รัฐบาลญี่ปุ่น รายงาน อัตราเงินเฟ้อประจำเดือนกันยายน พบว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสด แต่รวมเชื้อเพลิง เพิ่มขึ้น 2.8% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 2.7% เล็กน้อย แต่ชะลอตัวจากเดือนสิงหาคม 3.1%
โดยปัจจัยหลักที่กดดันให้เงินเฟ้อชะลอตัวลงในเดือนกันยายน มาจากการลดลงของค่าสาธารณูปโภค ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบราคาน้ํามันในอดีตที่ลดลง
รวมถึงราคาอาหารและของใช้ประจําวันที่ชะลอตัวลงจากเดือนสิงหาคม ซึ่งเป็นสัญญาณว่าแรงกดดันด้านต้นทุนกําลังผ่อนคลายลง เนื่องจากบริษัทสามารถส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภคได้มากขึ้น
ส่วนดัชนี Core-Core CPI ซึ่งไม่รวมทั้งราคาเชื้อเพลิงและราคาอาหารสด ในเดือนกันยายนเพิ่มขึ้น 4.2% เมื่อเทียบกับปีก่อน และชะลอตัวลงเล็กน้อยจากในเดือนสิงหาคมระดับ 4.3%
โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะใช้ข้อมูลเหล่านี้ประกอบการตัดสินใจในการประชุมวันที่ 30-31 ตุลาคมนี้ ซึ่งจะมีเปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อประจำไตรมาสด้วย
แม้อัตราเงินเฟ้อญี่ปุ่นจะยืนเหนือกรอบเป้าหมายที่ 2% อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการปรับเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว (YCC) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า BOJ อาจพิจารณายุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบเร็วๆ นี้
แต่เพราะปัญหาเงินเฟ้อที่สูงขึ้นยังกดดันการบริโภคในประเทศ ทำให้ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่นเน้นย้ำถึงความจำเป็นที่จะต้องคงนโยบายผ่อนคลายเป็นพิเศษจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะถูกขับเคลื่อนมากขึ้นจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับการเติบโตของค่าจ้างที่ยั่งยืน
Shotaro Kugo นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัย Daiwa กล่าวว่า นโยบายการเงินในอนาคตของธนาคารกลางญี่ปุ่นจะขึ้นอยู่กับทิศทางการชะลอตัวของอัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
“แทนที่จะเปลี่ยนแปลงนโยบายภายในปีนี้ หลังจากการเจรจาค่าจ้างประจําปีในช่วงฤดูใบไม้ผลิหน้า น่าจะเป็นเวลาที่เหมาะสม สําหรับการพิจารณาทบทวนนโยบายทางการเงิน"
อ้างอิง