Thairath OnlineThairath PlusThairath SportThairath TVMIRROR

โลกไปได้ ไทยยังเสี่ยง ลงทุนอย่างไร

Date Time: 25 ก.พ. 2567 07:00 น.

เศรษฐกิจการลงทุนในช่วงต้นปี 2024 ดูเหมือนจะมีทิศทางที่ยังคล้ายกับในช่วงปี 2023 ในปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นที่เติบโตดี ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐฯ และยุโรป รวมถึงอินเดีย ที่ขยายตัวในระดับ 3-15% ขณะที่ตลาดในประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น ไทย ฮ่องกง และจีน หดตัวในระดับ 2-5% 

ภาพเหล่านี้สอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจโลกที่ออกมา โดยเฉพาะดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของประเทศขนาดใหญ่ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น หรืออังกฤษ ที่ยังขยายตัวได้ดี แม้ว่าตัวเลขเศรษฐกิจสำคัญบางตัว เช่น GDP ยอดค้าปลีก รวมถึงการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ชะลอลงในบางประเทศ ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ลดลงหลังจากธนาคารกลางต่างๆ ต่างขึ้นดอกเบี้ยสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ขณะที่เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญกับหลากหลายปัจจัยเสี่ยง ซึ่งอาจสรุปได้ 3 กลุ่ม คือ 

  1. ความเสี่ยงนโยบายการเงิน โดยธนาคารกลางทั่วโลกได้เริ่มดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อขจัดอัตราเงินเฟ้อ ทำให้นำไปสู่ความกังวลเกี่ยวกับระบบการเงิน ตั้งแต่ตลาดตราสารหนี้ไปจนถึงอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ (Commercial Real Estate) ไปจนถึงสุขภาพของธนาคาร

  2. ความเสี่ยงทางการเมืองและความเสี่ยงเชิงนโยบาย โดยประชาชนราว 4 พันล้านคนจะไปลงคะแนนเสียงในปีนี้ พร้อมกับผลที่ตามมาที่คาดเดาไม่ได้


  3. ความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ ตั้งแต่ความขัดแย้งตั้งแต่ยูเครนไปจนถึงอิสราเอลและทะเลแดง รวมถึงความเสี่ยงสงครามไต้หวัน ความเสี่ยงต่างๆ ทำให้นักวิเคราะห์พูดถึงคำว่า “polycrisis” หรือวิกฤตการณ์หลายด้าน และ “new world disorder” หรือ ความไร้ระเบียบใหม่ของโลก

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจโลกสามารถเผชิญกับความเสี่ยงเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี เมื่อต้นปี 2023 นักเศรษฐศาสตร์เกือบทั้งหมดคิดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกจะเกิดขึ้น แต่ GDP ทั่วโลกกลับเติบโตขึ้นประมาณ 3% ในขณะที่ในปัจจุบัน สัญญาณเศรษฐกิจเบื้องต้นบ่งชี้ว่าการเติบโตอาจยังคงดำเนินต่อไปในอัตราเดียวกันในปีนี้ ข้อมูลจาก สำนักวิจัย Goldman Sachs ระบุว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลกมีความคึกคักเช่นเดียวกับในปี 2019 การวัดค่า GDP รายสัปดาห์ที่สร้างโดย OECD ก็พบผลลัพธ์ที่คล้ายคลึงกัน และการวัดกิจกรรมทั่วโลกที่เกิดจากการสำรวจผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ชี้ให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งทั่วโลก

สำหรับด้านความเสี่ยงสำคัญ เช่น ภูมิรัฐศาสตร์นั้น จนถึงขณะนี้ดูเหมือนจะไม่มีหลักฐานมากนักว่าการโจมตีทางเรือในทะเลแดงกำลังทำให้เศรษฐกิจมีปัญหา โดยข้อมูล PMI ชี้ให้เห็นว่าผู้ผลิตต้องเผชิญกับเวลาจัดส่งที่ยาวนานขึ้น โดยเฉพาะการเปลี่ยนเส้นทางเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งทำให้การเดินทางระหว่างเซี่ยงไฮ้และรอตเตอร์ดัมเพิ่มระยะทางเป็น 23,000 กม. จาก 18,000 กม. อย่างไรก็ตาม ในเกือบทุกประเทศ ค่าจัดส่งเป็นเพียงส่วนเล็กๆ ของราคาสินค้าโดยรวม ทำให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

คำถามที่สำคัญคือ เพราะเหตุใดเศรษฐกิจโลกจึงมีภูมิต้านทานต่อสภาวะความไร้ระเบียบของโลกใหม่ (New world disorder) ซึ่งคำตอบน่าจะเป็นเพราะอัตราดอกเบี้ยที่สูงสามารถลดอัตราเงินเฟ้อจากจุดสูงสุดมากกว่า 10% ทั่วโลกให้เหลือเพียงประมาณ 6% ซึ่งไม่เพียงเพิ่มกำลังซื้อของครัวเรือนเท่านั้น ยังทำให้ความเชื่อมั่นดีขึ้นด้วย หลังจากที่แตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2022 ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในประเทศเจริญแล้วก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาระต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นถูกลดทอนลงเนื่องจากหนี้ครัวเรือนและหนี้บริษัทจำนวนมากมีอัตราดอกเบี้ยคงที่

จากการวิเคราะห์ของเรา พบว่า ในปัจจุบันความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นเกินค่าเฉลี่ย โดยดัชนี Geopolitical Risk Index พบว่า ปัจจุบันดัชนีดังกล่าวอยู่ในระดับ 148.3 สูงกว่าค่าเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2020- ปัจจุบันที่ 111.4 อย่างไรก็ตาม ระดับดังกล่าว ต่ำกว่าช่วงเกิดสงครามรัสเซียยูเครนในปี 2022 ที่ดัชนีพุ่งไปถึงระดับ 300 ขณะที่ความเสี่ยงในเชิงนโยบายเศรษฐกิจของทั่วโลก (Economic Policy Uncertainty Index) ในปัจจุบันอยู่ที่ 254.4 ลดลงจากค่าเฉลี่ยในช่วง 3 ปี ที่ 263.9  ซึ่งสาเหตุที่ค่าดัชนีดังกล่าวลดลง น่าจะเป็นเพราะดอกเบี้ยโลกที่มีทิศทางลดลงต่อเนื่องตามเงินเฟ้อที่ลดลง ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรลดลง

การวิเคราะห์ พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างเศรษฐกิจกับความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับความเสี่ยงจากนโยบายเศรษฐกิจ โดยในปัจจุบัน ความเสี่ยงเชิงนโยบายที่ลดลง ทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่อเนื่อง แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับภาวะ polycrisis ก็ตาม ซึ่งเรามองว่า หากสถานการณ์ความเสี่ยงต่าง ๆ ไม่นำไปสู่ภาวะวิกฤตแบบเต็มรูปแบบ เป็นไปได้ว่าเศรษฐกิจโลกจะยังขยายตัวชะลอลงบ้าง แต่ไม่ลดลงรุนแรง (Soft landing)


อย่างไรก็ตาม เรายังคงระมัดระวัง โดยมองว่าดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจส่งผลต่อการเติบโตล่าช้า สงครามรัสเซีย-ยูเครนหรือทะเลแดงอาจกระตุ้นให้เกิดความปั่นป่วนในการจัดหาพลังงานอีกรอบ และนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อ รวมถึงความเสี่ยงสงครามไต้หวัน ในทางกลับกัน อัตราเงินเฟ้อที่ลดลงและการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตจากปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาจกระตุ้นให้ GDP เร่งตัวขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจในระยะยาว


ในทางกลับกัน เศรษฐกิจไทยใน ไตรมาส 4 ขยายตัวต่ำกว่าตลาดคาด (ที่ 2.5% ต่อปี) มาก โดยขยายตัวที่ 1.7% ใกล้เคียงกับที่เราคาดที่ 1.8% (ทำให้ทั้งปี 2023 ขยายตัว 1.9%) โดยภาคที่เป็นเครื่องยนต์หลักในการผลักดันเศรษฐกิจ ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว แต่ภาคที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจมาจากภาครัฐเป็นหลัก ทั้งการบริโภคและลงทุน ที่เป็นส่วนทำให้เศรษฐกิจหดตัวถึงกว่า -1.4% (Contribution to GDP growth) ขณะที่ภาคการผลิตสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และภาคการก่อสร้างหดตัวลงต่อเนื่อง บ่งชี้ถึงภาวะวิกฤตภาคการผลิตที่ลากยาว


เรามีข้อสังเกตเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยอยู่ 4 ประการ (1) GDP ไทยที่หดตัวในไตรมาส 4/23 ที่ -0.6% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนนั้น สอดคล้องกับหลายประเทศที่หดตัวเช่นกัน บ่งชี้ว่าภาคต่างประเทศ แม้จะไม่หดตัวแรง แต่ก็อ่อนแอลง (2) ในช่วงหลัง ภาคการผลิตไทยมีลักษณะพิเศษ คือ ไม่ผลิต และระบายสินค้าคงคลังต่อเนื่อง แม้จะเริ่มส่งออกได้บ้างก็ตาม ทำให้สินค้าคงคลังเริ่มหมดลง (3) หากเศรษฐกิจโลกเป็นไปตามที่เราคาดการณ์ (คือจะชะลอลงเข้าสู่ Soft Landing) ในปีนี้ การส่งออก รวมถึงภาคการผลิตของไทย จะยิ่งมีความเสี่ยง และ (4) ปัจจุบัน สินค้าไทยเผชิญกับการทุ่มตลาดจากจีน ทำให้ไทยขาดดุลการค้ามากขึ้น และกว่า 9% ของสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศเป็นการนำเข้าจากจีน (เพิ่มจาก 5% ในปี 2020) ซึ่งหากเป็นไปต่อเนื่อง จะกระทบกับภาคการผลิตของไทย


ด้วยความเสี่ยงต่างๆ ทำให้เราปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ลง โดยเราแบ่งภาพเศรษฐกิจเป็น 2 สถานการณ์ ขึ้นอยู่กับมาตรการ digital wallet เป็นหลัก โดยหากมาตรการผ่าน เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้  3.7% (ชะลอลงจากที่เคยคาดไว้ที่ 4.1%) แต่หากมาตรการไม่ผ่าน เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ 2.8% (ชะลอลงจากที่เคยคาดไว้ที่ 3.2%) ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจสามารถปรับลดดอกเบี้ยได้ 2 ครั้ง


ทั้งนี้ ในปี 2024 เราจับตา 6 ปัจจัยเศรษฐกิจที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยพลิกฟื้นหรือชะลอลง อันได้แก่ (1) การผลิตภาคอุตสาหกรรมที่หดตัวเกินกว่า 1 ปี (2) ปริมาณเงินในระบบ (M2) ที่ขยายตัวต่ำกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย (3) เงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่อง และจะติดลบอีก 3 เดือนเป็นอย่างน้อย (4) การลงทุนภาคเอกชน ที่ยังคงหดตัวตามการผลิตภาคอุตสาหกรรม (5) รายได้เกษตรกร ที่มีความเสี่ยงจากปริมาณผลผลิตทางการเกษตรที่สูญหายจากภาวะภัยแล้ง และ (6) การบริโภคภาคเอกชน ที่องค์ประกอบสำคัญ ๆ เช่น ภาคบริการ ชะลอตัวต่อเนื่อง 


ในส่วนกลยุทธ์การลงทุน เนื่องจากไร้ปัจจัยหนุนใหม่ และอยู่ระหว่างรอดูผลประกอบการไตรมาส 4/2023 ของ บจ.ไทย กลยุทธ์ลงทุนจึงคงเน้น “Selective Buy” ใน 3 ธีมหลัก ดังนี้ 1) หุ้นที่คาดได้อานิสงส์บวกจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติมาในไทยฟื้นตัว ได้ดีต่อเนื่อง ขณะที่ราคาหุ้นยังไม่ตอบสนองมากนัก เลือก AOT MINT 2) หุ้นปันผลคุณภาพดี โดยคาดให้เงินปันผล (หลังหักจ่ายระหว่างกาลแล้ว) เกิน 5% เลือก AP BCP KTB 3) นักลงทุนระยะยาวแนะนำลงทุนสะสมแบบ DCA เนื่องจากมองเป็นจังหวะที่ ดีที่สุด หลัง SET ปรับลงแรงจนความเสี่ยงลดลงไปมาก และราคาหุ้นอยู่ในระดับ Undervalue มาก โดยเลือก BBL BDMS BEM CPALL PTT และ SCC 


ขอให้นักลงทุนโชคดี


Author

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์

ดร. ปิยศักดิ์ มานะสันต์
หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.InnovestX บริษัทการเงินการลงทุนในกลุ่ม SCBX


เราใช้คุ้กกี้

เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น

อ่านเพิ่มเติมคลิก(Privacy Policy) และ (Cookie Policy)