IPEF คืออะไร? สำคัญต่อไทยอย่างไร ภายใต้โลกแบ่งขั้ว

Experts pool

Columnist

Tag

IPEF คืออะไร? สำคัญต่อไทยอย่างไร ภายใต้โลกแบ่งขั้ว

Date Time: 6 ก.ค. 2567 10:00 น.

Video

ล้วงลึกอาณาจักร “PCE” สู่บริษัทมหาชน ปาล์มครบวงจร | On The Rise

Summary

  • IPEF ไม่ใช่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั่วไปที่มีเป้าหมายหลักในการลดภาษีนำเข้าสินค้าหรือส่งเสริมการค้าเสรีระหว่างกันแบบเดียวกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น RCEP หรือ CPTPP แต่ว่า IPEF มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งเพิ่มช่องทางให้สหรัฐฯ สามารถเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นภายใต้โลกที่กำลังแบ่งขั้ว

Latest


กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (IPEF) เป็นกรอบความร่วมมือใหม่ของสหรัฐฯ ที่ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2565 สมัยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ตามแผนยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก (IPS) ของสหรัฐฯ ซึ่งมีเป้าหมายในการรักษาบทบาทของสหรัฐฯ ในภูมิภาค หลังจากจีนเริ่มมีบทบาทเพิ่มขึ้นมากในโลกและปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ได้กลายเป็นประเด็นร้อนแรงบนเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศในปัจจุบัน

เศรษฐกิจโลกที่เคยเชื่อมโยงกันเป็นห่วงโซ่อุปทานหนึ่งเดียวได้แปรเปลี่ยนเป็นเศรษฐกิจหลายขั้ว ทำให้ประเทศพันธมิตรในแต่ละขั้วต้องหลีกเลี่ยงการพึ่งพาประเทศในกลุ่มตรงกันข้าม เพื่อป้องกันผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าและการลงทุนที่จะรุนแรงขึ้น และหันมาดำเนินธุรกิจกันเองภายในขั้วเดียวกันหรือค้าขายกับประเทศที่มีแนวคิดเป็นกลางมากขึ้น ส่งผลให้สหรัฐฯ ที่เป็นมหาอำนาจหลักต้องแสวงหาแนวทางเพื่อรักษาบทบาทของประเทศในเวทีโลก 

ในปัจจุบัน IPEF มีจำนวนสมาชิกทั้งสิ้น 14 ประเทศ (รวมถึงไทย) โดยปราศจากจีนและพันธมิตรของจีนเข้าร่วมด้วย โดย IPEF ครอบคลุมขนาดเศรษฐกิจโลก (GDP) คิดเป็นราว 35.5% และมีขนาดประชากรรวม 32.7% ของโลก การรวมกลุ่มใหม่ภายใต้การริเริ่มของสหรัฐฯ เช่นนี้ ก่อให้เกิดคำถามสำคัญว่า IPEF จะส่งผลอย่างไรกับอุตสาหกรรมของไทยในอนาคตภายใต้ฉากทัศน์การค้าและห่วงโซ่อุปทานที่เปลี่ยนแปลงในโลกแบ่งขั้ว? แล้วอุตสาหกรรมไทยควรจะต้องปรับตัวอย่างไร?

IPEF ไม่ใช่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจทั่วไปที่มีเป้าหมายหลักในการลดภาษีนำเข้าสินค้าหรือส่งเสริมการค้าเสรีระหว่างกันแบบเดียวกับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น RCEP หรือ CPTPP แต่ว่า IPEF มีเป้าหมายหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน รวมทั้งเพิ่มช่องทางให้สหรัฐฯ สามารถเข้ามามีบทบาทในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้นภายใต้โลกที่กำลังแบ่งขั้ว ผ่านการสร้างกฎระเบียบระหว่างสมาชิกร่วมกันโดยไม่มีข้อผูกมัด 

IPEF มีลักษณะคล้ายโครงการ Belt and Road Initiative (BRI) ของจีนอยู่บ้าง ในแง่ที่ BRI ต้องการเพิ่มบทบาทจีนต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม IPEF แตกต่างจาก BRI ในด้านเงินทุน กล่าวคือ BRI เป็นแผนการลงทุนโดยตรงระยะยาวจากจีน โดยเข้าไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีของประเทศในภูมิภาคเอเชียโดยตรง ขณะที่ IPEF ไม่ใช่การลงทุนทางตรงจากสหรัฐฯ แต่จะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาทักษะแรงงาน สาธารณูปโภค การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศให้สอดคล้องกับกรอบความร่วมมือที่กำหนดไว้

นอกจากนี้ IPEF ยังจะร่วมมือกับภาคเอกชนของประเทศสมาชิกในการจัดตั้งกองทุนขนาดใหญ่เพื่อให้ประเทศสมาชิกทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้น และให้สามารถจับคู่โครงการพัฒนาของประเทศเข้ากับแหล่งเงินทุนได้

จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า IPEF เป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่มีเป้าหมายทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในการรักษาอำนาจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก และเพื่อลดบทบาทจีนที่อาจกลายมาเป็นมหาอำนาจใหม่แทนสหรัฐฯ โดยการที่สหรัฐฯ ริเริ่ม IPEF ขึ้นเช่นนี้ เพื่อทดแทนการถอนตัวจาก TPP (หรือ CPTPP ในปัจจุบัน) ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ทำให้สหรัฐฯ เริ่มสูญเสียอิทธิพลในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมาตั้งแต่ปี 2560

IPEF วางเป้าหมายกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศใน 4 เสาหลัก ได้แก่

  1. ด้านการค้า (Trade) ที่ส่งเสริมการสร้างการค้าอย่างเท่าเทียม การสร้างนโยบายการค้าที่ดีระหว่างกัน รวมทั้งสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล
  2. ด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply chains) ที่ส่งเสริมการป้องกันไม่ให้เกิดการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน (Shock in supply chains)
  3. ด้านพลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน และการลดการปล่อยคาร์บอน (Clean economy) ที่ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การลงทุนและสนับสนุนภาคธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  4. ด้านภาษีและการต่อต้านการทุจริต (Fair economy) ที่ส่งเสริมมาตรการที่ต่อต้านการทุจริตและการเก็บภาษีเพื่อให้มีการแข่งขันระหว่างกันอย่างเป็นธรรม

กรอบ IPEF ในเสาหลักด้านห่วงโซ่อุปทาน ถือเป็นจุดเด่นของ IPEF เนื่องจากมีความก้าวหน้าในกระบวนการเจรจาข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกมากที่สุด

อีกทั้งยังเป็นกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจระดับโลกกรอบแรกที่ให้ความสำคัญกับการจัดการความเสี่ยงห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้นในปัจจุบันได้ก่อให้เกิดความไม่มีเสถียรภาพในอุปทานโลกเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น สงครามรัสเซีย-ยูเครน ในปี 2562 ที่ทำให้ทั่วโลกประสบปัญหาอุปทานวัตถุดิบในการผลิต พลังงาน อาหาร และการขนส่ง หรือสงครามอิสราเอล-ฮามาส ในปี 2566 ที่ทำให้ค่าระวางเรือและระยะเวลาในการขนส่งสินค้าทางทะเลเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่จะกระทบต่ออุปทานน้ำมันโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจและเงินเฟ้อทั่วโลกตามมาได้

กรอบ IPEF ด้านห่วงโซ่อุปทานจะช่วยทำหน้าที่ป้องกันการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานของประเทศสมาชิกและลดการพึ่งพาวัตถุดิบหลักจากจีน ผ่านการอำนวยความสะดวกทางการค้า การเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคอุตสาหกรรมในประเทศผ่านการลงทุนปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในการผลิต การลงทุนทางเทคนิคและการผลิตขั้นสูง การใช้เทคโนโลยีการแลกเปลี่ยนข้อมูลวัตถุดิบในห่วงโซ่อุปทานเพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงวัตถุดิบ การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งการพัฒนาและให้สิทธิของแรงงานให้เป็นไปตามหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทำงานตามปฏิญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เป็นต้น

นอกจากนี้ มีการกำหนดให้จัดตั้งสภาห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain council) เครือข่ายการรับมือภาวะวิกฤติด้านห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain crisis response network) และคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านสิทธิแรงงาน (Labour rights advisory board) เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลและป้องกันความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานในกลุ่มประเทศสมาชิกจากปัจจัยภายนอก เช่น โรคระบาด สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

ประเทศไทยสนใจเข้าร่วม IPEF มาตั้งแต่ปี 2565 ต่อมาได้ลงนามและให้สัตยาบันในกรอบความร่วมมือด้านห่วงโซ่อุปทานในปี 2566 นอกจากนี้ เมื่อต้นเดือนมิถุนายน 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกรอบความร่วมมือด้านพลังงานสะอาด โครงสร้างพื้นฐาน และการลดการปล่อยคาร์บอน (Clean economy) และร่างกรอบความร่วมมือด้านภาษีและการต่อต้านการทุจริต (Fair economy) พร้อมทั้งลงนามในเดือนเดียวกัน สำหรับกรอบความร่วมมือทางการค้า (Trade) ยังอยู่ในช่วงการเจรจา 

นอกจากการเข้าร่วมกลุ่ม IPEF แล้ว ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาไทยยังได้พยายามเข้าร่วมกลุ่มทางเศรษฐกิจอื่นๆ เช่น การเข้าร่วม RCEP ในปี 2565 การส่งหนังสือแสดงเจตจำนงในการเข้าเป็นสมาชิกของ OECD ที่เน้นความร่วมมือด้านการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งคณะมนตรี OECD ได้มีมติรับไทยเข้าสู่กระบวนการเป็นสมาชิกใหม่แล้วเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา รวมถึงได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการในการเข้าร่วมกลุ่ม BRICS ที่มีมหาอำนาจใหม่อย่างจีนเป็นสมาชิกหลัก เจตจำนงของไทยที่ต้องการเข้าร่วมทั้งกลุ่มขั้วสหรัฐฯ หรือกลุ่มขั้วจีนเช่นนี้ จะเป็นการย้ำการรักษาจุดยืนความเป็นกลางของไทยภายใต้โลกแบ่งขั้ว และเปิดประตูสู่โอกาสการค้าและการลงทุนใหม่ๆ หลากหลายตลาดได้

SCB EIC ประเมินว่าการเข้าร่วมกรอบ IPEF ของไทยจะเป็นโอกาสยกระดับการพัฒนาคน เทคโนโลยีและอุตสาหกรรมภายในประเทศ รวมถึงเพิ่มศักยภาพแข่งขันภายใต้โลกแบ่งขั้วได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น ตลอดจนช่วยรักษาผลประโยชน์ของไทยได้ แต่สิ่งที่ต้องยอมรับก็คือ IPEF คงไม่ได้เป็นทางลัดสู่ความสำเร็จของเศรษฐกิจไทย เพราะการเข้าร่วมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็นแค่ช่องทางเปิดประตูหลายบานสู่โลกแบ่งขั้ว แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ไทยจะต้องผลิตสินค้าที่ “แข่งขันได้” และ “ตามเทรนด์โลกได้ทัน” 

ปัญหาเชิงโครงสร้างภาคการผลิตของไทยยังคงเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มความสามารถแข่งขันของประเทศ โดยภาคการผลิตของไทยส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวในอุตสาหกรรมเก่าและการปรับตัวสู่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมโลกใหม่ก็ทำได้ช้าและจำกัด เช่น

(1) อุตสาหกรรมผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนเครื่องยนต์สันดาปภายในภายใต้โลกที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ

(2) อุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ (HDD) ซึ่งปัจจุบันการลงทุน HDD ในไทยยังมีความจุไม่มากพอตามความต้องการจากอุตสาหกรรม Data center และ AI

ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีสมัยใหม่อย่าง Solid State Drive (SSD) เริ่มเข้ามาแทน HDD ได้บางส่วน เนื่องจากความต้องการโลกเปลี่ยนไป ในภาพรวมการลงทุนเทคโนโลยีขั้นสูงของภาคอุตสาหกรรมไทยยังค่อนข้างน้อยและขาดแคลนแรงงานทักษะสูง ส่งผลให้ไทยไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่เวทีการค้าและการลงทุนโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วนัก

ดังนั้น ทั้งภาครัฐบาลและภาคเอกชนไทยจึงควรปรับตัวเชิงรุกให้ทันสถานการณ์โลก โดยต้องเตรียมพร้อมและร่วมมือกันสนับสนุนการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ภายในประเทศ เพิ่มศักยภาพของภาคการผลิตผ่านเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้น พัฒนาทักษะแรงงานเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งการแสวงหาตลาดใหม่ในอนาคต เพื่อให้ไทยสามารถยกระดับเศรษฐกิจ รวมทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันเพื่อป้องกันความเสี่ยงและเปิดประตูรับโอกาสใหม่ภายใต้โลกแบ่งขั้วได้

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ศุภณัฏฐ์ จามีกรกุล

ศุภณัฏฐ์ จามีกรกุล
Economist trainee ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)