ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ปีมังกรทอง 2567 ราคาทองคำทั้งในตลาดโลกและราคาทองคำในประเทศ ได้ขยับปรับตัวในทิศทางขาขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยขึ้นมาสร้างตำนาน ทำราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ (All-Time High) นับตั้งแต่มีตลาดซื้อขายทองคำกันในโลก และที่สำคัญย่างเข้าปีนี้มาเพียง 2 เดือนกว่าๆ เท่านั้นราคาทองคำตลาดโลกและราคาทองคำในประเทศได้ทำ All-Time High อย่างต่อเนื่องถึง 9 ครั้ง โดยล่าสุด ณ คืนวันที่ 8 มี.ค. 2567 ราคาทองคำโลก Gold spot ทะยานขึ้นมาสูงสุดอยู่ที่ 2,185 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ขณะที่ราคาทองคำแท่งในประเทศขายออกอยู่ที่ 36,350 บาท ต่อน้ำหนัก 1 บาททองคำ
ทั้งนี้ หากโฟกัสเข้ามาจะเห็นว่า ไทม์ไลน์ของราคาทองในประเทศ ได้ส่งสัญญาณการขยับปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 9 ก.พ. 2567 ที่ราคาทองแท่งในประเทศขึ้นมาแตะที่ 34,550 บาท จากนั้นได้ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องแทบทุกวันทำการ และปรับขึ้นอย่างร้อนแรงจนสร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดในวันเสาร์ที่ 2 มี.ค. ที่กราฟผงกหัวขึ้น ดันราคาทองในประเทศทะยานทะลุ 35,000-35,200 บาทขึ้นมา และสัปดาห์ที่ผ่านมายังขึ้นแรงไม่หยุด ขึ้นมายืนสูงสุดอยู่ที่ 36,350 บาท ซึ่งเป็นไปตามทิศทางเดียวกับราคาทองตลาดโลก ที่ล่าสุด All-Time High แตะ 2,185 ดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ขับเคลื่อนให้ราคาทองคำตลาดโลก ทะยานร้อนแรงขึ้นมาได้ถึงเพียงนี้
ด้านปัจจัยพื้นฐานแน่นอนว่ามาจากข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ออกมาอ่อนแอและต่ำกว่าที่ตลาดคาด ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ทำให้ตลาดมีความหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมทั้งแถลงการณ์รอบครึ่งปีของ “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟด ต่อสภาสูง (senate) ยังย้ำถึงการลดดอกเบี้ยเช่นเดิมขณะที่สหรัฐฯ ยังมีหนี้สาธารณะที่สูงมากทำให้ต้องยิ่งลดดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้รัฐบาลถังแตกมากไปกว่านี้ โดยล่าสุดตลาดคาดว่าเฟดจะลดดอกเบี้ย 4 ครั้งในปีนี้
นอกจากนี้ราคาทองคำยังได้รับแรงหนุนจากแรงซื้อทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2565-2566) ธนาคารกลางทั่วโลกได้เข้าซื้อทองคำมากกว่า 1,000 ตันต่อปี
ที่สำคัญปัจจัยที่มีผลต่อความผันผวนและความร้อนแรงของราคาทองคำโลกรอบนี้ คือ ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง สงครามอิสราเอล-ฮามาสและวิกฤติทะเลแดง ยังไม่นับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่เข้าสู่ปีที่ 3 ซึ่งนำไปสู่กระแส “De-dollarization” ทำให้ความต้องการทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น
โดยเฉพาะประเด็นสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่กำลังทวีความตึงเครียด โดยสมาชิกคณะรัฐมนตรีสงครามของอิสราเอลเตือนกลุ่มฮามาสว่า หากไม่ปล่อยตัวประกันในฉนวนกาซาทั้งหมด ภายในวันที่ 10 มี.ค. 2567 กองทัพอิสราเอลจะบุกโจมตีเมืองราฟาห์ภาคพื้นดินทันที ซึ่งวันที่ 10 มี.ค. นั้น จะตรงกับวันรอมฎอนของชาวมุสลิม หากเกิดขึ้นจริง น่าจะสร้างความไม่พอใจกับประเทศอาหรับ ที่จะทำให้สงครามบานปลายขยายวงความรุนแรงออกไปอีก จะยิ่งกดดันให้ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นไปอีก แม้จะมีความพยายามให้มีการเจรจายุติสงคราม ล่าสุดอิสราเอลขีดเส้นตายให้ฮามาส บอกชื่อตัวประกันที่ยังมีชีวิตอยู่มาก่อน จึงจะเข้าสู่พื้นที่การเจรจา หากฮามาสยังดื้อดึงก็พร้อมโจมตีระลอกใหญ่!!
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ราคาทองคำจะพุ่งไปสุดแล้วจะหยุดที่ตรงไหน ซึ่ง "จิตติ ตั้งสิทธิ์ภักดี" นายกสมาคมค้าทองคำ กล่าวว่าช่วงนี้ราคาทองคำในประเทศเพิ่มขึ้นไม่หยุด เป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาทองคำโลกแต่ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมา ได้ช่วยกดให้ราคาทองในประเทศปรับตัวขึ้นจำกัด มองแนวต้านของราคาทองคำระยะสั้นไว้ที่บาทละ 38,000 บาท แนะนำเก็งกำไรขาขึ้น
สอดคล้องกับ "นพ.กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ" ประธานกรรมการฝ่ายบริหาร กลุ่มบริษัทในเครือเอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก (MTS) ที่มองแนวต้านราคาทองอยู่ 38,000 บาท แนะเข้าซื้อเมื่อราคาทองคำอ่อนตัวลง
ด้าน "ธนรัชต์ พสวงศ์" ซีอีโอ กลุ่มฮั่วเซ่งเฮง กรุ๊ป ชี้ว่า เงินบาทก็มีผลกระทบกับราคาทองในประเทศปีนี้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเงินบาทที่ปีนี้จากต้นปีอ่อนค่าลง 1.20 บาท มีผลบวกกับราคาทองในประเทศราว 1,100 บาท แต่ขณะนี้เงินบาทเริ่มทรงตัวและแข็งค่าขึ้นมาช่วยให้ราคาทองคำปรับขึ้นได้จำกัด
หากวันที่ 10 มี.ค. เกิดการโจมตีที่รุนแรงของอิสราเอล โอกาสราคาทองคำน่าจะดีดขึ้นไปได้อีกแน่นอน แต่ก็จะเป็นโอกาสให้มีแรงขายทำกำไร ก็อาจทำให้ราคาทองอ่อนตัวลงมาได้บ้าง ระยะสั้นให้เป้าหมายของราคาทองตลาดโลกที่ 2,000-2,250 ดอลลาร์ ส่วนราคาทองแท่งในประเทศอยู่ที่ 37,000-37,500 บาท แนะนำคนที่มีทองอยู่แล้วให้ถือไว้ก่อนยังไม่ต้องรีบขาย เพราะมองระยะสั้นและระยะยาวทองยังขยับขึ้นได้อีก แต่ระยะสั้นยังต้องติดตามสถานการณ์สงครามตะวันออกกลางใกล้ชิด
"ช่วงที่ราคาทองคำขยับและทะยานขึ้นมาอย่างต่อเนื่องนั้น พบว่านักลงทุนเข้ามาซื้อมากกว่าขายออก เพราะส่วนใหญ่ยังมองว่าราคาทองมีโอกาสปรับขึ้นได้อีก จึงเข้ามาซื้อมากกว่าที่จะขายออกทำกำไร สำหรับคนที่มีทองคำ แนะนำถือต่อไป (Let Profit Run) ยังไม่ต้องรีบขาย"
ขณะที่มุมมองของบรรดากูรูสำนักต่างประเทศนั้น ก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์จากธนาคารซิตี้แบงก์ Aakash Doshi หัวหน้าฝ่ายวิจัยตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ของซิตี้แบงก์เคยออกมาคาดการณ์ว่าราคาทองคำอาจพุ่งแตะระดับ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ การลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์สหรัฐ (de-dollarization), ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรง ซึ่งขณะนั้น ราคาทองคำอยู่ที่ 2,016 ดอลลาร์/ออนซ์ มองว่ามีแนวโน้มพุ่งขึ้นไปได้อีก 50% หากธนาคารกลางประเทศต่างๆ เพิ่มปริมาณการซื้อทองคำเข้าคลังสำรอง รวมถึงการเกิดภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างหนักทั่วโลก
ทีมนักวิเคราะห์ซิตี้แบงก์ ยังมองว่า “ปัจจัยที่อาจทำให้ราคาทองคำแตะระดับ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ได้มากที่สุด คือ การเร่งกระบวนการลดการพึ่งพิงเงินดอลลาร์ (de-dollarization) ให้เร็วขึ้นในกลุ่มธนาคารกลางของประเทศตลาดเกิดใหม่ ซึ่งจะนำไปสู่วิกฤติความเชื่อมั่นในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และอาจเพิ่มปริมาณการซื้อทองคำของธนาคารกลางเป็นสองเท่า”
อีกปัจจัยที่จะหนุนให้ราคาทองคำแตะ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ คือเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างหนัก ที่อาจหนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างรวดเร็ว
ด้าน JP Morgan เคยออกบทวิเคราะห์ เมื่อช่วง ม.ค. 2567 คาดว่าราคาทองคำจะแตะ 2,175 ดอลลาร์สหรัฐ ในไตรมาส 4 ปีนี้ และจะทำ All-Time High ที่ 2,300 ดอลลาร์ในไตรมาส 3 ปีหน้า!!
ผู้เขียน "ตัวจี๊ดสนามข่าว" เห็นราคาทองคำโลก ที่ซิตี้แบงก์เคาะว่าจะพุ่งไปดาวอังคาร 3,000 ดอลลาร์/ออนซ์ในปี 2568 จึงได้ไปสอบถามความเห็นของพี่ๆ กูรูทองคำหลายท่าน จึงทราบว่า ได้เคยมีการประเมินราคาทองคำ แต่เป็นการประเมินด้านเทคนิคไว้ที่ราคาเดียวกันนี้มาแล้วเช่นกัน
โดยกราฟเทคนิคจะเป็นเหมือนรูปถ้วยกาแฟ ท่านอธิบายว่า คือก่อนที่ราคาจะขึ้นทะยานไปถึงดาวอังคาร 3,000 ดอลลาร์ นั้นอาจต้องใช้เวลานานหลายปี เพราะมันจะต้องร่วงลงมาหนักๆ นิ่งๆ หลายขยัก ก่อนที่จะพุ่งทะยานขึ้นไปได้ แต่ที่ซิตี้แบงก์ให้เหตุผลปัจจัยหนุนดันราคาล้วนเป็นเรื่องของปัจจัยพื้นฐานล้วนๆ หากเกิด 3 ปัจจัยหลักที่ว่า ซึ่งก็มีแนวโน้มที่จะเป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้!!
ว่าแต่ว่า ถ้าราคาทองโลกทะยานไปถึง 3,000 ดอลลาร์ แล้วราคาทองคำสยามประเทศจะขึ้นไปอยู่ตรงไหน จึงขอให้พี่กูรูช่วย คิดคำนวณ ดีดลูกคิด เคาะเครื่องคิดเลขแล้วได้ผลลัพธ์มาว่า หากค่าเงินบาทยังอยู่ที่ระดับปัจจุบัน คือ 35.40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ราคาทองคำแท่งของไทยจะอยู่ที่ปลายดาวหางฮัลเลย์ ที่บาทละ 44,500 บาท!!!! โอ้ยเน้าะ นอยยยยยย...อ่าาาาาาา
สำหรับนักลงทุนทองคำและผู้สนใจ สามารถติดตามอัปเดตราคาทองคำล่าสุด วิเคราะห์แนวโน้ม สถิติราคาทองคำย้อนหลัง กราฟราคาทอง ได้ที่ https://www.thairath.co.th/money/investment/gold
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney