ตัวเลข World Trade Monitor ล่าสุด ซึ่งเผยแพร่โดยสํานักวิเคราะห์นโยบายเศรษฐกิจของเนเธอร์แลนด์ หรือ CPB พบว่า ปริมาณการค้าโลกในเดือนกรกฎาคมหดตัวลงมากที่สุดในรอบสามปี สะท้อนถึงผลกระทบของอัตราดอกเบี้ยที่สูง ต่อความต้องการสินค้าทั่วโลก
ในเดือนกรกฎาคมปริมาณการค้าโลกลดลง 3.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี และหดตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 2.4% ในเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นการหดตัวมากที่สุดนับตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด ในเดือนสิงหาคม 2563
โดยปริมาณการส่งออกสินค้าของจีน ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก หดตัวลง 1.5% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตามมาด้วยสหภาพยุโรปที่ 2.5% และสหรัฐอเมริกาที่ 0.6%
ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ความต้องการสินค้าทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก แต่หลังการแพร่ระบาดพบว่าความต้องการสินค้าส่งออกสินค้าทั่วโลกชะลอตัวลงจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกในปี 2565 รวมถึงการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูบริการภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น หลังการยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์
ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อของ S&P Global บ่งชี้ว่า รายการสั่งซื้อสินค้าใหม่ในสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และสหราชอาณาจักร หดตัวลงอย่างรวดเร็วในเดือนสิงหาคมและเดือนกันยายน โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่า ปริมาณการส่งออกของสหภาพยุโรปจะทรงตัวในปีนี้ หลังจากที่เคยคาดการณ์ว่าจะมีการขยายตัวที่ระดับ 2% เมื่อต้นปี
แม้ว่าธนาคารกลางทั่วโลกจะส่งสัญญาณชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า แต่ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะลดอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบัน จนกว่าจะมีข้อมูลทางเศรษฐกิจเพียงพอที่บ่งชี้ว่าแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงสู่ระดับเป้าหมาย
ทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า สินเชื่อที่ยังคงตึงตัวจะสร้างแรงกดดันต่อภาคการส่งออกทั่วโลก
Ariane Curtis นักเศรษฐศาสตร์ระดับโลก และที่ปรึกษาของ Capital Economics กล่าวว่า
"ผลกระทบจากการชะลอตัวของอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง มีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่อความต้องการสินค้าบางประเภท และอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่ปริมาณการค้าโลกจะถึงจุดต่ำสุด"
โดยเฉพาะความต้องการนําเข้าสินค้า เช่น รถยนต์ ของตกแต่งบ้าน และสินค้าทุน จะมีการหดตัวลงมากที่สุด
Mohit Kumar นักเศรษฐศาสตร์ของ Jefferies บริษัทผู้ให้บริการทางการเงิน กล่าวว่า การค้ามีแนวโน้มที่จะเป็นไปตามแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก และคาดว่าประเทศเศรษฐกิจหลักจะเกิดการชะลอตัวในไตรมาสที่จะมาถึง นอกจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอแล้ว ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ ยังเป็นปัจจัยที่ซ้ำเติมการหดตัวของการค้าโลกอีกด้วย.
อ้างอิง