เมื่อวันอังคาร (26 กันยายน 2566) ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์อินโดนีเซีย ออกแถลงการณ์ ห้ามทำธุรกรรมซื้อขายสินค้า บนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งาน TikTok และ Facebook ในอินโดนีเซียไม่สามารถทำการซื้อขายสินค้าบนแพลตฟอร์มได้
Zulkifli Hasan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเชื่อมต่อ ระหว่างโซเชียลมีเดียและอีคอมเมิร์ซจะต้องถูกแยกออกจากกัน เพื่อไม่ให้แพลตฟอร์มควบคุมอัลกอริทึมทั้งหมด และเป็นการป้องกันการใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ
นอกจากนี้รัฐบาลอินโดนีเซีย ยังเพิ่มการควบคุมการขายสินค้าจากต่างประเทศ โดยเสริมว่าสินค้าเหล่านี้จะได้รับการตรวจสอบเช่นเดียว กับสินค้าในประเทศ
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้น หลังจากที่โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีของอินโดนีเซีย เรียกร้องให้มีการควบคุมแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย โดยอ้างถึงผลกระทบของแพลตฟอร์มที่มีต่อธุรกิจท้องถิ่นและเศรษฐกิจในประเทศ
“วิสาหกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง ยอดขายเริ่มลดลงเนื่องจากสินค้าจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย”
สอดคล้องกับรายงาน BMI เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่า ตลาดออนไลน์มีส่วนสำคัญสำหรับธุรกรรมดิจิทัลในอินโดนีเซียโดยในเดือนกรกฎาคม มูลค่าของธุรกรรมดิจิทัลแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1 หมื่นล้านดอลลาร์ (3.6 แสนล้านบาท)
มาตรการควบคุมดังกล่าว ได้ทำลายความพยายามของ TikTok ในการบุกตลาดอีคอมเมิร์ซอินโดนีเซียหลังจากเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา Shou Zi Chew ซีอีโอของ TikTok ได้ประกาศแผนการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์ในอินโดนีเซียและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในช่วงไม่กี่ปีข้างหน้า
โดยอินโดนีเซียถือเป็นตลาดใหญ่เป็นอันดับสองของ TikTok ที่มีผู้ใช้งาน 113 ล้านคน รองจากสหรัฐอเมริกาซึ่งมีผู้ใช้งาน TikTok 116.5 ล้านคน ตามข้อมูลของ DataReportal
ด้านโฆษก TikTok ออกมาเคลื่อนไหวตอบโต้มาตรการดังกล่าว
โดยให้ความเห็นว่า การเกิดขึ้นของ Social commerce มีเพื่อแก้ปัญหาการขายสินค้าในโลกจริง ให้กับผู้ค้ารายย่อย ด้วยการจับคู่ร้านค้ากับครีเอเตอร์ท้องถิ่นที่จะช่วยดึงดูด การเข้าชมร้านค้าออนไลน์ของพวกเขาได้
"ในขณะที่เราเคารพกฎหมายและข้อบังคับในท้องถิ่น เราหวังว่ากฎระเบียบจะคํานึงถึงผลกระทบต่อการดํารงชีวิตของผู้ขายมากกว่า 6 ล้านคนและ Affiliate creators เกือบ 7 ล้านคนที่ใช้ TikTok Shop"