เรียกได้ว่าเป็นสัปดาห์ของการประกาศผลดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ไทย ในปี 2566 ที่ผลกำไรออกมาดีตามตลาดคาด จากอานิสงส์ดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ หรือ NIM ปรับตัวเพิ่มขึ้น สวนทางกับธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ ที่มีผลกำไรน้อยลง
สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งในสหรัฐฯ มีผลกำไรลดลงในไตรมาส 4/2566 เนื่องจากการลดลงของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ(NII) และต้นทุนการรับฝากเงินที่สูงขึ้น
นับตั้งแต่วิกฤติภาคการเงินในสหรัฐฯ ที่เริ่มจาก Silicon Valley Bank ทำให้คนแห่ถอนเงินฝากจนธนาคารล้มละลายเป็นโดมิโน่
เมื่อปีที่แล้ว ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ฝากเงินอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนส่วนใหญ่ย้ายเงินฝากจากธนาคารขนาดเล็ก ไปยังธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงมากกว่า อีกทั้งคนยังฝากเงินน้อยลง จากปัญหาเงินเฟ้อที่ผลักดันให้ภาระหนี้ที่พุ่งสูงขึ้น
ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐฯ จึงต้องแข่งขันกันอย่างดุเดือด เพื่อรักษาส่วนแบ่งเงินฝาก ด้วยการแบกรับต้นทุนไว้เอง นอกจากนี้ธนาคารส่วนใหญ่ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียม เพื่อสนับสนุนกองทุนของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก(FDIC) ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องเงินฝากของประชาชน ในกรณีที่ธนาคารล้มละลาย
การเติบโตของสินเชื่อที่ชะลอตัวลง เนื่องจากความต้องการกู้ที่น้อยลงตามสภาพเศรษฐกิจ และแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ(Fed) ในปีนี้ คาดว่าจะยิ่งกดดันผลกำไรของธนาคารให้ลดลงไปอีก
โดยบริษัท KeyCorp เจ้าของธนาคาร KeyBank รายงานผลกำไรรายไตรมาส ลดลง 92% ปริมาณสินเชื่อรวม สิ้นไตรมาส 4/2566 อยู่ที่ประมาณ 1.14 แสนล้านดอลลาร์ ลดลง 3.2% จากปีก่อน และคาดว่ารายได้ดอกเบี้ยสุทธิ(NII) จะลดลง 2%-5% ในปี 2567
ในขณะที่บริษัท Truist Financial เจ้าของธนาคาร Truist Bank ขาดทุนจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่ลดลง และการจ่ายค่าธรรมเนียมให้ FDIC มากกว่า 6 พันล้านดอลลาร์ ส่วนธนาคาร M&T กำไรลดลง 37% จากต้นทุนรับฝากเงินที่สูงขึ้น และบริษัทบริหารสินทรัพย์ Northern Trust รายงานกำไรลดลง 27%
อ้างอิง
ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้ https://www.facebook.com/ThairathMoney