นับว่าเป็นปีที่ไม่ดีนัก สำหรับสกุลเงินภูมิภาคอาเซียน เมื่อเงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นเป็นประวัติการณ์ กดดันให้มูลค่าการซื้อขายสกุลเงินอาเซียน ลดลงใกล้ระดับต่ำสุดในปีนี้ โดยริงกิตมาเลเซียและเงินบาท เป็นสกุลเงินที่มีการเสื่อมค่ามากที่สุด ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มความกังวลให้กับรัฐบาล และภาคธุรกิจในภูมิภาค
แม้โดยทั่วไปค่าเงินที่อ่อนค่าลงจะเป็นประโยชน์ต่อภาคการส่งออกและการท่องเที่ยวในทางกลับกันก็ผลักดันให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ ยังกดดันให้ผู้ส่งออกต้องดิ้นรนบริหารความเสี่ยง ทั้งนี้ค่าเงินที่ร่วงลงอย่างต่อเนื่อง นั้นเป็นความเสี่ยงที่ต้องจับตามอง เนื่องจากจะกระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออก
ทั้งนี้ การเสื่อมค่าของสกุลเงินในอาเซียน เป็นผลมาจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น ทำให้นักลงทุนคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ(Fed) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงเพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ
การคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงของสหรัฐฯ ทำให้เกิดส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยที่กว้างขึ้น ยังดึงดูดนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไร ในตลาดเงินตราต่างประเทศ กระตุ้นให้เกิดการไหลออกของเงินทุนจากประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กดดันต่อค่าเงินของมาเลเซีย และค่าเงินบาทของไทย โดยเฉพาะริงกิตมาเลเซียที่อ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 10 เดือนที่ 4.729 ต่อดอลลาร์ เช่นเดียวกับเงินบาทที่อ่อนค่าทะลุ 37 บาท เมื่อต้นเดือนตุลาคม
อย่างไรก็ตาม Richard Bullock นักวิจัยอาวุโสของ Newton Investment Management กล่าวว่า ค่าเงินที่เสื่อมลงในภูมิภาคอาเซียน ไม่น่ากังวล เนื่องจากดุลการชำระเงินในภูมิภาคอยู่ในระดับสมดุล และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ยังมีมากพอ เพื่อรองรับการไหลออกของเงินระยะสั้น
แม้ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาค แต่มีอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำกว่าสหรัฐอเมริกา และกลุ่มประเทศยุโรป โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ราคาซื้อขายน้ำมันดิบ Brent พุ่งเหนือระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นครั้งแรกตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติน้ำมันโลก
อ้างอิง