สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CNCPI) ในเดือนมิถุนายนลดลงเหลือ 0% เทียบเท่ากับปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564
ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งไม่รวมต้นทุนราคาอาหารและพลังงาน ชะลอลงเหลือ 0.4% ด้านดัชนีราคาผู้ผลิต (CHEFT) ลดลง 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยระดับอัตราเงินเฟ้อดังกล่าวถือเป็นอัตราการลดลงที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558
ผลที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ตอกย้ำความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินฝืดที่ถ่วงความเชื่อมั่นการเติบโตทางเศรษฐกิจ และกระตุ้นความความคาดหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาดัชนีราคาผู้ผลิตที่ลดลงเป็นผลมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอุปสงค์ที่ลดลงทั้งในและต่างประเทศ โดยหากผู้บริโภคและภาคธุรกิจยังจำกัดจากการใช้จ่ายหรือการลงทุน เพื่อหวังให้ราคาสินค้าปรับตัวลงอีก อาจนำไปสู่ปรากฏการณ์ self-fulfilling price dropping spiral
ปัจจัยสำคัญที่ฉุดดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนที่แล้ว คือ ราคาเนื้อหมู ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักของอาหารจีน โดยราคาเนื้อหมูในเดือนมิถุนายนลดลงกว่า 7.2% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และราคาลดลงมากกว่าในเดือนพฤษภาคมซึ่งอยู่ที่ 3.2% ส่งผลให้รัฐบาลจีนพยายามที่จะเข้ามาควบคุมราคาเนื้อหมูให้กลับมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ด้วยการรับซื้อเนื้อหมูเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศ นอกจากนี้ยังได้รับผลจากการการลดลงของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ระหว่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องของต้นทุนราคาน้ำมันและถ่านหิน ยังเป็นปัจจัยหนุนภาวะเงินฝืดของดัชนีราคาผู้ผลิต
โดยสัปดาห์ที่แล้ว Li Qiang นายกรัฐมนตรีจีน ได้หารือร่วมกับนักเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น และเน้นย้ำว่านโยบายต่างๆ จะต้องตรงเป้าหมาย ครอบคลุม รวมถึงมีการประสานงานที่ดี ซึ่งเป็นการตอกย้ำความคาดหวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมาจะไม่ส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยมีปัจจัยจำกัดประการหนึ่งคือภาระหนี้สินที่สูงขึ้นของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเป็นปัจจัยที่ขับเคลื่อนการเติบโตการใช้จ่ายในประเทศ.
อ้างอิง