FamilyMart เผชิญศึกรอบด้าน จ่อลาตลาดจีนตามไทย

Experts pool

Columnist

ธวัชชัย ขจรวานิชไพบูลย์

ธวัชชัย ขจรวานิชไพบูลย์

Tag

FamilyMart เผชิญศึกรอบด้าน จ่อลาตลาดจีนตามไทย

Date Time: 11 ส.ค. 2566 19:05 น.

Video

วิธีเอาตัวรอดของ Wikipedia ไม่พึ่งโฆษณา ไม่มีค่าสมาชิก แต่อยู่มาได้ 23 ปี | Digital Frontiers

Summary

  • ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ FamilyMart (แฟมิลี่มาร์ท) นับเป็นค้าปลีกข้ามชาติรายล่าสุดที่พ่ายศึกค้าปลีกในประเทศไทย ต้องพับเสื่อถอยทัพกลับบ้านไปอย่างชอกช้ำ เมื่อสัญญาการร่วมทุนกับทาง Central Retail (เซ็นทรัล รีเทล) ได้ยุติลงอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา พร้อมโอนหุ้นในสัดส่วนที่ถืออยู่ 49% ให้ เซ็นทรัล รีเทล และทยอยปรับเปลี่ยนจากร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่นมาเป็น ท็อปส์ เดลี่ (Tops Daily)

Latest


แฟมิลี่มาร์ท หลังจากพ่ายศึกค้าปลีกในไทย เร่งเดินหน้าปรับกลยุทธ์การลงทุนในต่างประเทศใหม่ ฟื้นยอดขายท่ามกลางการแข่งขันร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นดุเดือด ยอดขายเฉลี่ยสาขาต่ำกว่าคู่แข่ง และเร่งแก้ปัญหาในตลาดจีน หลังจากฟ้องร้องกลับผู้ร่วมทุนจีนและการกลับเข้าไปในตลาดเกาหลีอีกครั้ง

ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ FamilyMart (แฟมิลี่มาร์ท) นับเป็นค้าปลีกข้ามชาติรายล่าสุดที่พ่ายศึกค้าปลีกในประเทศไทย ต้องพับเสื่อถอยทัพกลับบ้านไปอย่างชอกช้ำ เมื่อสัญญาการร่วมทุนกับทาง Central Retail  (เซ็นทรัล รีเทล) ได้ยุติลงอย่างเป็นทางการเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา

ทางแฟมิลี่มาร์ทได้ทำการโอนหุ้นในสัดส่วนที่ถืออยู่ 49% ให้ เซ็นทรัล รีเทล และเซ็นทรัล รีเทลได้ทยอยปรับเปลี่ยนจากร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่นมาเป็น ท็อปส์ เดลี่ (Tops Daily) แทน

นับเป็นทางออกที่สวยหรูสำหรับสองยักษ์ใหญ่ที่เป็นพันธมิตรร่วมธุรกิจมานานกว่า 11  ปี

หลังจากได้เข้ามาเปิดร้านสะดวกซื้อสาขาแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2536 หรือ 30 ปีที่ผ่านมา สาขาแรกที่พระโขนง จากนั้นได้ขยายการลงทุนและขยายสาขาเรื่อยมา

ต่อมา เซ็นทรัล รีเทล ได้เข้ามาเข้าซื้อหุ้นและเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ พร้อมเป้าหมายขยายสาขาให้ได้ 1,500 สาขา และ 3,000 สาขา ภายใน 10 ปี แต่ขยายไปมาสาขากลับลดลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียงแค่ 400-500 สาขา

เหตุผลของการยุติแบรนด์แฟมิลี่ มาร์ท ทางเซ็นทรัล รีเทลมองว่า รูปแบบค้าปลีกขนาดเล็กแบบร้านสะดวกซื้อในยุคนี้ได้เปลี่ยนแปลงไป พื้นท่ีไซส์เล็กๆ ขนาดเพียง 100-120 ตารางเมตร ไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคอีกต่อไป และพื้นที่ของร้านค้าควรจะมีขนาดใหญ่กว่านี้มีสินค้าหลากหลาย พร้อมกับที่จอดรถบริการให้ผู้บริโภค

ซึ่งสอดคล้องกับ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ที่ได้เริ่มปรับรูปแบบไปก่อนหน้า ขยายพื้นที่ใหญ่ขึ้น มีที่จอดรถอย่างกว้างขวางไปจนถึงการขยายพื้นที่บริการชาร์จแบตสำหรับรถยนต์ขับเคลื่อนพลังงานไฟฟ้า (อีวี)

ก่อนหน้า “ญนน์ โภคทรัพย์” ประธานเจ้าหน้าที่ เซ็นทรัล รีเทล ยอมรับว่า เมื่อธุรกิจไปต่อไม่ไหวก็ต้องเลิก ต้องปรับเปลี่ยนตามไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค สำหรับการทำธุรกิจไม่มีการเสียหน้าแต่อย่างใด เมื่อสู้กับเบอร์หนึ่งที่มีความแข็งแกร่งมากไม่ได้ต้องถอย

การปรับเปลี่ยนร้านสะดวกซื้อ แฟมิลี่มาร์ท เป็นท็อปส์ เดลี่ ป้ายร้านจะเป็นตัวหนังสือสีขาวพื้นหลังสีแดง จะเห็นความแตกต่างกับ ท็อปส์ เดลี่เดิมที่พื้นหลังเป็นสีเหลือง

สำหรับเจ้าของแบรนด์จากญี่ปุ่นนั้นมองว่าความล้มเหลวในประเทศไทยอาจเป็นเพราะการมุ่งโฟกัสไปยังสินค้าอาหารมากเกินไป และ “โอเด้ง” ซึ่งเป็นเมนูเด่น คนไทยกลับไม่คุ้นเคย จากการสอบถามผู้บริโภคชาวไทยคนหนึ่งระบุว่าไม่เคยลองมาก่อน อีกคนบอกว่า ไม่ชอบกลิ่นคาวปลา

ผู้บริหารของแฟมิลี่มาร์ทระบุกับสื่อญี่ปุ่น ว่าเป็นที่น่าเสียดายกับการตัดสินใจในประเทศไทย แต่ทางแฟมิลี่มาร์ทยังถือสิทธิ์แบรนด์ในประเทศไทยอยู่

นักวิเคราะห์มองว่า คู่แข่งสำคัญคือเซเว่น อีเลฟเว่นโดยกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) มีความได้เปรียบใช้ประโยชน์จากเครือข่ายของ ซี.พี.ในการจัดหาสินค้า วัตถุดิบ ไปจนถึงโลจิสติกส์ โดยไม่มีความสัมพันธ์ด้านเงินลงทุนและพันธมิตร จนถึงทำให้ขยายสาขาได้กว่า 12,000 สาขาทั่วประเทศไทย

แต่แฟมิลี่มาร์ททำได้เพียงแค่เจาะเข้าถึงในแต่ละท้องถิ่นไม่ได้สามารถขยายออกไปทั่วประเทศ จึงทำได้เพียงแค่ขยายไปกว่า 1,000 สาขาเท่านั้น

สำหรับตลาดในประเทศญี่ปุ่น แฟมิลี่มาร์ท เป็นหนึ่งสามยักษ์ใหญ่ของร้านสะดวกซื้อ มีกว่า 16,000 สาขาทั่วประเทศ ยอดขายเฉลี่ยต่อสาขาต่ำกว่าคู่แข่งอย่างเซเว่น อีเลฟเว่น และลอว์สัน ด้วยการแข่งขันที่รุนแรง  และตลาดยังได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อจากกลุ่มผู้สูงวัย ทำให้ต้องเร่งสร้างรายได้จากต่างประเทศเข้ามา แต่ทำได้เพียง 13% ของสัดส่วนรายได้ทั้งหมด ต่างจากคู่แข่งเซเว่น อีเลฟเว่น ที่บริษัทแม่ทำรายได้จากต่างประเทศในสัดส่วนถึง 39%

การถอยทัพออกจากประเทศไทยเป็นปัญหาล่าสุดของแฟมิลี่มาร์ทในตลาดเอเชีย เพราะธุรกิจในประเทศจีนก็ประสบปัญหาเช่นเดียวกัน หลังจากเข้าปักฐานในปี 2547 เปิดร้านสะดวกซื้อไปแล้วกว่า 2,800 สาขา โดยแฟมิลี่ มาร์ทเป็นเชนร้านสะดวกซื้อต่างชาติรายใหญ่ที่สุด แต่เป็นอันดับสี่ตามหลังร้านสะดวกซื้อท้องถิ่น ซึ่งในปี 2561 แฟมิลี่มาร์ทได้ยื่นฟ้องร้องบริษัทติงซิน (Ting Hsin) ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนจากไต้หวันเพื่อบีบให้บริษัทดังกล่าวถอนหุ้นออกไปโดยอ้างว่าไม่ได้ชำระค่าใบอนุญาตที่มายาวนาน ซึ่งการต่อสู้ทางคดียังเดินหน้าต่อไป

สำหรับในประเทศเกาหลีใต้ แฟมิลี่มาร์ท สามารถขยายสาขาได้มากที่สุดกว่า 8,000 สาขา แต่กลับสะดุดเมื่อปี 2557 ทางแฟมิลี่มาร์ทได้ถอนตัวจากการร่วมทุนกับกลุ่ม บีจีเอฟ รีเทล ที่มีสำนักงานใหญ่ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งในเวลานั้นมีความพยายามที่จะเปิดตัวในเกาหลีใต้อีกครั้ง แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการใดๆ

ทาเคชิ ซาวาดะ ประธานแฟมิลี่มาร์ท เคยประกาศเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมีเป้าหมายขยายธุรกิจร้านสะดวกซื้อในต่างประเทศให้ได้ 10,000 สาขา ภายในปี 2564 แต่จนถึงปัจจุบันขยายได้เพียง 8,000 สาขาใน 7 ประเทศเอเชีย

หลังจาก กลุ่มอิโตชู (Itochu Corp) กลุ่มเทรดดิ้งยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นได้รุกสู่ธุรกิจค้าปลีก โดยเข้ามาซื้อหุ้นแฟมิลี่ มาร์ท แล้ว 50.1% และมีแผนทำเทรนเดอร์ ออฟเฟอร์ซื้อหุ้นเต็ม 100% และส่งคนเข้าไปดูในธุรกิจนี้แล้วยังยืนยันว่าทั้งสองบริษัทจะรักษาระยะห่างระหว่างกันไว้ โดยให้อิสระกับแฟมิลี่มาร์ทเต็มที่

ที่ผ่านมา “มาซาฮิโร โอกาฟูจิ” ประธานกลุ่มอิโตชู แม้ไม่ค่อยได้พูดถึงแฟมิลี่ มาร์ท ก็ได้พูดว่า ธุรกิจร้านสะดวกซื้อในประเทศจีนจะต้องรุกต่อไป เช่นเดียวกับธุรกิจร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่น

นักวิเคราะห์มองว่าแฟมิลี่ มาร์ท สามารถใช้ประโยชน์จากความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มอิโตชูกับกลุ่มซิติก (Citic) ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทใหญ่ที่สุดของรัฐบาลจีน มีการร่วมทุนไปแล้วกว่า 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2558 ที่ผ่านมา อาจจะเป็นรูปแบบที่แตกต่างไปจากการร่วมทุนเดิม ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติของการลงทุนแฟมิลี่มาร์ท เมื่อต้องออกไปต่างประเทศ

การใช้เครือข่ายของอิโตชูในต่างประเทศ การใช้จุดเด่นของผลิตภัณฑ์ในเครืออิโตชู รวมทั้งการปรับโมเดลธุรกิจของร้านสะดวกซื้อ การปรับขนาดพื้นที่ให้เหมาะสม และทำเลที่ตั้งที่จะทำให้การผลิตและการขนส่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อาจจะใช้กลยุทธ์การผสมผสานระหว่างร้านสะดวกซื้อสไตล์ญี่ปุ่นให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคแต่ละประเทศได้ เพื่อเป้าหมายสร้างความเติบโตในระยะต่อไป 

ติดตามข่าวสารอัปเดต เศรษฐกิจ เศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจในประเทศ บทวิเคราะห์เศรษฐกิจ ล่าสุด ได้ที่นี่

ข่าวเศรษฐกิจ : https://www.thairath.co.th/money/economics 

เศรษฐกิจนในประเทศ : https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ

เศรษฐกิจโลก : https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ 


Author

ธวัชชัย ขจรวานิชไพบูลย์

ธวัชชัย ขจรวานิชไพบูลย์
ข่าวเศรษฐกิจ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ