เมื่อวันพุธที่ 31 ม.ค. 67 (ตามเวลาสหรัฐฯ) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 5.25-5.50% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ และเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี นับเป็นการตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันครั้งที่ 4 หลังจากทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมาแล้ว 11 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด แถลงการณ์กับสื่อหลังสิ้นสุดการประชุมนโยบายการเงิน ระหว่างวันที่ 30-31 ม.ค. ว่า คณะกรรมการ FOMC คาดว่ายังไม่เหมาะสมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย จนกว่าจะมั่นใจมากขึ้นว่าเงินเฟ้อกำลังเคลื่อนไหวอย่างยั่งยืนเข้าสู่ระดับ 2% ซึ่งเป็นเป้าหมายเงินเฟ้อของเฟด
แม้อัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมาแต่ยังอยู่ในระดับสูง พาวเวลล์กล่าวว่า คณะกรรมการ จะพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อให้แน่ใจว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในแนวโน้มขาลง แสดงให้เห็นว่าเฟดยังคงให้ความสําคัญกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้ออย่างมาก
นอกจากนี้พาวเวลล์ ยังเน้นย้ำว่า ไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ ที่คณะกรรมการจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนมีนาคม เนื่องจากในช่วงเวลานั้น คณะกรรมการยังไม่มีข้อมูลเพียงพอที่จะยืนยันว่าอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างยั่งยืนแล้ว
ขณะเดียวกัน ตลาดจับตาตัวเลขจ้างงานของสหรัฐฯ ในสัปดาห์นี้ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ จะเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร (Nonfarm payrolls) ประจำเดือน ม.ค.ในวันศุกร์นี้ โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า ตัวเลขจ้างงานจะเพิ่มขึ้น 173,000 ตำแหน่งในเดือน ม.ค. ชะลอตัวจากระดับ 216,000 ตำแหน่งในเดือนธ.ค.
ทั้งนี้การประชุมนโยบายการเงินครั้งถัดไป ที่ตลาดให้การจับมอง คือวันที่ 20 มี.ค. และ 1 พ.ค. โดยตลาดมีความเชื่อมั่นว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมดังกล่าว
อ้างอิง
อ่านข่าวเศรษฐกิจต่างประเทศอื่นๆ กับ Thairath Money ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/world_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้
https://www.facebook.com/ThairathMoney