ในช่วงที่ผ่านมา สัญญาณเศรษฐกิจโลกเริ่มเด่นชัดขึ้นว่าปัจจัยเสี่ยงเริ่มมีมากขึ้น โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ระบุว่า กิจกรรมทางธุรกิจในเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม โดยภาคการผลิตส่วนใหญ่อยู่ในแดนหดตัว ขณะที่ภาคบริการยังคงขยายตัวอย่างร้อนแรง โดยได้รับอานิสงส์จากการเปิดเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอลงในบางประเทศ ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจ (GDP) ในประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่ (โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว) ชะลอกว่าคาดทั้งสิ้น
ทั้งนี้ ในระยะต่อไป InnovestX เรามองว่า เศรษฐกิจโลกจะเผชิญความเสี่ยง 3 ประการ คือ (1) เศรษฐกิจชะลอตัว แต่เงินเฟ้อและดอกเบี้ยยังสูง (2) ความเสี่ยงจากสภาพคล่องทางการเงินที่จะตึงตัวยาวขึ้น และ (3) เศรษฐกิจจีนและตลาดเกิดใหม่ที่ ชะลอแรงขึ้น
โดยในประเด็นแรก ในส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เรามองว่าจะเห็นสัญญาณชะลอตัวลงมากขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อยังคงสูง (แม้ในเดือน พ.ค. จะลดลงเหลือ 4% ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดก็ตาม แต่ก็ยังคงสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต) ซึ่งจะผลักดันธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) คงดอกเบี้ยในระดับสูง ด้านความเสี่ยงจากสภาพคล่องทางการเงินที่จะตึงตัวยาวขึ้น โดยหากพิจารณาต่อมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ในสหรัฐ พบว่า วิกฤติธนาคารทำให้ Regional Bank ต่างๆ เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ ทำให้การขยายตัวสินเชื่อชะลอแรงขึ้นหลังเกิดวิกฤติธนาคาร ขณะที่เงินฝากหดตัวหนักขึ้น
นอกจากนั้น การออกกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ สาธารณะเมื่อต้นเดือน มิ.ย. จะทำให้กระทรวงการคลังสามารถออกพันธบัตรเพื่อเติมเงินคงคลัง โดยมีการประมาณการกันว่าจะอยู่ ที่ 7 แสนล้าน-1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐใน 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการดูดสภาพคล่องจากระบบ ภาพเหล่านี้ทำให้ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่มีประเด็นการเพิ่มเพดานหนี้กว่า 40-50 bps (0.4-0.5%) และยังไม่ลดลง ซึ่งในปัจจุบัน ภาวะการตึงตัวทางการเงินสหรัฐผ่านการขึ้นดอกเบี้ย และการดูดสภาพคล่องออกจากระบบ (QT) ทำให้ปริมาณเงินสหรัฐหดตัวต่อเนื่อง และทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น รวมถึงเห็นการล้มละลายของบริษัทต่างๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ด้วยตัวเลขภาคบริการและตลาดแรงงานที่ยังแข็งแกร่ง ท่ามกลางเงินเฟ้อที่จะลดอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้เรามองว่า Fed จะยังคงดอกเบี้ยในระดับสูงไปจนถึงปลายปี โดยในระยะต่อไป เงินเฟ้อที่ลดลงขณะที่ดอกเบี้ยยังคงในระดับสูงจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงเป็นบวกมากขึ้น กดดันเศรษฐกิจในระยะต่อไป
ด้านเศรษฐกิจจีน เรามองว่ามีความเสี่ยงเรื่องการขยายตัวต่ำกว่าคาดมาก จากความกังวลรายได้ เศรษฐกิจโลกอ่อนแอ และสินค้าคงคลัง โดยหากพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจจีนเดือน เม.ย. ขยายตัวต่ำกว่าคาดทุกดัชนี ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจเร็วในเดื อน พ.ค. เช่น ผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ของทางการเดือน พ.ค. เริ่มเข้าสู่แดนลบ ด้านส่งออกจีนกลับมาหดตัวอีกครั้ง บ่งชี้ความเสี่ยงเศรษฐกิจที่มากขึ้น ขณะที่เงินเฟ้อผู้บริโภคขยายตัวต่ำ เงินเฟ้อผู้ผลิตติดลบ บ่งชี้ความต้องการที่ต่ำเกินคาด ภาพเหล่านี้สะท้อนจากเงินฝากที่ยังขยายตัวสูงกว่าเงินกู้ บ่งชี้ความกังวลในการจับจ่าย นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ รวมถึงหนี้ภาคเอกชนของจีนที่อยู่ ในระดับสูงแล้วนั้น ทำให้ภาคเอกชนยังไม่กล้ากู้หนี้ใหม่ จึงเป็นเหตุให้ ธนาคารกลางลดดอกเบี้ยนโยบายลง แต่อย่างไรก็ตาม เรามองว่าก็จะช่วยเศรษฐกิจได้ อย่างค่อยเป็นค่อยไป ท่ามกลางความกังวลที่อยู่ระดับสูง ภาพเหล่านี้ ทำให้เรามองว่าเศรษฐกิจโลกครึ่งปีหลังอาจจะชะลอพร้อมเพรียง (Synchronized Slowdown) ในครึ่งปีหลัง
ด้านเศรษฐกิจไทย InnovestX เราค่อนข้างกังวล เนื่องจากมองว่ากำลังจะเผชิญกับ 4 ความเสี่ยงหลัก คือ
(1) เศรษฐกิจโลกที่จะชะลอลงอย่างมาก และอาจเข้าสู่ ภาวะถดถอยโดยเฉพาะในซีกโลกตะวันตก ซึ่งจะกระทบการส่งออกและอาจรวมถึงการท่องเที่ยว
โดยเมื่อพิจารณาจาก Momentum ในไตรมาสที่ 1 พบว่าเศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มฟื้นตัวขึ้นหลังจากการเปิดประเทศ ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น แต่ความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกกระทบภาคการผลิตและส่งออก ทำให้เศรษฐกิจไทยได้ ผลบวกจากการเปิดประเทศน้อยกว่าที่ควรจะเป็น โดยส่งออกบริการ (นักท่องเที่ยวขาเข้า) ขยายตัวสูงถึง 87.8% แต่ปริมาณการส่งออกสินค้าหดตัวลงถึงกว่า -6.4% ทำให้การส่งออกสินค้าและบริการสุทธิขยายตัว 3.0%
แต่อย่างไรก็ตาม ส่งออกเดือนล่าสุด (เม.ย. 23) หดตัวแรงขึ้นที่ 7.6% ต่อปี เราวิเคราะห์ว่า การส่งออกในสินค้าอุตสาหกรรมหลักยังคงหดตัวต่อเนื่อง บ่งชี้ถึงเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ทั้งนี้ เราเชื่อว่า ในระยะต่อไป สินค้าคงคลังที่ยังอยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้น จะทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมอยู่ในระดับต่ำ และกดดันภาคการส่งออกไทยต่อเนื่อง ในระยะต่อไป เรากังวลความเสี่ยงการส่งออกมากขึ้น โดยเราปรับประมาณการมูลค่าการส่งออกสินค้าลงจาก ไม่ขยายตัว (0%) เป็นหดตัว -2%
(2) ความไม่ชัดเจนทางการเมือง ที่นำไปสู่ภาวะ "นโยบายการคลังตึงตัวทางพฤตินัย" โดยในปัจจุบัน ยังไม่เห็นความชัดเจนในการจัดตั้งรัฐบาล อีกทั้งยังมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่ต้องติดตาม ทั้งจำนวนเสียงรับรองข้างมากในรัฐสภา รวมถึงคดีความที่ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และศาลรัฐธรรมนูญ ทำให้ความเป็นไปได้ที่จะได้รัฐบาลใหม่ในเดือน ส.ค. ตาม Timeline ของ กกต. นั้นเป็นไปได้ยาก โดยอาจเลื่อนไปจนถึงเดือน ก.ย.-ต.ค. ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กระบวนการทำงบประมาณก็จะยิ่งล่าช้า และกระทบต่อการเบิกจ่ายงบลงทุนที่ต้องมีการเซ็นสัญญาใหม่ ให้ล่าช้าไปถึง 2-3 ไตรมาส นอกจากนั้น ในระยะต่อไป การบริหารราชการแผ่นดินในกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ อาจเริ่มชะลอลง เนื่องจากโครงการใหญ่ๆ อาจต้องรอการตัดสินใจของรัฐบาลใหม่ ทำให้โครงการต่างๆ อาจล่าช้ากว่าที่เคยวางแผนไว้ ซึ่งอาจรวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ ทั้งงบประจำและลงทุน ซึ่งจะมีผลสืบเนื่องต่อการจัดซื้อจัดจ้าง และกระบวนการภาครัฐอื่นๆ ในระยะต่อไป
(3) นโยบายการเงินที่จะยังตึงตัวต่อเนื่อง โดยในปัจจุบัน ผลกระทบจากนโยบายการเงินที่ตึงตัวขึ้น เริ่มส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญแล้ว โดยปัจจุบัน ดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 1.5% หรือ 150 bps (จาก 0.5% ณ กลางปีที่แล้ว เป็น 2.0% ในสัปดาห์ก่อน) ทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (MLR) ขึ้น 160 bps แล้ว (จาก 5.25% สู่ 6.85%)
ดอกเบี้ยที่สูงขึ้นทำให้ การขยายตัวสินเชื่อชะลอลงชัดเจน จาก 8.9% ต่อปีในเดือน ต.ค. 21 เป็น 2.3% ในเดือน มี.ค. 23 สินเชื่อที่ชะลอ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนเป็นสำคัญ (กิจกรรมภาคอสังหาฯ เช่น การซื้อบ้าน ถือเป็นการลงทุนในการคำนวณ GDP)โดยล่าสุดการลงทุนหดตัว -0.3% ต่อปี (ค่าเฉลี่ย 3 เดือน) ในเดือน มี.ค. และเมื่อมองไปข้างหน้า ดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นและทำให้ ดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ปรับขึ้นตาม จะยิ่งทำให้สินเชื่อธุรกิจ และการลงทุนเอกชนหดตัวยิ่งขึ้น
และ (4) ความเสี่ยงภัยแล้ง ซึ่งเราจับตาดัชนี SOI (Southern Oscillation Index) ซึ่งเป็นดัชนี แสดงความแปรปรวนของระบบอากาศซีกโลกใต้และเป็นตัวชี้วัดความเสี่ยงเกิดภาวะ El Nino มากขึ้น โดยหากดัชนีนี้เข้าสู่แดนลบ แสดงว่าภูมิอากาศมีปัญหา โดยอาจทำให้เกิดภาวะ El Nino ในระยะ 3-6 เดือนข้างหน้า และกระทบต่อการเพาะปลูกและผลผลิตทางเกษตรของไทย และนำไปสู่วิกฤติทางการเกษตรได้
เรากังวลว่า หากดัชนี SOI เข้าสู่แดนลบในไตรมาส 3 และลากยาวไปจนถึงไตรมาส 4 อาจทำให้เกิดภาวะ El Nino ในช่วงปลายปี 2023-ต้นปี 2024 ซึ่งอาจทำให้ปริมาณการผลิตสินค้าเกษตรหดตัวลงระดับ 20-30% เช่นเดียวกับช่วงปี 2015-17 อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามว่าราคาจะปรับลดลงเช่นเดียวกับปริมาณการผลิตด้วยหรือไม่ ซึ่งหากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวแรง และทำให้ราคาสินค้าเกษตรลดลงเช่นกัน ก็อาจทำให้รายได้เกษตรกรปรับลดลงในระดับใกล้เคียงกับช่วงดังกล่าวได้ ซึ่งจะทำให้รายได้ ของเกษตรกรหดตัว โดยเฉพาะชาวนาและชาวไร่ข้าวโพด
ด้วยภาพเศรษฐกิจที่เสี่ยงมากขึ้น ทำให้เราปรับ ลดคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้ลงจาก 3.0% สู่ 2.7% ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับเปลี่ยนสมมติฐานด้านการส่งออกการลงทุนภาคเอกชน และการใช้จ่ายภาครัฐ และนำมาสู่การปรับลดคาดการณ์ กำไรลง 4% ส่งผลทำให้เป้า SET Index ปี 2023 ของ เราปรับลดลง 5-6% จาก 1,750 จุด สู่ 1,650 จุด ทำให้เราคงกลยุทธ์การลงทุนแบบ defensive & selective โดยจุดโฟกัสที่สำคัญในครึ่งปีหลัง คือ การระบายสินค้าคงคลังเสร็จสิ้น การมาของ El Nino และการฟื้นตัวของกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ด้วยความเสี่ยงที่มากขึ้น InnovestX จึงแนะนำให้ ลงทุนแบบ defensive และ selective ในกลุ่มวัฏจักร และโฟกัสไปที่แนวโน้มธุรกิจและการฟื้นตัวของกำไร เลือกหุ้นที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างจำกัดจากนโยบายของรัฐบาลใหม่ และกำไรมีแนวโน้มฟื้นตัว โดยหุ้นเด่นในไตรมาส 3/2023 ของเรา คือ BBL BDMS BEM HMPRO และ OSP
ขอให้นักลงทุนทุกท่านโชคดี