ฟิลลิป สวาเกล (Phillip Swagel) ผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณรัฐสภา ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์หนี้สหรัฐฯ ผ่านการให้สัมภาษณ์กับ Financial Times ว่า ภาระทางการคลังของสหรัฐฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น อยู่ในวิถี "ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" โดยเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤติกับตลาดตราสารหนี้ ที่อาจสร้างความเสียหายต่อค่าเงินดอลลาร์ แบบวิกฤติที่เคยเกิดขึ้นกับรัฐบาลลิซ ทรัสส์ (Liz Truss) เมื่อปี 2565
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายนปี 2565 ตลาดตราสารหนี้อังกฤษ ต้องพบกับการปั่นป่วนเนื่องจาก การดำเนินนโยบายประชานิยมสุดโต่งของรัฐบาลลิซ ทรัสส์ ที่ต้องกู้เงินเพิ่มเพื่ออุดหนุนนโยบายลดค่าพลังงาน และลดการจัดเก็บภาษี เพื่อแบ่งเบาภาระประชาชน และภาคธุรกิจ ซึ่งยิ่งซ้ำเติมให้ภาวะเงินเฟ้อในประเทศรุนแรงขึ้น ท่ามกลางสถานการณ์เงินเฟ้อที่สูงถึงระดับ 10% ในเดือนกันยายน ทำให้บรรดานักลงทุน และประชาชนจำนวนมาก แสดงความไม่พอใจ แห่เทขายสินทรัพย์ทุกอย่างออกมา จนผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) พุ่งสูงขึ้น กดดันให้เงินปอนด์อ่อนค่าลง เกือบเทียบเท่าเงินดอลลาร์ และเป็นเหตุให้ลิซ ทรัสส์ ต้องลงจากตำแหน่งหลังจาก ปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 45 วัน ในที่สุด
ส่วนที่สหรัฐอเมริกา ภายใต้การบริหารของรัฐบาลพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครต ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ต่างมีส่วนผลักดันให้ภาระหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้นมาอยู่ที่ 34 ล้านล้านดอลลาร์ในปัจจุบัน หรือเพิ่มขึ้นสองเท่าจากปี 2552 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 17 ล้านล้านดอลลาร์ โดยกินสัดส่วนมากถึง 97% ต่อ GDP
โดยได้รับแรงหนุนจากการนโยบายลดภาษีของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อปี 2560 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในช่วงระหว่าง และหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดน นอกจากนี้สำนักงานงบประมาณรัฐสภา ยังคาดการณ์ว่าในปี 2597 หนี้สาธารณะจะพุ่งสูงถึง 166% ต่อ GDP
Swagel มองว่าหากรัฐบาลยังดำเนินนโยบายโดยเพิ่มภาระทางการคลังไปเรื่อยๆ จะชะลอการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ และผลักดันให้รัฐบาลต้องจ่ายดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ให้กับผู้ถือตราสารหนี้ในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ตลาดตราสารหนี้ถดถอยและก่อให้เกิดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญต่อแนวโน้มการคลัง อีกทั้งอาจทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีข้อจำกัดมากขึ้น ในการดำเนินนโยบายของพวกเขา
อ้างอิง
อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney