ตลาดรถยนต์บ้านเรา ขึ้นชื่อว่าตลาดปราบเซียน ถึงขั้น “โหดจัดปลัดบอก” เพราะเป็นตลาดที่มีความวูบวาบมากเป็นพิเศษ มีความผันแปรสูง เพราะผู้บริโภคมีการปรับเทรนด์หรือพฤติกรรมค่อนข้างเร็ว
โดยส่วนหนึ่งมาจากการที่ผู้บริโภคชาวไทยมีการรับรู้ข่าวสารเรื่องเกี่ยวกับรถยนต์ในหลากหลายช่องทาง ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ค่อนข้างจะคล้อยตามกระแสสังคมได้ค่อนข้างง่าย แถมยังเป็นนักสู้ผู้กล้า ชอบลองของใหม่และขี้เบื่อ
ขณะที่กำลังซื้อรถมีจำกัด ทำให้รถยนต์คันหนึ่งๆ ที่ซื้อมาต้องสามารถตอบโจทย์ในหลายด้าน
ที่สำคัญ เนื่องจากกำลังซื้อที่ค่อนข้างจำกัด ส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งพาสถาบันการเงินในการให้สินเชื่อรถยนต์ ซึ่งมีไม่น้อยต้องปรับลดงบประมาณหรือความต้องการลง เพื่อให้สถาบันการเงินไฟเขียวในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์
จึงอย่าแปลกใจที่ในหลายครั้งจะมีข่าวค่ายรถยนต์ทั้งระดับบิ๊กเบิ้มและระดับรองลงมา ต้องสอบตกในการเปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆ ทั้งที่ได้ศึกษาตลาดมาอย่างดี มีการวางแผนมาอย่างรัดกุม แต่พอเปิดตัวรถ กลับปรากฏว่าตลาดไม่ตอบรับ ต้องนำมาแต่งหน้าทาปากรถใหม่ พร้อมปรับราคารถให้ถูกลง เพื่อให้พอจะกล้อมแกล้มขายได้ ดีกว่าจะปล่อยให้มันเจ๊งคามือ
ขณะที่บางค่ายรถก็ไม่คาดฝันตลาดจะตอบรับกับรถใหม่ของตน จึงไม่ได้วางแผนผลิตมากนัก แต่พอเอาเข้าจริง ตลาดกลับแห่จับจองกันอย่างคึกคัก จึงต้องปรับแผนเพิ่มการผลิตใหม่ แต่การเพิ่มการผลิตก็ไม่ใช่จะทำได้ทันที ต้องใช้เวลา 6 เดือนเพื่อการเตรียมพร้อมในเรื่องชิ้นส่วนยานยนต์ ครั้นพอถึงเวลานั้นตลาดอาจจะกลับกลายเป็นเลิกเห่อ ก็ทำให้การเพิ่มผลิตก็เป็นเรื่องสูญเปล่า
การทำตลาดรถยนต์ในไทย จึงต้องอาศัยความเก่งบวกเฮง ดังนั้นตลอดเวลาที่ผ่านมาจึงมีข่าวหลายค่ายรถต้องพับแผนการลงทุน หรือต้องม้วนเสื่อกลับบ้านไป ทั้งที่ได้ทุ่มเม็ดเงินมาลงทุนในไทยอย่างมากมาย เช่น ค่ายเจนเนอรัล มอเตอร์ส หรือจีเอ็ม ของสหรัฐฯ ค่ายทาทา มอเตอร์ ของอินเดีย ค่ายไครสเลอร์ ของสหรัฐฯ ค่ายเรโนลต์ จากฝรั่งเศส และค่ายแดวู จากเกาหลีใต้ ค่ายไดฮัทสุ จากญี่ปุ่น เป็นต้น
ล่าสุด เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซูบารุต้องปิดฐานผลิตรถยนต์ซูบารุในไทย หันมาปรับแผนเป็นทำตลาดรถนำเข้าแทน
โดยเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2567 ตัน จง อินเตอร์เนชั่นแนล (TCIL) และซูบารุ คอร์ปเปอรเรชั่น ได้ประกาศการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ที่มุ่งขับเคลื่อนกิจการร่วมค้า ตัน จง ซูบารุ ออโตโมทีฟ ประเทศไทย (TCSAT) ไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืนในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทั้งสองฝ่ายตระหนักถึงความจำเป็นของแนวทางที่มองไปข้างหน้า และรองรับอนาคตที่ปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของตลาดเกิดใหม่
โดยตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป รถที่จำหน่ายในตลาดประเทศไทย เวียดนาม มาเลเซีย และกัมพูชา จะเปลี่ยนไปจำหน่ายรถนำเข้า หรือ Complete Build Up (“CBU”) จากประเทศญี่ปุ่น อันจะทำให้สามารถแนะนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดเช่นประเทศไทยได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ทั้งยังเสริมการสร้างแบรนด์ผ่านรถยนต์ซูบารุรุ่นใหม่ๆ ในตลาดกลุ่มพรีเมียมที่เน้นเทคโนโลยีเป็นหลัก
“สำหรับตลาดประเทศไทย แบรนด์ซูบารุนับว่ามีชื่อเสียงในด้านเทคโนโลยีที่เป็นเอกลักษณ์และคุณภาพการขับขี่ในอีกระดับ คุณค่านี้ของแบรนด์จะยังคงดึงดูดแฟนซูบารุชาวไทยต่อไป ด้วยการเปิดตัวรถซูบารุรุ่นใหม่ๆ ในตลาดกลุ่มพรีเมียม ทีซี ซูบารุ (ประเทศไทย) ในฐานะผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ซูบารุแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ยังคงมุ่งมั่นและยืนยันในการดูแลเจ้าของรถซูบารุทุกคนในประเทศไทย ผ่านบริการไว้วางใจได้ของตัวแทนจำหน่ายซูบารุในประเทศไทย ไม่ว่าการดูแลลูกค้าด้านบริการหลังการขาย ความพร้อมของอะไหล่ และมาตรฐานการรับประกันตัวรถ จะยังเป็นคุณภาพเดียวกันกับปัจจุบัน แม้จะเปลี่ยนไปจำหน่ายรถรุ่นใหม่ๆ ที่นำเข้าโดยตรงจากประเทศญี่ปุ่นก็ตาม”
ขณะที่บางค่ายรถยนต์ก็พลอยเจอกระแสข่าวลือด้านลบ จากการมโนของชาวโซเชียลที่จับแพะชนแกะ จนถึงขั้นโพสต์ว่าค่ายรถยนต์บางรายจะปิดตัวในปีนี้ ทำเอาต้องมีการแถลงข่าววุ่น เช่น ค่ายซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) เจอข่าวลือลบทางโซเชียล ได้รีบแก้เกมดับกระแสข่าวลือ ด้วยการออกแถลงการณ์ด่วนว่า “ตามที่มีกระแสข่าวในโซเชียลมีเดียที่ได้พาดพิงและกล่าวถึงการดำเนินงานของบริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
“บริษัทฯ ขอเรียนชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวไม่เป็นความจริง และขอยืนยันว่า บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และมีแผนในระยะยาวที่จะแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ในปี 2568 และในปีถัดๆ ไป ตามแผนงานธุรกิจ ที่ได้มีการประกาศต่อผู้จำหน่ายรถยนต์ซูซูกิทั่วประเทศเมื่อช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา รวมถึงบริษัทฯ มีแผนงานในการพัฒนาผู้จำหน่ายเพื่อให้มีมาตรฐานการขายและการให้บริการหลังการขาย ที่จะสามารถสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้าคนไทยได้ต่อไป บริษัทฯ ขอขอบคุณทุกท่านที่ให้ความไว้วางใจและเป็นลูกค้าซูซูกิเสมอมา”
อย่างไรก็ดี ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2567 ค่ายซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ได้ออกแถลงการณ์ด่วน เรื่อง “ซูซูกิแจ้งยุติการดำเนินการผลิตที่โรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย” ระบุว่า “ซูซูกิ มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น มีประกาศถึงการตัดสินใจยุติการผลิตที่โรงงานผลิตรถยนต์ของบริษัทในเครือในประเทศไทย “บริษัท ซูซูกิ มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด” (ซึ่งต่อไปนี้จะถูกเรียกว่า “SMT”) ภายในช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2568 โดยการตัดสินใจในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการทบทวนโครงสร้างการผลิตของซูซูกิทั่วโลก
ตามที่รัฐบาลไทยได้มีการส่งเสริมการลงทุนรถยนต์อีโคคาร์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ในเวลาดังกล่าว ซูซูกิได้สมัครเข้าร่วมโครงการและก่อตั้ง SMT ขึ้น ในปี พ.ศ. 2554 ซึ่งหลังจากที่ได้รับการอนุมัติ จึงได้มีการเริ่มดำเนินการผลิตขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 เป็นต้นมา โดยสามารถผลิตและส่งออกได้มากถึง 60,000 คันต่อปี
ทั้งนี้ ด้วยการส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอนและการใช้ยานยนต์พลังงานไฟฟ้าของทั่วโลก ซูซูกิได้มีการพิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระดับโลก จึงได้ตัดสินใจยุติการดำเนินการของโรงงาน SMT ภายในช่วงสิ้นปี พ.ศ. 2568 นี้
“แม้จะมีการยุติการดำเนินการของโรงงานในประเทศไทย แต่ SMT จะยังคงมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจในการจำหน่ายและให้บริการหลังการขาย เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าชาวไทยต่อไป ซึ่งจะมีการปรับแผนธุรกิจเป็นการนำเข้ารถยนต์จากโรงงานในภูมิภาคแถบอาเซียน รวมถึงประเทศญี่ปุ่นและประเทศอินเดีย
นอกจากนี้เพื่อเป็นการสนับสนุนและให้สอดคล้องในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนตามนโยบายของภาครัฐ บริษัทฯ จะมีการแนะนำรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นต่างๆ รวมถึง HEVs เข้าสู่ตลาดในอนาคตด้วยเช่นกัน”
ด้านค่ายเกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ซึ่งทั้งผลิตและทำตลาดรถยนต์ของ “เกรท วอลล์ มอเตอร์” หรือ GWM ของค่ายรถจีนในประเทศไทย ก็เจอข่าวลือด้านลบในเวลาไล่เลี่ยกันกับซูซูกิ ต้องรีบออกแถลงการณ์ตอบโต้กรณีมีข่าวลือด้านลบ พร้อมย้ำยังคงดำเนินธุรกิจในประเทศไทย ด้วยความมั่นคงและแข็งแกร่งทั้งด้านการขายและบริการหลังการขาย รวมถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีคุณภาพให้กับลูกค้าชาวไทย
โดยแถลงการณ์ระบุว่า “จากสภาวการณ์ทั่วโลกและสถานการณ์ของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย ทำให้เกิดข่าวลือด้านลบกับการดำเนินงานของบริษัทค่ายรถยนต์ต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) เราขอเรียนยืนยันว่า การดำเนินธุรกิจในประเทศไทยของเรายังคงดำเนินไปด้วยความมั่นคงและแข็งแกร่ง ทั้งด้านการขายและบริการหลังการขาย รวมถึงการส่งมอบผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีคุณภาพให้กับลูกค้าชาวไทย ทั้งลูกค้าในปัจจุบันและลูกค้าในอนาคตของเราอย่างเต็มกำลังความสามารถ เราเป็นแบรนด์จากประเทศจีนเพียงรายเดียวในปัจจุบันที่มีโรงงานผลิตแบบเต็มรูปแบบที่จังหวัดระยอง และดำเนินการผลิตมาเป็นเวลามากกว่า 3 ปี รวมถึงนำพันธมิตรทางธุรกิจเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็น SVOLT, HYCET, NOBO, MIND และ Exquisite สร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนไทยหลายพันคน รวมถึงมีรถยนต์พลังงานใหม่ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในวงกว้าง และครอบคลุมในหลากหลายเซกเมนต์ ที่เป็นโอกาสทางการขายให้กับพาร์ตเนอร์ สโตร์ของเรา ทั้งไฮบริด ปลั๊กอิน-ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า 100% รวมถึงยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการใช้และการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าระดับภูมิภาคอีกด้วย”
“สุดท้ายนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ขอขอบพระคุณสื่อมวลชน พันธมิตรทางธุรกิจ และลูกค้าทุกท่านที่ได้มอบความเชื่อมั่นและไว้วางใจให้กับ เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) ด้วยดีเสมอมา เรามุ่งมั่นที่จะเติบโตไปพร้อมกับคนไทยและประเทศไทยในระยะยาวอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน”
ดังนั้น คำว่า “ตลาดรถเมืองไทยไม่หมู” จึงยังสามารถใช้ได้ดีกับการทำตลาดรถยนต์ในไทย โดยขณะนี้บรรดาค่ายรถจีนทั้งหลายที่ทำตลาดรถในไทย โดยเฉพาะการทำตลาดรถยนต์ไฟฟ้า เริ่มซึ้งถึงคำนี้
โดยหลังจากการที่รัฐบาลไทยได้มีการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ด้วยการออกมาตรการสนับสนุนสารพัด ทั้งลดแลกแจกแถม ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าถูกลงอย่างมาก กลายเป็นสิ่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถเอื้อมถึง จากเดิมที่มีราคาแพงระยับ จึงเป็นเพียงของเล่นคนรวย
ทำให้ในปีที่ผ่านมา ในบ้านเราเกิดกระแสรถยนต์ไฟฟ้าฟีเวอร์ ทั้งยอดขายและยอดจับจองรถยนต์ไฟฟ้าพุ่งแรง จนเป็นแรงจูงใจให้ค่ายรถยนต์จากประเทศจีนแห่เข้ามาทำตลาดรถยนต์ในบ้านเรากันอย่างคึกคัก
ขณะที่มีการเปิดตัวโชว์รูมรถยนต์ไฟฟ้ากันเพิ่มขึ้น ซึ่งหลายรายเคยเป็นดีลเลอร์รถยนต์ยี่ห้ออื่น ก็หันมาปรับเปลี่ยนเป็นดีลเลอร์รถยนต์ไฟฟ้าเจ้าใหม่กันอย่างล้นหลาม
อย่างไรก็ดี แค่เพียงอึดใจ ชะตากรรมของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราที่เคยอู้ฟู่เฟื่องฟูในปีที่แล้ว แต่ครั้นพอมาถึงปีนี้ กลับกลายเป็นตรงกันข้าม ราวกับพลิกฝ่ามือ เพราะยอดขายและยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ ไม่ว่าจะเป็นค่ายไหนๆ ก็กลับแป้กเฉยเลย ทำเอาบรรดาดีลเลอร์รถยนต์ที่อุตส่าห์ผันตัวมาทำรถยนต์ไฟฟ้ากลับต้องหงายหลังผึ่ง เพราะยอดขายยอดจองเริ่มอืด ไม่คึกคักเหมือนปีที่ผ่านมา
ขนาดแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าที่เคยขายดิบขายดี จากเดิมที่แต่ละดีลเลอร์เคยขายรถยนต์ไฟฟ้าได้เดือนละเป็นร้อยคัน แต่ปัจจุบันขายได้เพียงเดือนละ 20 กว่าคัน ทำเอาบรรดาเซลส์ขายรถถึงกับกุมขมับ เพราะค่าคอมมิชชันซึ่งน้อยกว่าค่าคอมรถยี่ห้ออื่นอยู่แล้ว ก็เลยยิ่งหดแฟบไปกันใหญ่
สิ่งที่น่าสนใจก็คือทำไมตลาดรถยนต์จีนในไทย โดนเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้าในปีนี้ จึงไม่โสภาสถาพรเหมือนปีที่แล้ว ทั้งเรื่องยอดขายรถที่ไม่อู้ฟู่ แถมบางค่ายรถยังมีข่าวลือด้านลบออกมาเป็นระยะๆ ทั้งหมดนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ถดถอย ทำให้มู้ดหรืออารมณ์การจะซื้อรถยนต์ของผู้บริโภคจึงพลอยไม่คึกคักตามไปด้วย ขณะที่กำลังซื้อก็มีจำกัด แถมสถาบันการเงินก็คุมเข้มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์
อีกส่วนยังเป็นเพราะที่จริงแล้วกลุ่มผู้ต้องการจะซื้อ หรือใช้รถยนต์ไฟฟ้ามีอยู่เพียงจำนวนหนึ่ง ครั้นพอตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเปิด คนกลุ่มนี้ก็ไหลไปจับจองซื้อรถยนต์ไฟฟ้ากัน ซึ่งพอซื้อกันหมด ก็ได้เพียงเท่านี้ ไม่มีกลุ่มผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าหน้าใหม่เพิ่มขึ้นมากอย่างที่วาดหวัง
ขณะที่ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าของจีนก็สะดุดขาตัวเอง ด้วยการออกแคมเปญค่อนข้างจะถี่ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นรูปแบบการลดราคา ทำให้ผู้ที่คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มลังเลในการซื้อรถ
ขณะเดียวกันผู้บริโภคที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้าไม่น้อย ได้มีการบอกต่อในเรื่องปัญหาสารพัดจากการใช้รถยนต์ โดยเฉพาะความไม่สะดวกในการชาร์จไฟ และการเดินทางไกล โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล ทำให้ผู้บริโภคอีกไม่น้อยที่คิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าเริ่มลังเล และหลายคนก็เริ่มถอดใจ
มาถึงนาทีนี้ ทั้งผู้บริหารของค่ายรถยนต์จากประเทศจีนและรวมทั้งเหล่าดีลเลอร์ขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ได้รับรู้กันถึงกึ๋นแล้วว่า ตลาดรถเมืองไทย “โหดจัด ปลัดบอก”!!!
ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่
ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics
เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney