ผลวิจัยเผย แม่ม่ายญี่ปุ่น ยากจนมากขึ้น หลังสามีเสียชีวิต ผลกระทบช่องว่างรายได้

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ผลวิจัยเผย แม่ม่ายญี่ปุ่น ยากจนมากขึ้น หลังสามีเสียชีวิต ผลกระทบช่องว่างรายได้

Date Time: 2 ธ.ค. 2566 11:04 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • ผลวิจัยโดย Tokyo Metropolitan University เผย แม่ม่ายญี่ปุ่นอายุ 65 ปี ขึ้นไป จนมากขึ้น หลังสามีเสียชีวิต ผลกระทบผู้หญิงญี่ปุ่นรายได้น้อยกว่าผู้ชาย

Latest


เป็นที่ทราบกันดีว่าญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาสังคมสูงอายุโดยสมบูรณ์ และเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดในโลก ปัจจุบันผู้หญิงญี่ปุ่นมีแนวโน้มอายุยืนกว่าสามี  ส่งผลให้จำนวนผู้หญิงสูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังเพิ่มมากขึ้น


สถาบันวิจัยประชากรและประกันสังคมแห่งชาติ ญี่ปุ่น (NIPSSR) ประมาณการว่าในปี 2583 จำนวนแม่ม่ายและผู้หญิงที่หย่าร้างอายุ 75 ปีขึ้นไป จะมีสัดส่วนถึง 7.4% ของจำนวนประชากรทั้งหมด เพิ่มขึ้น 2% จากปี 2563


นอกจากนี้ จำนวนแม่ม่ายและผู้หญิงที่หย่าร้างอายุ 75 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนสูงขึ้นถึง 8 ล้านคนภายในปี 2573 หรือเพิ่มขึ้น 1.3 ล้านคนจากทศวรรษก่อนหน้า 


ผลการศึกษาล่าสุด โดย Aya Abe ศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัย Tokyo Metropolitan University (TMU) หนึ่งในมหาวิทยาลัยผู้นำด้านการวิจัยของญี่ปุ่น พบว่า 32% ของแม่ม่ายที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ตกอยู่ในภาวะความยากจนในปี 2561 โดยมีรายได้ต่อหัวน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของค่ามัธยฐานสําหรับกลุ่มคนอายุเดียวกัน เพิ่มขึ้น 8 จุดจาก 30 ปีก่อนหน้า ในขณะที่อัตราความยากจนของพ่อม่ายในกลุ่มอายุเดียวกัน อยู่ที่ 23%


โดยสาเหตุที่ทำให้บรรดาแม่ม่ายญี่ปุ่น ตกอยู่ในภาวะยากจน หลังสามีเสียชีวิต ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาช่องว่างระหว่างรายได้ของผู้หญิงและผู้ชาย ข้อมูลล่าสุดในปี 2565 พบว่า ค่าแรงขั้นต่ำของผู้หญิงในญี่ปุ่นต่ำกว่าผู้ชาย 21.3% แม้ช่องว่างทางรายได้ จะลดลง 15 จุด ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา แต่ยังมากกว่าค่าเฉลี่ยช่องว่างทางรายได้ ในประเทศพัฒนาแล้วประมาณสองเท่า


อีกทั้งจำนวนผู้หญิงที่ทํางานพาร์ตไทม์ หรือทํางานนอกระบบอื่นๆ ในญี่ปุ่น มีอัตราค่อนข้างสูง แม้แต่ในหมู่พนักงานประจำ ผู้หญิงก็มีความก้าวหน้าในอาชีพช้ากว่าผู้ชาย ในแง่ของการดำรงตำแหน่งผู้บริหาร และระยะเวลาการจ้างงาน


ประกอบกับการขาดการสนับสนุนและดูแลจากครอบครัว โดยในอดีต ผู้สูงอายุมักอาศัยอยู่กับครอบครัว แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจถดถอยลง ทำให้คนวัยกลางคนจำนวนมากในญี่ปุ่น ไม่มีงานประจําหรือรายได้ที่เพียงพอ ผู้เชี่ยวชาญบางคนถึงกับคาดการณ์ว่า จํานวนลูกที่ต้องพึ่งพาเงินบำนาญของพ่อแม่จะเพิ่มขึ้น


โดยในปี 2565 มีเพียง 34% ของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปเท่านั้นที่อาศัยอยู่กับลูกๆ ของพวกเขา ลดลง 23 จุดจาก 30 ปีก่อนหน้า ในขณะที่ส่วนแบ่งผู้สูงอายุที่อาศัยตามลำพัง เพิ่มขึ้น 10 จุด เป็น 22% ในช่วงเวลาเดียวกัน


รายงานยังระบุว่า คนโสดสูงอายุยังมีปัญหาขาดเงินออม โดยครัวเรือนเดี่ยว ส่วนใหญ่ที่มีมีอายุ 75 ปีขึ้นไป มีเงินออมน้อยกว่า 5 ล้านเยน (1 ล้านบาท)


เมื่อสัดส่วนประชากรสูงอายุในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่สัดส่วนแรงงานคนหนุ่มสาวลดลง การดูแลสวัสดิภาพผู้สูงอายุด้วยเงินบำนาญเพียงอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพอ และปัญหานี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลญี่ปุ่นต้องเร่งหาทางรับมือ

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ