เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2567 (ตามเวลาสหรัฐฯ) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี นับเป็นการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันครั้งที่ 7 หลังจากทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 11 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565
โดย FOMC มองว่าตัวชี้วัดล่าสุดชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจยังคงขยายตัวในอัตราที่มั่นคง การจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง และอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับต่ำ แม้เงินเฟ้อจะผ่อนคลายลงในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ยังปรับเพิ่มขึ้น
รวมถึงมีความคืบหน้าเล็กน้อยว่าเงินเฟ้อจะขยับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการฯ จึงมองว่ายังไม่เหมาะสมที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในตอนนี้
นอกจากนี้ผลสำรวจความคิดเห็น ประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ปี 2567 คณะกรรมการส่วนใหญ่ ยังส่งสัญญาณลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง โดยคาดการณ์ค่ากลางอัตราดอกเบี้ยที่ 5.1% สูงกว่าคาดการณ์เดิมในเดือน มี.ค. ที่ 4.6% ซึ่งคาดว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อย 3 ครั้ง
รวมถึงได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ค่ากลาง Core PCE เป็น 2.8% จากคาดการณ์เดิมในเดือน มี.ค. ที่ 2.6% ทั้งนี้ Personal Consumption Expenditures (PCE) หรือดัชนีรายจ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล เป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ มากกว่าดัชนี Consumer Price Index (CPI) เนื่องจากสะท้อนค่าใช้จ่ายของครัวเรือนมากกว่า
ทั้งนี้ท่าทีของเฟดที่ให้น้ำหนักการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้ง สวนทางกับคาดการณ์ของนักลงทุนที่มองว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือน ก.ย. และปรับลดอีกครั้งในเดือน ธ.ค. หลังตัวเลขเงินเฟ้อเดือน พ.ค.ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ โดยดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.4% จากระดับ 3.4% ในเดือน เม.ย. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.4% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อน ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.5% จากระดับ 3.6% ในเดือน เม.ย.
อย่างไรก็ตามเฟดจะยังคงลดการถือครองหลักทรัพย์ แม้จะชะลอมาตรการลดขนาดงบดุล (Quantitative Tightening : QT) ตั้งแต่เดือน มิ.ย. โดยปรับลดวงเงินพันธบัตรที่จะครบกำหนดการไถ่ถอนแต่ละเดือนจาก 60,000 ล้านดอลลาร์ลงเหลือ 25,000 ล้านดอลลาร์ โดยไม่มีการซื้อเพิ่ม แต่ยังคงวงเงินหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Mortgage-Backed Security : MBS) ไว้ที่ 35,000 ล้านดอลลาร์ และจะนำเงินต้นที่เกินวงเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลแทน
ทั้งนี้การชะลอการลดขนาดงบดุลลง จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดความโกลาหลในตลาดเงินเนื่องจากการลดสภาพคล่องในระบบ จะส่งผลเชิงลบต่อสินทรัพย์เสี่ยง
อ้างอิง
ติดตามข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney