เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2566 ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงานญี่ปุ่น ได้ประกาศแผนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 1,002 เยนต่อชั่วโมง (ประมาณ 240 บาท) โดยจะมีผลบังคับใช้ในเดือนตุลาคมนี้
ปัจจุบันฐานค่าแรงขั้นต่ำของญี่ปุ่นอยู่ที่ 961 เยน (ประมาณ 230 บาท) หากแผนการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะทำให้ค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น 41 เยน (ประมาณ 10 บาท) ส่งผลให้ค่าแรงขั้นต่ำโดยเฉลี่ยทั้งประเทศสูงกว่า 1,000 เยน เป็นครั้งแรก และนับเป็นการขึ้นค่าแรงมากที่สุดที่ 4.3% นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2534
ฟูมิโอะ คิชิดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น กล่าวว่า "เราจะดำเนินนโยบายเพื่อช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเพิ่มผลิตภาพ และส่งต่อต้นทุนแรงงานให้มีค่าจ้างสูงขึ้น ขยายไปยังธุรกิจขนาดเล็ก"
การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อในภาคครัวเรือน กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ นำไปสู่การสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยคาดว่าจะสามารถผลักดันค่าจ้างโดยเฉลี่ยให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในภาคบริการที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานอย่างต่อเนื่อง แต่แผนการดังกล่าวอาจเพิ่มแรงกดดันในการทำกำไรสำหรับธุรกิจในภาคส่วนนี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังทำให้แรงงานในญี่ปุ่นกว่า 25 ล้านคน หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของแรงงานถูกกฎหมายทั้งหมดมีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า หรือเท่ากับ 1,000 เยนต่อชั่วโมง
ในช่วงที่ผ่านมาญี่ปุ่นต้องเผชิญกับแรงกดดันด้านเงินเฟ้ออย่างหนัก สะท้อนผ่านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ปรับตัวขึ้น 3% ตั้งแต่เดือนกันยายนปีที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 3.3% ในเดือนมิถุนายน ในขณะที่อัตราค่าจ้างที่แท้จริงในเดือนมิถุนายนหดตัวเป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน ส่งผลให้สหภาพแรงงานญี่ปุ่นต้องรับประกันการขึ้นค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดในรอบ 30 ปี ที่ 3.58% กดดันให้คณะกรรมาธิการกระทรวงแรงงานตัดสินใจปรับขึ้นค่าแรง โดยหวังว่าจะสามารถขยายผลการขึ้นค่าแรงดังกล่าวไปยังบริษัทที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสหภาพแรงงานญี่ปุ่นได้.
อ้างอิง