จับตา 5 ความเสี่ยง เศรษฐกิจโลกในปี 2567

Experts pool

Columnist

Tag

จับตา 5 ความเสี่ยง เศรษฐกิจโลกในปี 2567

Date Time: 4 ก.พ. 2567 09:13 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • เศรษฐกิจโลก 2567 มีแนวโน้มชะลอตัว เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงในเศรษฐกิจโลก 5 ด้านที่ต้องจับตามอง

Latest


เศรษฐกิจโลกในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงเป็น 2.5% จาก 2.7% ในปี 2566 จากผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมาอยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบสองทศวรรษ ตลาดแรงงานที่เริ่มอ่อนแรง รวมถึงเงินออมส่วนเกินจากช่วงโควิดที่เริ่มหมดลงในหลายประเทศ อีกทั้ง เศรษฐกิจจีนยังมีแนวโน้มเติบโตชะลอลงจากปัจจัยระยะสั้นและปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายด้าน

นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกในปี 2567 ยังอาจต้องเผชิญความเสี่ยงด้านลบอีกหลายเรื่อง เช่น

(1) นโยบายการเงินของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักอาจตึงตัวนานกว่าคาด ในกรณีฐาน SCB EIC ประเมินว่าธนาคารกลางหลักของโลก เช่น ธนาคารกลางของสหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และยูโรโซน จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 ตามอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง

อย่างไรก็ดี หากเงินเฟ้อชะลอตัวลงช้าหรือเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นอีกครั้งอย่างไม่คาดคิด ก็อาจส่งผลให้ธนาคารกลางหลักชะลอการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายออกไป ส่งผลต่อเนื่องให้ภาคการเงินยังคงตึงตัวกดดันแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกต่อไป

(2) สงครามอิสราเอลและฮามาสอาจขยายวงและยาวนานขึ้น ในปัจจุบันสงครามฯ นี้ ยังจำกัดอยู่ในพื้นที่อิสราเอลและปาเลสไตน์เป็นสำคัญแม้จะมีการขยายวงไปยังพื้นที่รอบข้างบ้าง โดยเฉพาะในเยเมนและบริเวณทะเลแดง

อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ลุกลามทำให้ประเทศผู้นำในภูมิภาค เช่น อิหร่าน เข้าร่วมสงครามโดยตรง จะกระทบเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อโลกผ่านหลายช่องทาง ทั้งในด้านมูลค่าความเสียหายโดยตรงต่อเศรษฐกิจประเทศที่ทำสงคราม รวมถึงผลกระทบทางอ้อมผ่านราคาน้ำมันโลกและความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่สูงขึ้น เศรษฐกิจโลกอาจขยายตัวลดลงจากกรณีฐานได้มากถึง -0.4 percentage point (pp) และอัตราเงินเฟ้อโลกอาจเพิ่มขึ้นมากถึง +0.54 pp

(3) ปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกอาจปะทุขึ้นอีกครั้ง ห่วงโซ่อุปทานโลกกำลังเผชิญความเสี่ยงใหม่จากเหตุการณ์โจมตีเรือขนส่งสินค้าของกบฏฮูตีในบริเวณทะเลแดงที่เป็นทางผ่านไปยังคลองสุเอซและนับเป็นเส้นทางเดินเรือสำคัญระหว่างยุโรปและเอเชีย มีปริมาณการขนส่งคิดเป็น 12% ของการขนส่งทางทะเลของโลก ส่งผลให้บริษัทขนส่งหลายรายหลีกเลี่ยงเส้นทางคลองสุเอซและเปลี่ยนไปอ้อมแหลมกู๊ดโฮปในประเทศแอฟริกาใต้แทน

นอกจากนี้ ยังมีเหตุการณ์ความแห้งแล้งในคลองปานามาที่เชื่อมระหว่างมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก และเป็นหนึ่งในเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างเอเชียและสหรัฐฯ คิดเป็น 5% ของการขนส่งสินค้าทางทะเลของโลก ส่งผลให้องค์การบริหารคลองปานามาจำเป็นต้องจำกัดจำนวนเรือสัญจรผ่านคลองปานามาในแต่ละวัน เหตุการณ์ทั้งสองส่งผลให้ระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างทวีปสูงขึ้นมาก ซึ่งมีความเสี่ยงที่ผลกระทบจะรุนแรงขึ้นหากการโจมตีในทะเลแดงไม่จบลงได้เร็ว

(4) ผลการเลือกตั้งสำคัญในหลายประเทศอาจเพิ่มความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ในปี 2567 จะมีการเลือกตั้งใหญ่ใน 60 ประเทศ ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจรวมสูงกว่า 60% และครอบคลุมจำนวนประชากรกว่า 50% ของโลก หลายการเลือกตั้งมีนัยต่อเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์โลก เช่น หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน อาจทำให้สหรัฐฯ กลับมาใช้นโยบายกีดกันทางการค้าเข้มงวดขึ้นและขาดดุลงบประมาณมากขึ้นจากนโยบายลดภาษี

หรือการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีในสหราชอาณาจักรช่วงครึ่งของปี อาจต้องเผชิญความเสี่ยงที่จะไม่มีผู้ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงสูงมากพอที่จะทำให้การบริหารประเทศราบรื่น ซ้ำเติมความผันผวนจากการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีบ่อยถึง 4 ครั้งตั้งแต่ปี 2562 หรือการเลือกตั้งประธานาธิบดีในแอฟริกาใต้ช่วงเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม อาจได้พรรคที่สนับสนุนนโยบายประชานิยมสุดโต่งร่วมพรรครัฐบาล

การเลือกตั้งประธานาธิบดีในอินโดนีเซียเดือนกุมภาพันธ์จะมีนัยสำคัญต่อการตัดสินใจย้ายเมืองหลวง การดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ และนโยบายห้ามส่งออกแร่บางชนิด การเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภายุโรปในเดือนมิถุนายนจะมีผลต่อการกำหนดทิศทางนโยบายสำคัญของสหภาพยุโรป โดยเฉพาะประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปรับข้อกำหนดทางการคลังของประเทศสมาชิกให้ยืดหยุ่นมากขึ้นหลังวิกฤติโควิด

(5) การแบ่งขั้วระหว่างจีน-สหรัฐฯ และความตึงเครียดจีน-ไต้หวันอาจรุนแรงขึ้น หากทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ อาจชูนโยบาย America first และแข่งขันทางยุทธศาสตร์กับจีนที่รุนแรงมากขึ้นทั้งด้านการค้า การลงทุน และเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจจีน

นอกจากนี้ การชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในไต้หวันของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) อีกสมัยหนึ่ง ซึ่งมีนโยบายไม่สนับสนุนจีน จะทำให้ความตึงเครียดกรณีจีน-ไต้หวัน-สหรัฐฯ มีต่อไป หากความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันรุนแรงบานปลายจนเกิดเป็นสงครามจะส่งผลร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโลกผ่านทั้งช่องทางการค้าและการลงทุน

อีกทั้ง ยังอาจทำให้เกิดการชะงักของอุปทานโลกอย่างรุนแรง ขณะที่โอกาสการแบ่งขั้วระหว่างจีน-สหรัฐฯ จะรุนแรงขึ้นนั้นมีสูงกว่า แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกน้อยกว่า

จะเห็นได้ว่า ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกส่วนใหญ่มาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยปัญหาห่วงโซ่อุปทานโลกอาจเป็นความเสี่ยงเพิ่มเติมที่เกิดจากสงครามอิสราเอลและฮามาส อีกทั้ง การแบ่งขั้วทางเศรษฐกิจระหว่างจีน-สหรัฐฯ ความตึงเครียดในบริเวณช่องแคบไต้หวัน และการเลือกตั้งในหลายประเทศยังมีความเชื่อมโยงกันในหลายมิติ อาจเป็นตัวแปรสำคัญกระทบอัตราเงินเฟ้อและการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายในกลุ่มเศรษฐกิจหลักได้

นอกจากนี้ เศรษฐกิจโลกยังอาจต้องเผชิญความเสี่ยงเพิ่มเติมหลายด้าน เช่น เศรษฐกิจจีนชะลอตัวมากกว่าคาด สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงรุนแรงกว่าคาด ความตึงเครียดในคาบสมุทรเกาหลี รวมถึงสงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนรุนแรงขึ้นและกระทบเศรษฐกิจยุโรปเพิ่มเติม หากความเสี่ยงเหล่านี้เกิดขึ้นก็จะส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นต้องอาศัยภาครัฐช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจเพิ่มเติม

แต่ในปัจจุบันรัฐบาลประเทศต่างๆ มีความสามารถรับมือความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้น้อยลงกว่าเดิมมาก จากแรงกดดันทางการคลังที่เพิ่มขึ้นหลังกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ในช่วงโควิด อีกทั้ง ยังมีรายจ่ายประชากรสูงวัย รายจ่ายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรายจ่ายทางการทหารที่มากขึ้นจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์รุนแรงขึ้นทั่วโลก

นอกจากนี้ดอกเบี้ยจ่ายหนี้สาธารณะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นภายใต้ภาวะดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เนื่องจากหนี้เดิมที่เคยกู้ไว้ในช่วงดอกเบี้ยต่ำต้องต่ออายุด้วยต้นทุนเงินกู้แพงขึ้น

ทั้งนี้หากความเสี่ยงเหล่านี้เกิดขึ้นจริงก็จะส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยได้หลายช่องทาง เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกย่อมส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ

ขณะที่ความเสี่ยงด้านห่วงโซ่อุปทานโลกอาจส่งผลให้ค่าครองชีพสูงขึ้นและกดดันการบริโภค รวมถึงภาครัฐไทยเองก็มีความสามารถในการรับมือกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้น้อยลงจากข้อจำกัดทางการคลังที่เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน ทำให้เศรษฐกิจไทยมีกันชนภาครัฐไม่มากเท่าเดิมในภาวะที่ยังฟื้นตัวเปราะบางและความไม่แน่นอนสูงมากเช่นนี้

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics 

เศรษฐกิจในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ 

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ - https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

วิชาญ กุลาตี

วิชาญ กุลาตี
นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC)