จับตาผลกระทบเศรษฐกิจ หลังญี่ปุ่นยุตินโยบาย “ดอกเบี้ยติดลบ” อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

จับตาผลกระทบเศรษฐกิจ หลังญี่ปุ่นยุตินโยบาย “ดอกเบี้ยติดลบ” อะไรจะเกิดขึ้นต่อไป

Date Time: 21 มี.ค. 2567 11:09 น.

Video

บุกโรงงาน PANDORA ช่างไทยผลิตจิวเวลรี่ แบรนด์โลกแสนล้าน | On The Rise

Summary

  • กลายเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ที่ทั่วโลกให้การจับตามอง เมื่อธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ปิดฉากนโยบาย “ดอกเบี้ยติดลบ” ขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี การเคลื่อนไหวครั้งนี้กำลังบอกอะไร เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรต่อ

Latest


ถือเป็นเหตุการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น หลังเมื่อวันที่ 19 มี.ค ที่ผ่านมา ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) ประกาศปิดฉาก “นโยบายดอกเบี้ยติดลบ” ที่ดำเนินมาอย่างยาวนานถึง 17 ปี และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0-0.1% จากระดับ -0.1% พร้อมยกเลิกมาตรการคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ที่เป็นเครื่องมือประคองเศรษฐกิจให้อยู่รอดท่ามกลางภาวะเงินฝืด มานานกว่าทศวรรษ ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวอย่างมีเสถียรภาพ 


สะท้อนจากตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญหลายตัวเคลื่อนไหวในทิศทางบวก ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อที่เคลื่อนไหวในระดับหรือสูงกว่ากรอบเป้าหมาย 2% มาเป็นระยะเวลาเกือบ 1 ปี และผลการเจรจาปรับขึ้นค่าจ้างประจำปี ที่ประสบความสำเร็จเหนือความคาดหมาย ปรับขึ้นค่าจ้างสูงสุดในรอบ 33 ปี

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบครั้งนี้ เป็นเหตุการณ์สำคัญที่ทั่วโลกให้การจับมอง เนื่องด้วยญี่ปุ่นเป็นประเทศเศรษฐกิจใหญ่อันดับ4 และความนิยมที่เพิ่มขึ้นของตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่การเคลื่อนไหวครั้งนี้กำลังบอกอะไร เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเป็นอย่างไรต่อ Thairath Money สรุปมาให้


BOJ จะขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงแค่ไหน


แม้ธนาคารกลางญี่ปุ่น(BOJ) จะยุติการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบ เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่น สามารถเติบโตในทิศทางที่ยั่งยืนด้วยตัวเอง แต่ คาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นได้เน้นย้ำถึงการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย (Accommodative Monetary Policy) ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณว่า BOJ จะไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบรุนแรงในระยะข้างหน้า เนื่องจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างรวดเร็ว จะส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ จากการแบกรับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามการแถลงจุดยืนของ ผู้ว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นครั้งนี้ ทำให้นักวิเคราะห์แตกเป็นสองเสียง โดยส่วนหนึ่งคาดการณ์ว่า BOJ จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งหลังปี 2567 ในขณะที่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่าจะไม่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีนี้

ความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง


นักเศรษฐศาสตร์มองว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินในรอบ 17 ปี ครั้งนี้ นั้นดำเนินไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป จึงไม่ส่งกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ อย่างมีนัยสำคัญ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงในระยะข้างหน้าที่ต้องจับตามอง

แม้นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น จะเน้นย้ำว่า ญี่ปุ่นจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบเชิงรุก โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและเงินเฟ้อภายในประเทศ เน้นเสถียรภาพและความยั่งยืน แต่ในอนาคตหากอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น จนกลายเป็นความเสี่ยง อาจกดดันให้ BOJ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบรุนแรง

ซึ่งจะผลักดันให้ต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลาง สอดคล้องกับรายงานของ Tokyo Shoko Research ระบุว่า บริษัท 3,955 แห่ง ที่มีทุนจดทะเบียนน้อยกว่า 100 ล้านเยน (24 ล้านบาท) มีมากกว่า 70% มองว่าในปีนี้ต้นทุนการกู้ยืมจะเพิ่มขึ้น จากเดือน ม.ค ปี 2566 นอกจากนี้หากเงินเยนแข็งค่าขึ้นจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็จะส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของญี่ปุ่นเช่นกัน

ปัจจัยเสี่ยงอีกประการคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย นี้  ซึ่งเป็นการกลับมาของคู่ชิงเดิมในปี 2563 ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต และโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดี สหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน โดยก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศต่อสาธารณชน ว่าหากเขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดี สหรัฐฯ จะกำหนดอัตราภาษีนำเข้า เพิ่มเติม สําหรับสินค้าจากประเทศจีน ในอัตรา 60% หรือสูงกว่า 


ซึ่งหากโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง เคอิจิ คันดะ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส สถาบันวิจัยไดวะ มองว่า นโยบายดังกล่าวจะทำให้ สถานการณ์เงินเฟ้อสหรัฐฯ แย่ลง จนอาจทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ(Fed) กลับมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วย

 
อ้างอิง
CNBC, Nikkeiasia

อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ

ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ