สังคมสูงวัย อัตราการเกิดต่ำ กลายเป็นปัญหาระดับโลกที่หลายประเทศเร่งหาทางรับมือ โดยเฉพาะ “ประเทศจีน” ที่ได้รับขนานนามว่าเป็น “โรงงานโลก” กำลังเจอวิกฤติคนรุ่นใหม่แต่งงานน้อยลง เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำลงจากปัญหาโครงสร้าง ส่งผลให้ประชากรจีนลดลงมากสุดเป็นประวัติการณ์ ข้อมูลล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน พบว่าในปี 2566 จำนวนประชากรจีนลดลงต่อเนื่องเป็นปีที่สอง มาอยู่ที่ 1,409 ล้านคน โดยลดลง 2.08 ล้านคน หรือคิดเป็น 0.15% เมื่อเทียบกับจำนวน 850,000 คนในปี 2565 ซึ่งเป็นการลดลงครั้งแรกตั้งแต่ปี 2504 สมัยรัฐบาลเหมาเจ๋อตุง
ทั้งนี้ องค์การสหประชาชาติ (United Nations) ประเมินว่า ประชากรจีนจะลดลงเหลือ 1,317 ล้านคน ภายในปี 2593 และจะลดลงเกือบครึ่งหนึ่งเหลือ 732 ล้านคน ภายในปี 2643 โดยนักวิเคราะห์ของ BMI Country Risk & Industry Analysis คาดว่าจำนวนประชากรวัยทำงานที่ลดลงอย่างรวดเร็วจะฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจต่อปีประมาณ 1% ของ GDP ในช่วงอีก 10 ปีข้างหน้า
ด้านยอดการจดทะเบียนสมรสก็ลดลงอย่างน่าใจหาย ตอกย้ำความกังวลในการสร้างครอบครัวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยในไตรมาสที่ 2/2567 ยอดการจดทะเบียนสมรสลดลง 18% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 1.46 ล้านคน ทุบสถิติระดับต่ำสุดในปี 2565 ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำไม่ได้เป็นเพียงสาเหตุเดียวที่ทำให้คนจีนแต่งงานน้อยลง แต่ค่าสินสอดเจ้าสาวที่แพงหูฉี่ ทวีคูณรายได้ต่อปีของเจ้าบ่าวก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักที่ผลักดันให้คนจีนรุ่นใหม่ล้มเลิกการสร้างครอบครัว เพราะสู้ค่าใช้จ่ายสร้างความมั่นคงด่านแรกไม่ไหว
ปัจจุบันค่าเฉลี่ยของสินสอดมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 140,000 หยวน (680,000 บาท) ผลการศึกษาของ Gong Weigang ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น พบว่าก่อนหน้านี้จนถึงปี 2550 ค่าเฉลี่ยสินสอดเคยอยู่ที่ประมาณ 10,000-20,000 หยวน แต่เริ่มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา
ทั้งนี้ ค่าสินสอดเป็นประเพณีที่มีมานานแล้ว และเป็นแบบแผนการแต่งงานของคนส่วนใหญ่ในประเทศ โดยครอบครัวฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องเตรียมของหมั้นมูลค่าสูงให้กับครอบครัวเจ้าสาว เพื่อเป็นหลักประกันแสดงถึงความจริงใจและความพร้อมด้านฐานะการเงินในการดูแลครอบครัว จึงทำให้ครอบครัวฝ่ายเจ้าสาวฉวยโอกาสเรียกค่าสินสอดราคาแพง เพื่อชดเชยค่าเลี้ยงดูตั้งแต่เด็กยันโต ซึ่งสังคมจีนมองว่าการมีลูกสาวเป็นภาระ เนื่องจากค่านิยมชายเป็นใหญ่ที่ยกย่องผู้ชายมีคุณค่าเหนือผู้หญิง
จากการสำรวจประชากร 1,846 คน โดย Tencent News ในปี 2564 พบว่าเกือบ 3 ใน 4 ของการแต่งงานในประเทศจีนมีค่าสินสอด ครอบครัวต่างๆ อาจต้องจ่ายเงินหลายหมื่นดอลลาร์ ซึ่งมากกว่ารายได้ต่อปีของพวกเขาหลายเท่า คำถามคือ ผู้ชายยอมจ่ายค่าสินสอดราคาแพง เพราะค่านิยมสังคมกดดันเท่านั้นหรือ?
แท้จริงแล้ว ต้นตอของปัญหาการปั่นราคาค่าสินสอดเป็นผลสืบเนื่องมาจาก “นโยบายลูกคนเดียว” ที่บังคับใช้ตั้งแต่ปี 2522 ยาวนานเกือบ 40 ปี เพื่อควบคุมจำนวนประชากรและยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ ทำให้ครัวเรือนนิยมมีลูกชายมากกว่าลูกสาว แม้รัฐบาลจะประกาศยุตินโยบายดังกล่าวในปี 2558 แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือ ความไม่สมดุลระหว่างเพศ โดยจีนมีสัดส่วนประชากรเพศชายมากกว่าเพศหญิงหลายเท่าตัว ทำให้ผู้ชายต้องแข่งกันหาคู่ ใครยิ่งมีฐานะมั่งคั่ง ยิ่งมีแต้มต่อที่จะได้ภรรยา
โดยมูลค่าสินสอดแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกอย่างเมืองเซี่ยงไฮ้ ฝูเจี้ยน และมณฑลเจียงซี อย่างไรก็ตาม ครอบครัวในชนบทจะได้รับผลกระทบจากปัญหาสินสอดแพงมากกว่าครอบครัวในเมือง เนื่องจากมีอัตราส่วนทางเพศที่บิดเบือนมากกว่า ประกอบกับภาระค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น ท่ามกลางเศรษฐกิจที่ตกต่ำลง หลายครอบครัวต้องกัดฟันซื้อบ้านในเมือง เพื่อให้ลูกสามารถเข้าเรียนในสถานศึกษาชั้นนำ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงคอนเนกชัน ซึ่งเป็นการวางรากฐานชีวิตอนาคตในยุคที่การแข่งขันสูง
ถามว่าปัญหาปั่นค่าสินสอด ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างขนาดไหน ก็ขนาดที่ล่าสุดในปี 2566 รัฐบาลท้องถิ่นแต่ละเมืองต้องออกแคมเปญต่อต้านประเพณีเรียกสินสอด โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันให้ประชาชนเลิกยึดติดกับขนบธรรมเนียมเดิมๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคขัดขวางการสร้างครอบครัวของคนรุ่นใหม่
อ้างอิง
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney