เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม สํานักงานศุลกากรจีน (GAC) รายงาน ยอดการส่งออกเดือนพฤศจิกายน พบว่า การส่งออกปรับเพิ่มขึ้น 0.5% เมื่อเทียบรายปี เป็น 2.9 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากหดตัว 6.4% ในเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งแรกตั้งแต่เดือนเมษายน และสวนทางโพลของรอยเตอร์ที่คาดการณ์ว่าการส่งออกจะลดลง 1.1%
ในขณะที่การนำเข้าลดลง 0.6% ในเดือนพฤศจิกายน เหลือ 2.2 แสนล้านดอลลาร์ หลังจากขยายตัว 3% ในเดือนตุลาคม ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ของรอยเตอร์ ที่คาดว่าจะเติบโต 3.3% การนำเข้าที่หดตัวเป็นผลมาจากความต้องการน้ำมันดิบและผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่ลดลง ซึ่งส่วนหนึ่งถูกชดเชยด้วยความต้องการเครื่องจักรและเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมถึงแร่เหล็ก นอกจากนี้ในเดือนพฤศจิกายน จีนซึ่งผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ยังลดการนำเข้าน้ำมันดิบมากที่สุดในรอบสี่เดือน
การส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในเดือนพฤศจิกายน ได้รับแรงหนุนจาก ความต้องการรถยนต์และโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มขึ้น จากการค้าโลกฟื้นตัว โดยการจัดส่งโทรศัพท์มือถือไปต่างประเทศเพิ่มขึ้น 54% นอกจากนี้การลดราคาสินค้าให้ต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค เพื่อรักษาส่วนแบ่งการตลาด ยังเป็นหนึ่งในปัจจัยที่กระตุ้นการส่งออก และทำให้ปริมาณการส่งออกของจีนพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
Julian Evans-Pritchard หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจประเทศจีนที่ Capital Economics กล่าวว่า
“ผมค่อนข้างประหลาดใจ กับความแข็งแกร่งของการส่งออกจีน โดยจีนดูเหมือนจะสามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดการส่งออก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมปริมาณการค้าโลกที่หดตัวลง”
อย่างไรก็ตาม เขามองว่าการตัดราคาสินค้านั้น เป็นวิธีการที่ไม่ยั่งยืน และในปี 2567 จีนจะไม่สามารถลดราคาสินค้าให้ต่ำลงได้อีก เนื่องจาก อัตรากำไรการส่งออกของบริษัทในจีน ลดลงใกล้กับระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งจะส่งผลเสียต่อภาพรวมการส่งออก
ทั้งนี้ในช่วง 11 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออกจีนหดตัวลง 5.2% ในขณะที่การนำเข้าลดลง 6% เนื่องจากทำการค้ากับสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และคู่ค้าหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ลดลง
สวนทางการค้ากับรัสเซีย ซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรที่โดดเด่นกว่ากลุ่มอื่น โดยการค้าทวิภาคีเพิ่มขึ้น 27% เป็น 2.18 แสนล้านดอลลาร์ ในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2566 ทะลุเป้าหมาย 2 แสนล้านดอลลาร์ เร็วกว่าที่คาดไว้
อ้างอิง