ตลาดแรงงานไทย ฟื้นตัวแค่เชิงปริมาณ นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรูปแบบใหม่ ยังมีผลจำกัด

Experts pool

Columnist

Tag

ตลาดแรงงานไทย ฟื้นตัวแค่เชิงปริมาณ นโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรูปแบบใหม่ ยังมีผลจำกัด

Date Time: 1 พ.ค. 2567 08:28 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • นโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรูปแบบใหม่บางพื้นที่เป็น 400 บาทต่อวันในครั้งนี้มีผลค่อนข้างจำกัดอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากลูกจ้างส่วนใหญ่ในพื้นที่และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวดังกล่าวได้รับค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าอยู่แล้ว ทั้งนี้หากในระยะข้างหน้า มีการประกาศนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรูปแบบใหม่ 400 บาทต่อวันในพื้นที่หรือภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม สาขาการผลิตที่ลูกจ้างจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด คือ ภาคเกษตร และภาคบริการอื่นๆ

Latest


วิกฤติโควิดกระทบตลาดแรงงานไทยอย่างมาก เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการปิดพื้นที่สาธารณะ ห้ามเดินทางหรือขนส่งสินค้า รวมไปถึงการเคอร์ฟิวห้ามออกนอกพื้นที่ในบางช่วงเวลา ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจหยุดชะงักเป็นวงกว้างและคนว่างงานเพิ่มขึ้นมาก 


โดยอัตราการว่างงานในปี 2020 ที่เกิดการระบาดของโควิดปีแรกพุ่งสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าอยู่ที่ 1.7% (จาก 1% ในช่วงปี 2019) และเพิ่มขึ้นสูงสุดในปี 2021 เป็น 1.9% โดยอัตราการว่างงานเพิ่มมากที่สุดในกลุ่มธุรกิจโรงแรมและร้านอาหาร และกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง อยู่ที่ 3.2% และ 2.9% ตามลำดับ รวมถึงอัตราการเปลี่ยนแปลงของค่าจ้างที่แท้จริงโดยเฉลี่ยของลูกจ้างปรับตัวลดลงมากสุด -3.9%YOY


ในปัจจุบันสถานการณ์ตลาดแรงงานของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานที่ฟื้นตัวแล้ว แต่ค่าจ้างยังคงเปราะบาง เห็นได้จากอัตราการว่างงานในไตรมาสที่ 4/2023 ปรับตัวลดลงต่ำกว่าช่วงที่เกิดการระบาดของโควิดแล้วอยู่ที่ 0.8% แต่ในด้านของค่าจ้าง ถึงแม้ว่าจะกลับมาฟื้นตัวแล้ว แต่ระดับค่าจ้างยังอยู่ต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด 


โดยจะเห็นได้จากดัชนีการฟื้นตัวของค่าจ้างที่แท้จริงโดยเฉลี่ยในปี 2023 อยู่ที่ 96.7 เมื่อเทียบกับปี 2019 (เท่ากับ 100) สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางด้านรายได้ของลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบในช่วงโควิด 


อีกทั้ง ผลสำรวจ SCB EIC Consumer survey 2023 พบว่า กลุ่มคนรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายสูงถึง 73% และยังถูกซ้ำเติมจากเงินออมที่ลดลงจากการนำเงินออมมาใช้จ่ายในช่วงโควิด-19 รวมถึงภาระหนี้ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่กิจกรรมเศรษฐกิจหยุดชะงักและไม่สามารถหางานทำได้


จากความเปราะบางทางด้านรายได้ของภาคครัวเรือนที่เห็น รัฐบาลได้ออกมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพและมาตรการลดหย่อนภาษีเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคครัวเรือน รวมถึงนโยบายขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งในวันที่ 1 ม.ค. 2024 ที่ผ่านมา ได้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทั่วประเทศในอัตราวันละ 2-16 บาท แตกต่างกันไปในแต่ละจังหวัด โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยทั่วประเทศ 2.4%YOY จังหวัดที่ค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มมากที่สุดคือ ภูเก็ต อยู่ที่ 370 บาทต่อวัน และจังหวัดที่ค่าจ้างเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดอยู่ที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งคือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อยู่ที่ 330 บาทต่อวัน


ต่อมาในวันที่ 18 ม.ค. 2024 รัฐบาลได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และปรับปรุงสูตรการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำรูปแบบใหม่ โดยให้มีการนำอัตราการเติบโตของผลิตภาพแรงงานรายจังหวัดเข้ามาคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำด้วย เพื่อให้ค่าจ้างที่แรงงานได้รับเหมาะสมกับผลิตภาพแรงงานและค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด เพื่อคำนวณแนวทางพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำรูปแบบใหม่ที่คำนึงถึงความแตกต่างของจังหวัด เขตพื้นที่ และรายภาคอุตสาหกรรม


ตั้งแต่วันที่ 13 เม.ย. 2024 รัฐบาลได้ประกาศปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรูปแบบใหม่มุ่งไปที่กิจการโรงแรมระดับ 4 ดาวขึ้นไปและมีลูกจ้างตั้งแต่ 50 คนขึ้นไป โดยได้กำหนดเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทต่อวัน นำร่องใน 10 จังหวัดท่องเที่ยว ในเขตพื้นที่ที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวสูง ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร กระบี่ ชลบุรี เชียงใหม่ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา ภูเก็ต ระยอง สงขลา และสุราษฎร์ธานี เนื่องจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมสำคัญต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อีกทั้ง ธุรกิจโรงแรมมีการขยายตัวสูงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 


SCB EIC ประเมินว่านโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรูปแบบใหม่บางพื้นที่เป็น 400 บาทต่อวันในครั้งนี้มีผลค่อนข้างจำกัดอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากลูกจ้างส่วนใหญ่ในพื้นที่และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวดังกล่าวได้รับค่าจ้างเฉลี่ยสูงกว่าอยู่แล้ว ทั้งนี้หากในระยะข้างหน้า มีการประกาศนโยบายปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรูปแบบใหม่ 400 บาทต่อวันในพื้นที่หรือภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ เพิ่มเติม 


สาขาการผลิตที่ลูกจ้างจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด คือ ภาคเกษตร และภาคบริการอื่นๆ เช่น บริการซ่อมแซมคอมพิวเตอร์หรือของใช้ส่วนตัว บริการซักอบรีด เนื่องจากในปัจจุบันลูกจ้างในภาคเกษตรและภาคบริการอื่นๆ ยังได้รับค่าจ้างเฉลี่ยต่อวันน้อยกว่า 400 บาท

รูปที่ 1 : การฟื้นตัวของค่าจ้างที่แท้จริง ค่าจ้างของลูกจ้างสาขาโรงแรม และรายสาขาการผลิต

หมายเหตุ : ลูกจ้าง หมายถึง ลูกจ้างรัฐบาล ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ และ ลูกจ้างเอกชน เท่านั้นค่าจ้างเฉลี่ยต่อวัน หมายถึง ค่าจ้างที่ไม่รวมโบนัสและโอทีโดยเฉลี่ยต่อวันทำงาน 25 วันต่อเดือน)ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ
หมายเหตุ : ลูกจ้าง หมายถึง ลูกจ้างรัฐบาล ลูกจ้างรัฐวิสาหกิจ และ ลูกจ้างเอกชน เท่านั้นค่าจ้างเฉลี่ยต่อวัน หมายถึง ค่าจ้างที่ไม่รวมโบนัสและโอทีโดยเฉลี่ยต่อวันทำงาน 25 วันต่อเดือน)ที่มา : การวิเคราะห์โดย SCB EIC จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ

ทั้งนี้ นอกจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำรูปแบบใหม่ที่จะเริ่มคำนึงถึงค่าครองชีพที่แตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่และผลิตภาพของแรงงานแล้ว รัฐบาลควรจะมีมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผ่านการลดรายจ่ายและกระตุ้นเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มคนรายได้น้อยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในช่วงที่กำลังฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 


หรือมีมาตรการช่วยลดหนี้เก่าและลดการก่อหนี้ใหม่ รวมไปถึงนโยบายในระยะกลางถึงยาวที่ช่วยปรับทักษะและลงทุนทางด้านการศึกษาเพื่อเพิ่มรายได้ให้เพียงพอต่อการใช้จ่ายได้ ซึ่งจะช่วยให้ภาคครัวเรือน โดยเฉพาะกลุ่มคนรายได้น้อย ที่ต้องการความช่วยเหลือให้มีรายได้เพิ่มขึ้นและสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์

ณฐพงศ์ ตันติจิรานนท์
นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)