สภาทองคำโลก (World Gold Council) รายงานภาพรวมความต้องการทองคำโลก และประเทศไทยในช่วงไตรมาส 2 รวมถึงแนวโน้มในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 เซาไก ฟาน (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลกของสภาทองคำโลก เปิดเผยว่า ในไตรมาส2/2567 ความต้องการทองคำทั่วโลกเพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อยู่ที่จำนวน 1,258 ตัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ สำหรับไตรมาสที่ 2 โดยได้รับแรงหนุน จากการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ (Over-the-counter หรือ OTC) ที่แข็งแกร่ง ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดถึง 53% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ารวมเป็นจำนวน 329 ตัน
สำหรับประเทศไทย คนมีความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นถึง 20% เมื่อเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 9 ตัน ซึ่งถือเป็นการเติบโตที่สูงที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในไตรมาสที่ 2
ทั้งนี้ความต้องการในภาคการซื้อขายนอกตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น รวมกับการซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลาง และกระแสการไหลออกของการลงทุนที่ช้าลง ในกองทุนซื้อขายแลกเปลี่ยน (ETF) ทองคำ ได้ผลักดันให้ราคาทองคำในไตรมาสที่ 2 พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ โดยมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 2,338 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และทำราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 2,427 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์
ด้านธนาคารกลางและสถาบันการเงินต่างๆ ได้เพิ่มการถือครองทองคำทั่วโลก 183 ตัน ชะลอตัวลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ปรับเพิ่มขึ้น 6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ผลสำรวจความต้องการทองคำของธนาคารกลางโดยสภาทองคำโลก พบว่า ธนาคารกลางจะยังคงเพิ่มสัดส่วนการถือครองทองคำต่อไป ในอีก 12 เดือนข้างหน้า เนื่องจากความต้องการรักษามูลค่าและกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน ภายในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความซับซ้อน
ความต้องการทองคำสำหรับการลงทุนในระดับโลกนั้นยังแข็งแกร่ง โดยเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาอยู่ที่จำนวน 254 ตัน หากมองในรายละเอียดจะพบว่า แต่ละตลาดมีทิศทางที่แตกต่างกัน โดยประเทศไทยมีความต้องการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำ เติบโตอย่างแข็งแกร่งที่ 22% มาอยู่ที่ 7 ตัน เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เนื่องจากนักลงทุนใช้ทองคำเพื่อรักษาเงินทุนจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง สวนทางกับระดับการลงทุนทองคำแท่งและเหรียญทองคำทั่วโลกที่ลดลง 5% อยู่ที่จำนวน 261 ตัน ในไตรมาสที่ 2 เนื่องจากความต้องการในเหรียญทองคำได้ลดลงอย่างมาก จากการเทขายทำกำไรในตลาดยุโรปและอเมริกาเหนือ
ด้านกองทุน ETF ทองคำทั่วโลกของไตรมาสนี้ พบว่ากระแสการลงทุนมีทิศทางไหลออกเล็กน้อยเป็นจำนวน 7 ตัน ส่วนภูมิภาคเอเชียยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้าน ETF ทองคำในยุโรปซึ่งมีกระแสการลงทุนไหลออกจำนวนมากในเดือนเมษายน ปัจจุบันได้เปลี่ยนทิศทางเป็นการไหลเข้าในเดือนพฤษภาคมและมิถุนายนที่ผ่านมา ส่วนในภูมิภาคอเมริกาเหนือนั้นการไหลออกของการลงทุน ETF ได้ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า อย่างไรก็ตามภาพรวมในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ความต้องการทั่วโลกยังคงแข็งแกร่งหากเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา เนื่องจากปริมาณความต้องการในไตรมาสที่ 1 ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้
ราคาทองคำที่สูงเป็นประวัติการณ์ในช่วงไตรมาสที่ 2 ส่งผลให้ความต้องการทองรูปพรรณลดลง 19% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สอดคล้องกับแนวโน้มในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเวียดนามและอินโดนีเซียมีความต้องการลดลง ในขณะที่ไทยมีความต้องการทองรูปพรรณเพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อนหน้า มาอยู่ที่ 2 ตัน เติบโตสูงสุดในภูมิภาค เนื่องจากคนไทยมีมุมมองเชิงบวกต่อทองรูปพรรณ ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ตอบโจทย์ ทั้งสามารถใส่เป็นเครื่องประดับ และให้ผลตอบแทนจากการลงทุน ประกอบกับราคาทองที่ปรับตัวลงช่วงนึง ทำให้คนไทยหันมาสะสมทองมากขึ้น
ความต้องการลงทุนทองคำในตลาดตะวันตก หดตัวลงอย่างมากในไตรมาสที่ 2 เนื่องเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในยุโรป วิกฤติค่าครองชีพ กดดันกำลังซื้อนักลงทุน ในขณะที่ตลาดตะวันออก โดยเฉพาะจีน อินเดีย ตุรกี และไทย มีความต้องการลงทุนทองคำอย่างคึกคัก เพื่อหนีความผันผวน จากความตกต่ำของตลาดหุ้นในประเทศ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ นักลงทุนรายย่อยชาวจีนที่หันมาลงทุนในทองคำ เพื่อป้องกันความเสี่ยง จากวิกฤตภาคอสังหาฯ และตลาดหุ้นในประเทศ ที่ให้ผลตอบแทนแย่ลง
สำหรับแนวโน้มระยะข้างหน้า ความกังวลที่เพิ่มขึ้นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรง มากกว่า 1 ครั้งในปีนี้ จะส่งผลบวกต่อตลาดทองคำ และหากตลาดทุนยังมีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง คนจะมองหา safe haven คาดว่าจะเห็นกระแสการไหลเข้าของเงินจากสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง ไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น ทั้งนี้ราคาทองที่อยู่ในระดับสูง จะยังเป็นปัจจัยที่กดดันความต้องการทองรูปพรรณ เช่นเดียวกับในไตรมาสที่ 2 ที่ความต้องการลดลงมากถึง 19%
อย่างไรก็ตามความต้องการซื้อทองคำจากธนาคารกลางยังเป็นบวกในช่วงครึ่งปีหลัง โดยจะทยอยซื้อสะสมเรื่อยๆ แต่จะไม่เห็นระดับการซื้อสูง 1,000 ตัน เหมือนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากความผันผวน และราคาทองคำที่ปรับสูงขึ้น อาจทำให้ธนาคารกลางชะลอการซื้อออกไป แต่ความต้องการซื้อที่เพิ่มขึ้นของธนาคารกลางประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ จะช่วยหนุนความต้องการทองคำในระยะต่อไป
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney