นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ณ นครเจนีวา เปิดเผยผลรายงานขององค์การการค้าโลก (WTO) เรื่องพัฒนาการของสภาวะการค้าระหว่างประเทศของโลกว่า ความตึงเครียดภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งการสู้รบรัสเซียและยูเครน ความขัดแย้งสหรัฐฯและจีน รวมทั้งความรุนแรงล่าสุดในตะวันออกกลาง ก่อให้เกิดการแบ่งแยกการค้า ซึ่งอาจรุนแรงจนถึงเกิดปรากฏการณ์ลดลงของโลกาภิวัตน์ (Deglobali zation) ที่โลกอาจแบ่งแยกการค้าเพิ่มขึ้น เห็นได้จากดัชนีมูลค่าการค้าระหว่างกลุ่มประเทศที่มีจุดยืนทางการเมืองต่างกัน ขยายตัวช้ากว่ามูลค่าการค้าภายในกลุ่มที่ 4-6% ตั้งแต่สงครามยูเครน อีกทั้งสัดส่วนการค้าสินค้าขั้นกลางของโลกลดลงมาอยู่ที่ 48.5% ในช่วงครึ่งแรกปี 66 เทียบกับค่าเฉลี่ย 51% ในช่วง 3 ปี
ขณะเดียวกัน ในการประชุมคณะมนตรีว่าด้วยการค้าสินค้า WTO เดือน พ.ย.66 สมาชิกหยิบยกข้อกังวลการค้ามากถึง 45 ข้อมาหารือกัน ซึ่งมากสุดเป็นประวัติการณ์ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า จากปี 62 โดยทั้ง 45 ข้อ มี 9 ข้อที่เกี่ยวกับความขัดแย้งจีนและสหรัฐฯ และ 7 ข้อเกี่ยวกับการใช้มาตรการสิ่งแวดล้อมแบบฝ่ายเดียวที่กระทบการค้า
นางพิมพ์ชนกกล่าวอีกว่า การค้าโลกยังมีแนวโน้มกระจุกตัวมากขึ้นในประเทศผู้ส่งออกที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดย 10 ปีที่ผ่านมา มูลค่าการค้าโลกที่เข้าข่ายกระจุกตัวมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น 2 เท่า จาก 9% ในปี 43 เป็น 19% ในปี 64 มีจำนวนสินค้าเพิ่มขึ้นจาก 778 รายการ ในปี 43 มาเป็น 1,075 รายการ ในปี 64 โดยมีจีนเป็นผู้ผลิตและส่งออกสินค้าคอขวดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ และเซมิคอนดักเตอร์
รวมถึงมาตรการการค้าสินค้าเกษตร ยังเป็นมาตรการที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ โดยเฉพาะมาตรการอุดหนุนสินค้าเกษตรและประเด็นอื่นๆ เช่น มาตรการจำกัดการเข้าสู่ตลาดของสินค้าเกษตร มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร ความมั่นคงทางอาหาร ฯลฯ อย่างไรก็ตาม มูลค่าการค้าสินค้าโลกปี 67 คาดขยายตัว 3.3% เพิ่มขึ้นจากปี 66 ที่คาดขยายตัวเพียง 0.8% แต่มีความเสี่ยงสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจจีนที่อาจเติบโตช้ากว่าที่คาดไว้ โดยอาจเติบโต 4.6% จากปี 66 ที่คาดโต 5.4%, แรงกดดันจากเงินเฟ้อในประเทศพัฒนาแล้วที่ยังสูง และความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะล่าสุดในตะวันออกกลาง ที่รายงานนี้ยังไม่ได้นำผลกระทบมาพิจารณา.
อ่าน "คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ" ทั้งหมดที่นี่