ธุรกิจ “เมียนมา” บุกไทย หนีวิกฤติเศรษฐกิจ ขายอาหารยันมือถือ  จับตลาดแรงงานผู้ลี้ภัย

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ธุรกิจ “เมียนมา” บุกไทย หนีวิกฤติเศรษฐกิจ ขายอาหารยันมือถือ จับตลาดแรงงานผู้ลี้ภัย

Date Time: 9 ส.ค. 2567 17:35 น.

Video

ดร.พิพัฒน์ KKP กระเทาะโจทย์เศรษฐกิจไทย บุญเก่าเจอความเสี่ยง บุญใหม่มาไม่ทัน

Summary

  • ไม่ใช่แค่ทุนจีน ธุรกิจ "เมียนมา" ต่อแถวบุกไทย เปิดร้านค้าและร้านอาหาร จับตลาดแรงงานผู้ลี้ภัย คนหนุ่มสาวทะลักไทย แห่หางานทำ หนีบังคับเกณฑ์ทหาร วิกฤติเศรษฐกิจในประเทศ

ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ลามกดดันการเติบโตเศรษฐกิจแต่ละประเทศ ไม่เว้นแม้แต่ “จีน” ประเทศมหาอำนาจอันดับสองของโลกที่เศรษฐกิจตกต่ำลงจากวิกฤติฟองสบู่อสังหาฯ ส่งผลให้กำลังซื้อหด อัตราว่างงานเด็กจบใหม่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ทำให้คนจีนบางส่วนถอดใจกับสภาพแวดล้อม การแข่งขันแบบเอาเป็นเอาตาย หันมาหาช่องทางทำธุรกิจในไทย เช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “เมียนมา” ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาอย่างยาวนาน ก็ต่อแถวกันเข้ามาทำธุรกิจในไทย หนีตายจากวิกฤติสงครามกลางเมือง


ล่าสุด Nikkei Asia รายงานว่า ชาวเมียนมากำลังขยายธุรกิจมายังประเทศไทยมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านการเปิดร้านค้าและร้านอาหาร เพื่อขายเสื้อผ้าและอาหารให้กับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้จากการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งข่าวซึ่งอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการ พบว่า ธุรกิจเมียนมาหลายสิบแห่งได้เข้ามาลงหลักปักฐาน ทำธุรกิจในไทยในช่วงสามเดือนที่ผ่านมา 


Su นักวิจัยชาวเมียนมา จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นกับ Nikkei Asia ว่า 


"การที่ชาวเมียนมาส่วนใหญ่ขยายธุรกิจมายังประเทศไทย มีจุดมุ่งหมายเพื่อปกป้องสินทรัพย์ทางการเงินของตัวเอง ไม่ได้สนใจแค่การทำกำไรในทันที แต่เป็นการสร้างรากฐานที่มั่นคง และย้ายสินทรัพย์ไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย"


นับตั้งแต่ กองทัพเมียนมา นำโดย พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนของ ออง ซาน ซูจี ในปี 2564 จนนำมาสู่ “สงครามกลางเมือง” ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่แสดงอารยะขัดขืน จับอาวุธลุกขึ้นสู้กับเผด็จการทหาร ได้ผลักดันให้ประชาชนจำนวนมากที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้ง เอาชีวิตรอด หนีตายดาบหน้ามายังประเทศไทย


ล่าสุดในเดือน ก.พ. สถานการณ์ผู้ลี้ภัยจากเมียนมาก็มีแนวโน้มรุนแรงขึ้นไปอีก เมื่อรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศใช้กฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารทั้งพลเรือนชายและหญิง โดยจะต้องรับใช้กองทัพเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งสะท้อนถึงความอ่อนแอของกองทัพ หลังพ่ายแพ้การรบให้กับกองกำลังชาติพันธุ์หลายครั้งในช่วงปีที่ผ่านมา

สถานการณ์ทางการเมืองที่ระส่ำระสาย ส่งผลให้คนหนุ่มสาวหนีการเกณฑ์ทหารมาหางานทำในประเทศที่การเมืองมั่งคงกว่า ผลักดันให้จำนวนชาวเมียนในไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อเศรษฐกิจตกต่ำลง กำลังซื้อในประเทศหดหาย เหล่าผู้ประกอบการก็ต้องย้ายธุรกิจตามฐานลูกค้า จึงไม่แปลกที่ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เราจะเห็นคนเมียนมาหันมาเปิดธุรกิจในไทยตั้งแต่ร้านอาหารยันร้านโทรศัพท์มือถือ และร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตอบสนองกำลังซื้อของชาวเมียนมาที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

กำลังซื้อวิกฤติ สงครามทำคนเมียนมาจนลง 2 เท่า

การที่ธุรกิจเมียนมาย้ายฐานมาไทย สะท้อนสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในประเทศที่ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ประเทศถอยหลังเข้าสู่วังวนเผด็จการทหารอีกครั้ง สอดคล้องกับรายงานล่าสุดของ ธนาคารโลก (World Bank) ที่ประเมินว่าในปี 2566 อัตราความยากจนในเมียนมาพุ่งสูงขึ้นถึง 32.1% ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจาก 17.4% ในปี 2563 ซึ่งเป็นปีก่อนที่จะเกิดการรัฐประหาร

ล่าสุดสถานการณ์ในภาคธุรกิจก็ตึงเครียดขึ้นไปอีก โดยในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลทหารได้เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบเจ้าของธุรกิจ ผู้บริหาร และนายธนาคาร เพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง จากเงินจ๊าดที่อ่อนค่าลงอย่างรุนแรง จากระดับ 3,300 จ๊าดต่อดอลลาร์ มาอยู่ที่ 5,500 จ๊าดต่อดอลลาร์ ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุของวิกฤติค่าครองชีพในปัจจุบัน

Sein Htay นักเศรษฐศาสตร์และอดีตสมาชิกคณะกรรมการเศรษฐกิจของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ให้ความเห็นกับ Nikkei ว่า

“การผลิตภายในประเทศของเมียนมากำลังลดลง เนื่องจากต้นทุนการขนส่งสูงขึ้น และความล่าช้าของเครือข่ายการจัดจำหน่าย” 


ทั้งนี้เขามองว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของเมียนมาจะแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญ จากกำลังซื้อผู้บริโภคที่ถดถอยลง ท่ามกลางสงครามกลางเมืองทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้ว 


“ปัญหาดังกล่าวผลักดันให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้อุปสงค์ของตลาดลดลง ตลาดการบริโภคภายในประเทศหดตัว ซึ่งบ่งชี้ว่าอำนาจซื้อของผู้บริโภคลดลงอย่างชัดเจน”.

อ้างอิง

ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ