5 กติกาผู้ใช้โทรศัพท์มือถือรู้ไว้! ไม่เสียเปรียบ

Experts pool

Columnist

Tag

5 กติกาผู้ใช้โทรศัพท์มือถือรู้ไว้! ไม่เสียเปรียบ

Date Time: 29 ธ.ค. 2566 18:00 น.

Video

เปิดทริกวางแผนการเงิน เพื่อชีวิตที่มีประสิทธิภาพ

Summary

  • เพราะโทรศัพท์มือถือกลายเป็นปัจจัยที่ 5 ในการใช้ชีวิตประจำวันของคนในโลกยุคปัจจุบัน สารพันปัญหาจากการใช้บริการของลูกค้าในประเทศไทยจำนวน 101 ล้านเลขหมาย (ตัวเลขปี 2566 จาก We Are Social) จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และถือเป็นความท้าทายยิ่งของหน่วยงานกำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช.

Latest


แต่ละปีคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ภายใต้สำนักงาน กสทช. จะต้องพิจารณาข้อร้องเรียนด้านบริการจำนวนมากผ่านฮอตไลน์ 1200 และช่องทางอื่นๆ เพื่อคลี่คลายข้อพิพาท กำหนดมาตรฐานและกติการองรับการเปลี่ยนแปลงและปัญหาใหม่ๆ รวมไปถึงการให้ความรู้ด้านสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค เพื่อป้องกันการถูกเอารัดเอาเปรียบ

นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ปัญหาที่ถูกร้องเรียนมากที่สุด เป็นปัญหาการถูกเรียกเก็บค่าบริการข้อความสั้นหรือเอสเอ็มเอส โดยที่ลูกค้าไม่ได้สมัครใช้งาน 

รองลงมาเป็นปัญหาการย้ายค่ายหรือเปลี่ยนผู้ใช้บริการที่ไม่ได้รับความสะดวก รวดเร็วเท่าที่ควร และสุดท้ายเป็นปัญหาที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงปี 2566 คือการถูกผู้ให้บริการริบคืนเบอร์สวย ที่ผู้ใช้ต้องการเก็บรักษาไว้อย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งน่าจะมาจากความเฟื่องฟูของธุรกิจเบอร์สวยและเบอร์มงคล

ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นพ.ประวิทย์มองเห็นความ "ไม่รู้" ในสิทธิพื้นฐานของผู้บริโภค ทำให้เสียโอกาสรับบริการที่ดีและเป็นธรรมอย่างน่าเสียดาย สรุปได้เป็น 5 หัวข้อ ประกอบด้วย

1. กรณีการสมัครบริการเสริมบนมือถือ ซึ่งลูกค้าอาจเผอเรอ เพลี่ยงพล้ำสมัครโดยไม่ได้ตั้งใจ 

ยกตัวอย่าง กรณีลูกค้าเข้าไปยังเว็บไซต์ที่ให้บริการด้านเกมหรือคลิปวิดีโอ ซึ่งกำหนดให้สมัครหรือกรอกข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ รวมหมายเลขโทรศัพท์มือถือ ซึ่งกลายเป็นสมัครใช้บริการเอสเอ็มเอสโดยไม่รู้ตัว หรือบางกรณีเพียงแค่ใช้มือสไลด์หน้าจอ ก็กลายเป็นสมัครใช้บริการเอสเอ็มเอสไปแล้ว 

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวทางสำนักงาน กสทช. ได้กำหนดกติกาให้การสมัครบริการเสริมบนมือถือ ต้องได้รับการยืนยันผ่านระบบ OTP ซึ่งจะช่วยพิสูจน์ว่าลูกค้าตั้งใจสมัครบริการจริง หากไม่มีการยืนยันผ่านเลขหมาย OTP เท่ากับว่าลูกค้าไม่ได้ตั้งใจสมัครใช้งาน ค่ายมือถือไม่มีสิทธิเรียกเก็บค่าบริการดังกล่าว

2. การแจ้งเปลี่ยนโปรโมชันค่าบริการแบบอัตโนมัติผ่านเอสเอ็มเอส หากลูกค้าไม่กดเปลี่ยนแปลงใดๆ ค่ายมือถือต้องคงโปรโมชันเดิมของลูกค้าเอาไว้เป็นอันดับแรก แต่ในปัจจุบันมีกรณีส่งเอสเอ็มเอสเปลี่ยนโปรโมชันไปยังลูกค้า ที่มีเงื่อนไขหากไม่กดปฏิเสธ ถือว่าต้องการเปลี่ยนโปรโมชัน ซึ่งน่าจะเป็นการกระทำเข้าข่ายเอาเปรียบ ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนได้

3. กรณียกเลิกบริการหรือปิดเบอร์ ซึ่งต้องเคลียร์ค่าใช้จ่ายกันเรียบร้อยแล้ว หากลูกค้าถูกเรียกเก็บหนี้เพิ่ม โดยอ้างว่ายังมีหนี้ค่าบริการเหลือค้างชำระ (กรณีนี้มักเป็นการทวงจากบริษัทรับจัดการหนี้) หากถูกทวงภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 ปีหลังปิดเบอร์ ต้องพิสูจน์ความจริงภายใน 60 วัน หากพิสูจน์ไม่ได้ ลูกค้าไม่ต้องจ่ายหนี้ แต่หากการทวงหนี้มาหลัง 2 ปี ถือว่าเกินอายุความ ลูกค้าไม่ต้องชำระหนี้

4. กรณีย้ายค่ายคงเบอร์เดิมเอาไว้ ตามกติกาที่กำหนด ค่ายมือถือต้องรีบดำเนินการให้ ไม่สามารถประวิงเวลาได้ ลูกค้าจึงสามารถร้องเรียน หากไม่ได้รับความสะดวกหรือติดขัด แต่ขอย้ำเตือนว่า การปิดเบอร์หรือย้ายค่าย ต้องไม่ติดค้างค่าใช้จ่ายใดๆ ลูกค้าไม่สามารถปิดเบอร์หรือย้ายค่ายหนีหนี้ได้

5. สำหรับลูกค้าระบบบัตรเติมเงิน (พรีเพด) ที่ต้องการยกเลิกบริการ หากมีเงินเหลือในระบบ สามารถติดต่อไปยังศูนย์บริการเพื่อขอคืนเงิน แต่ที่ผ่านมาพบว่า ลูกค้าระบบบัตรเติมเงินจำนวนหนึ่ง มีเงินเหลือค้างในระบบและไม่ได้ขอคืน

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics 

เศรษฐกิจนในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ 


Author

ศุภิกา ยิ้มละมัย

ศุภิกา ยิ้มละมัย
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ