็น นโยบายบริษัท ใบรับรองมาตรฐาน การรายงานตามตัวชี้วัดผลงาน (KPIs) เป็นต้น
ข้อสอง อาศัยแหล่งข้อมูล ESG ที่หลากหลายกว่าตัวบริษัทเอง (diverse data sources) ข้อนี้สำคัญเพราะมาตรฐาน ESG ล้วนเป็นมาตรฐานโดยสมัครใจ (ผู้เขียนจะเขียนถึงเกณฑ์ ESG ภาคบังคับในตอนต่อๆ ไป) แปลว่าบริษัทที่เข้ารับการประเมินมีอิสระที่จะส่งข้อมูลของตัวเอง ซึ่งบริษัทก็ย่อมเน้นส่งข้อมูลที่ทำให้ตัวเอง ‘ดูดี’ เช่น ประกาศนโยบายสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศที่ใช้ถ้อยคำสวยหรูและอ้างอิงมาตรฐานสากลอย่างสละสลวย แต่ในภาคปฏิบัติกลับตรงกันข้าม พนักงานหญิงจำนวนมากถูกคุกคามทางเพศเป็นประจำและได้รับค่าตอบแทนน้อยกว่าพนักงานชายที่ทำงานเหมือนกัน เป็นต้น
ในเมื่อข้อเท็จจริง (ซึ่งอาจแย่กว่าตัวหนังสือในเอกสารนโยบาย) มักจะเป็นข้อมูลภายในขององค์กร คนนอกล่วงรู้ได้ยากมาก เจ้าของมาตรฐาน ESG ที่ใส่ใจกับการรักษาและเพิ่มพูนความน่าเชื่อถือของมาตรฐานตัวเอง จึงต้องอาศัยกลไกอื่นๆ นอกเหนือจากข้อมูลหลักฐานที่บริษัทส่งให้ แต่การส่งคนไปยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ESG เป็นเรื่องยากมาก เพราะข้อมูลมักเป็นข้อมูลภายในซึ่งเป็นความลับของบริษัทดังกล่าวแล้ว ดังนั้น มาตรฐาน ESG จึงมักอาศัยกลไกอื่นๆ ที่อาจด้อยประสิทธิภาพกว่า แต่ทำได้จริงมากกว่าการหาทางยืนยันความถูกต้อง
กลไกหนึ่งซึ่งเป็นที่นิยม คือการหาแหล่งข้อมูลที่หลากหลายกว่าตัวบริษัทที่เข้ารับการประเมิน เพื่อถ่วงดุลและสอบยัน (cross-check) ว่าข้อมูลที่บริษัทรายงานเองนั้นน่าจะถูกต้องหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น EcoVadis “รวบรวมทั้งข้อมูลจากสื่อ องค์กรพัฒนาเอกชน (เอ็นจีโอ อาทิ World Wildlife Fund, Greenpeace, China Labor Watch เป็นต้น) สหภาพแรงงาน องค์กรระหว่างประเทศ (อาทิ ธนาคารโลก, Extractive Industries Transparency Initiative (EITI), องค์การแรงงานระหว่างประเทศ เป็นต้น) รัฐบาลท้องถิ่น หน่วยงานกำกับดูแลในประเทศ รวมถึงฐานข้อมูลเอกชนและผู้ตรวจสอบภายนอก (auditor)” ส่วน S&P Global ESG ใช้วิธีจ้างบริษัทสื่อรวบรวมข้อมูลจากสื่อต่างๆ ทั่วโลก ทันทีที่พบข่าวว่าบริษัทมีพฤติกรรมทางลบที่ส่อว่าอาจขัดแย้งกับข้อมูล ESG ที่บริษัทยื่น ตามกระบวนการวิเคราะห์สื่อและผู้มีส่วนได้เสีย (MSA) ทีม S&P Global ESG จะสอบถามไปยังบริษัทเพื่อพิจารณาดูว่าควรหักคะแนนในประเด็น ESG ที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เพียงใด
ข้อสาม มีกลไกรับเรื่องร้องเรียนและหักคะแนน ESG (grievance mechanism & ESG score reduction) ในเมื่อการดำเนินธุรกิจในทางที่ให้ความสำคัญกับประเด็น ESG มีความซับซ้อน ประเด็นมีหลากหลาย และสถานการณ์ก็เปลี่ยนแปลงได้เสมอ บริษัทที่เข้าร่วมมาตรฐาน ESG หนึ่งๆ อาจได้คะแนนสูง ณ วันที่เข้ารับการประเมิน และก็สมควรได้รับคะแนนสูงจริงๆ แต่ไม่นานหลังจากนั้นอาจเกิดเหตุการณ์ที่ถูกเปิดโปงต่อสาธารณะว่า พฤติกรรมบางด้าน ‘ไม่ดีจริง’ ตามที่สื่อในคะแนน
ยกตัวอย่างเช่น บริษัทหนึ่งอาจได้คะแนนด้านสิทธิมนุษยชนสูงเพราะประกาศนโยบายคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประกาศรับหลักการชี้แนะว่าด้วยสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UNGPs) แต่อยู่มาวันหนึ่ง ก่อนรอบการประเมินปีถัดไป มีองค์กรพัฒนาเอกชนออกมาเปิดโปงว่า บริษัทนี้ละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยตรง หรือรับซื้อผลผลิตจากคู่ค้าที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ส่งเรื่องร้องเรียนมา ‘ฟ้อง’ เจ้าของมาตรฐาน ESG ว่าทำไมจึงให้คะแนนสูงๆ กับบริษัท กรณีนี้เจ้าของมาตรฐาน ESG ที่ใส่ใจกับความน่าเชื่อถือของมาตรฐาน ก็จะต้องรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาว่าจะหั่นคะแนน ESG ของบริษัทในหมวดสิทธิมนุษยชน หรือแม้แต่ ‘ถอด’ บริษัทนั้นๆ ออกจากทำเนียบ ถ้าหากประเมินแล้วว่าพฤติกรรมของบริษัทละเมิดเกณฑ์ ESG อย่างร้ายแรง ดังตัวอย่างบริษัทชื่อดังจำนวนไม่น้อยที่ถูกถอดออกจากดัชนี DJSI ซึ่งใช้มาตรฐาน S&P Global ESG เป็นฐาน
ข้อสี่ เปิดเกณฑ์การประเมินอย่างโปร่งใส และมีกระบวนการทบทวนและปรับปรุงมาตรฐาน ESG อยู่เสมอ (transparency & continuous improvement) ผู้เขียนเห็นว่าลักษณะข้อนี้ของมาตรฐาน ESG สำคัญไม่แพ้ข้ออื่นๆ เนื่องจากการเปิดเผยเกณฑ์การประเมิน ESG และวิธีให้คะแนนอย่างโปร่งใส ย่อมขจัดข้อครหานินทาว่า เจ้าของมาตรฐาน ESG ลำเอียงเข้าข้างบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นพิเศษหรือไม่ และเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การประเมินตามมาตรฐาน ESG นั้นพยายามจะทำอย่างเป็นภววิสัย (objective) ให้ได้มากที่สุด อีกทั้งการเปิดเผยเกณฑ์ยังช่วยให้บริษัทที่สนใจเรื่อง ESG ได้เรียนรู้ว่าประเด็น ESG ที่สำคัญๆ มีอะไรบ้าง มาตรฐาน ESG นั้นๆ ให้ความสำคัญกับประเด็นใดเพราะอะไร เหตุใดจึงให้น้ำหนักแต่ละประเด็นไม่เท่ากันทุกอุตสาหกรรม เป็นต้น ซึ่งก็นับเป็นจุดตั้งต้นที่ดีในการทำความเข้าใจว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทส่งผลกระทบต่อประเด็น ESG แต่ละประเด็นอย่างไร และในทางกลับกัน ประเด็น ESG แต่ละประเด็นส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทอย่างไร (เรียกว่า หลักการ double materiality หรือสาระสำคัญสองทาง)
ส่วนการมีกระบวนการทบทวนและปรับปรุงมาตรฐาน ESG อยู่เสมอ ก็สำคัญไม่แพ้ความโปร่งใสของเกณฑ์การประเมิน เพราะประเด็น ESG ที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ และที่ธุรกิจส่งผลกระทบ ย่อมเปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงและเร่งด่วนในช่วงเวลาหนึ่งๆ รวมถึงความคาดหวังและความกังวลของผู้มีส่วนได้เสียของภาคธุรกิจ ซึ่งก็ย่อมเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและยุคสมัย
ยกตัวอย่างเช่น ย้อนไป 20 ปีที่แล้วคงไม่มีใครมอง ภาวะโลกรวน (climate change) ว่าเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญสำหรับภาคธุรกิจ แต่วันนี้ประเด็นนี้กลายเป็นความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมอันดับต้นๆ ที่ธุรกิจทุกแขนงต้องหาทางรับมือเนื่องจากส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้น และธุรกิจหลายแขนงก็เดินหน้าปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งซ้ำเติมภาวะโลกรวนมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ มาตรฐาน ESG ต่างๆ จึงแข่งกันเพิ่มหัวข้อและความเข้มข้นของการประเมินในประเด็นภาวะโลกรวน (รวมถึงกลยุทธ์ของบริษัทในการรับมือกับภาวะโลกรวน) อย่างขนานใหญ่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ในระดับประเทศไทย มาตรฐาน ESG ซึ่งน่าจะเป็นที่รู้จักมากที่สุด คือ SET ESG Ratings ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่เน้นประเมินการเปิดเผยข้อมูลด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนใน ตลท. มาตรฐานดังกล่าวเปลี่ยนชื่อมาจาก Thailand Sustainable Investment หรือ THSI โดยในปีล่าสุดคือ พ.ศ. 2566 เป็นปีแรกที่มีการประกาศผลการประเมิน SET ESG Rating ในรูปแบบเรทติ้ง โดยมีบริษัทจดทะเบียนที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับการประกาศผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings จำนวนมากถึง 193 บริษัท หรือราวหนึ่งในสี่ของบริษัทจดทะเบียนทั้งตลาด มีมูลค่าตลาดรวมกันคิดเป็นร้อยละ 72 หรือเกือบสามในสี่ของมูลค่าตลาดทั้งหมดของ SET และ mai
ตลท. อธิบายว่า SET ESG Ratings “ประเมินจากบริษัทจดทะเบียนที่สมัครใจเข้าร่วมตอบแบบประเมินความยั่งยืนที่จัดทำโดย [ตลท.] โดยการประเมินจะครอบคลุมคำถามในมิติ ESG ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการทบทวนแบบประเมินทุกปีให้สอดคล้องกับบริบทและแนวโน้มด้านความยั่งยืน (Sustainability Trends) ที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับสากล และระดับประเทศ
“บริษัทจดทะเบียนที่มีผลประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ต้องมีผลคะแนนจากการตอบแบบประเมินความยั่งยืนอย่างน้อย 50% ในแต่ละมิติ และต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ผลการประเมินคุณภาพรายงานด้านบรรษัทภิบาล (Corporate Governance Reporting หรือ CGR) ผลประกอบการด้านกำไรสุทธิและส่วนของผู้ถือหุ้น ผลการกำกับดูแลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคุณสมบัติของบริษัทจดทะเบียน การไม่ถูกลงโทษในประเด็นด้าน ESG การเป็นหลักทรัพย์ที่ไม่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C เป็นต้น”
ผู้เขียนเห็นว่า เมื่อเทียบกับ “จุดร่วม” 4 ข้อข้างต้นของมาตรฐาน ESG ระดับโลกแล้ว มาตรฐาน SET ESG Ratings ทำเพียง 2 ใน 4 ข้อเท่านั้น กล่าวคือ เกณฑ์การประเมินตั้งอยู่บนหลักฐาน (evidence-based) และมีความโปร่งใสพอประมาณในการเปิดเผยเกณฑ์ประเมิน และประกาศว่ามีการทบทวนแบบประเมินทุกปี
ส่วนข้อที่ SET ESG Ratings ยังไม่ได้ทำ ซึ่งอาจถือเป็น “จุดอ่อน” ของมาตรฐานนี้ คือ การอาศัยแหล่งข้อมูลที่หลากหลายกว่าตัวบริษัทเอง และการมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนและหักคะแนน ESG
ทั้งนี้ เนื่องจาก SET ESG Ratings ประเมินจากข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนส่งให้เพียงแหล่งเดียว และยังไม่มีกลไกรับเรื่องร้องเรียนใดๆ ที่จะนำไปสู่การหักคะแนน ESG ระหว่างปี – SET ESG Ratings มีเพียงประกาศสั้นๆ ว่า “หากบริษัทมีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์ จะถูกคัดออกจาก SET ESG Ratings ระหว่างปีได้”
ซึ่งการมี “คุณสมบัติไม่เป็นไปตามเกณฑ์” นั้น ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้โดยง่าย เนื่องจากพฤติกรรมของบริษัทหลายอย่างที่ชัดเจนต่อสาธารณะว่าไม่สอดคล้อง หรือแม้แต่ละเมิด นโยบายหรือมาตรการที่บริษัทเองประกาศเกี่ยวกับ ESG ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง อาจไม่ “รุนแรง” ถึงขนาดที่บริษัท “ถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดจากทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือมีกรรมการหรือผู้บริหารถูกกล่าวโทษหรือได้รับการตัดสินความผิดจากทางการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องการกำกับดูแลกิจการ การสร้างผลกระทบด้านสังคมหรือสิ่งแวดล้อม” ซึ่งเป็นเกณฑ์คุณสมบัติข้อเดียวใน SET ESG Ratings ที่สะท้อนการสร้างผลกระทบเชิงลบด้าน ESG
ยังไม่นับข้อเท็จจริงที่ว่า ทางการไทยที่ผ่านมาก็ดูจะ ‘ไร้น้ำยา’ ในการกล่าวโทษบริษัทที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม หรือธรรมาภิบาลอย่างชัดแจ้ง!
อ่าน 4 ตอนแรกย้อนหลังได้ที่ :
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney