อินโดนีเซียวิกฤติ ชนชั้นกลาง ขาดสภาพคล่องหนัก แห่กู้สินเชื่อดิจิทัล ยอดหนี้พุ่ง 4 พันล้านดอลลาร์

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

อินโดนีเซียวิกฤติ ชนชั้นกลาง ขาดสภาพคล่องหนัก แห่กู้สินเชื่อดิจิทัล ยอดหนี้พุ่ง 4 พันล้านดอลลาร์

Date Time: 4 ธ.ค. 2567 14:33 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • ชนชั้นกลาง "อินโดนีเซีย" วิกฤติ หลังโควิดโดนเลย์ออฟ มนุษย์เงินเดือนตกงาน จนขาดสภาพคล่องหนัก หันพึ่งสินเชื่อดิจิทัลแทนสถาบันการเงิน ดันยอดหนี้พุ่ง 4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

Latest


ชนชั้นกลาง "อินโดนีเซีย" เจอวิกฤติค่าครองชีพ ขาดสภาพคล่อง จนต้องหันไปพึ่งพาสินเชื่อดิจิทัล หมุนเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ข้อมูลจาก Indonesia's Financial Services Authority (OJK) พบว่า คนอินโดนีเซียราว 137 ล้านคน หรือประมาณสองในสาม ของประชากรที่มีอายุมากกว่า 15 ปี มียอดหนี้คงค้างบนแพลตฟอร์มสินเชื่อดิจิทัล รวมกัน 66 ล้านล้านรูเปียห์(4.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)  ณ สิ้นเดือนกันยายน ปี 2567  ซึ่งเป็นหนี้ค้างชำระเกิน 1 เดือน โดยยอดหนี้คงค้างดังกล่าว พุ่งสูงขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2562 มีผู้กู้อยู่ 18.6 ล้านคน และมียอดหนี้คงค้าง 13.16 ล้านล้านรูเปียห์(825 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ)


สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มียอดเบิกจ่ายไปแล้ว 218 ล้านล้านรูเปียห์(1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพิ่มขึ้นจาก 72 ล้านล้านรูเปียห์ในปี 2563


การที่คนอินโดนีเซียหันมาพึ่งพาสินเชื่อจากแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น แทนที่ จะขอสินเชื่อกับสถาบันการเงิน เนื่องจากหลังโควิด คนส่วนใหญ่รายได้ยังไม่ฟื้น จากหลุมรายได้ที่หายไป ประกอบอัตราดอกเบี้ยที่สูง ผลักดันให้ค่าครองชีพสูงขึ้นตาม ทำให้คนขาดสภาพคล่อง หมุนเงินไม่ทัน โดยเฉพาะชนชั้นกลางที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากการเลย์ออฟครั้งใหญ่ของบริษัทต่างๆ หลายคนจึงต้องหันมาทำงานฟรีแลนซ์หรือรับจ้างเป็นแรงงานนอกระบบที่รายได้ไม่แน่นอน เมื่อไม่มีงานประจำ การขอสินเชื่อจากธนาคารจึงทำได้ยากขึ้น  

ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2559 อินโดนีเซียได้อนุญาตการให้บริการทางการเงิน ในรูปแบบ Peer-to-Peer Lending (P2P Lending) ซึ่งเป็นการ ‘กู้ยืม’ ระหว่างบุคคลกับบุคคล ผ่าน ‘แพลตฟอร์มออนไลน์’ โดยไม่มีสถาบันการเงินหรือธนาคารเป็นตัวกลาง ซึ่งรวมถึงผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ 

ในช่วงแรก P2P มีเป้าหมาย เพื่อเพิ่มช่องทางการเข้าถึงแหล่งทุนของธุรกิจขนาดเล็ก ที่มักประสบปัญหาเข้าไม่ถึงสินเชื่อจากธนาคาร เนื่องจากมีข้อมูลเครดิตไม่เพียงพอ

ต่อมาได้ขยายบริการดังกล่าว ไปยังผู้กู้รายย่อยในรูปแบบสินเชื่อส่วนบุคคลและบริการ “ซื้อก่อน จ่ายทีหลัง" หรือ Buy Now Pay Later(BNPL) บนแพลตฟอร์ม e-Commerce โดยตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นมา สินเชื่อดิจิทัลสำหรับรายย่อยมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แซงหน้าสินเชื่อธุรกิจ โดยคิดเป็น 71.43% ของสินเชื่อที่เบิกจ่ายทั้งหมดในปีนี้ และสินเชื่อส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเกาะชวา ซึ่งคิดเป็นประมาณ 56% ของประชากรอินโดนีเซีย และคิดเป็นเกือบ 80% ของบัญชีสินเชื่อทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม แม้คนอินโดนีเซีย จะมีความรู้ทางการเงินในระดับสูงที่ 65% แต่พบว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่ขอสินเชื่อดิจิทัล โดยไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการหนี้ เนื่องจากไม่เข้าใจกลไกการทำงานของดอกเบี้ยและการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเครดิต โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่มักกู้เงินจากแพลตฟอร์มหนึ่ง ไปโปะหนี้อีกแพลตฟอร์ม จนเป็นหนี้เกินตัว ผ่อนชำระไม่ไหว เพื่อรับมือกับวิกฤตหนี้ที่เพิ่มมากขึ้น OJK ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับการกู้ยืมแบบดิจิทัลไว้ที่ 0.3% ต่อวัน หรือ 108% ต่อปี โดยตัวเลขนี้จะลดลงเหลือ 0.2% ต่อวัน (72% ต่อปี) ในปี 2568 และ 0.1% ต่อวัน (36% ต่อปี) ในปี 2569

ที่มา

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ