ในวันที่คนเงินสดเต็มมือ แต่ทำไมเศรษฐกิจจีนโตช้าลง

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ในวันที่คนเงินสดเต็มมือ แต่ทำไมเศรษฐกิจจีนโตช้าลง

Date Time: 9 มิ.ย. 2566 17:10 น.

Video

เศรษฐกิจไทย เสี่ยงวิกฤติหนักแค่ไหน เมื่อต้องเปลี่ยนนายกฯ | Money Issue

Summary

  • แม้ทั่วโลกจะฝากความหวังให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนช่วยดึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีนี้ให้ดีขึ้น แต่ข้อมูลเศรษฐกิจในเดือนเมษายน พบว่า เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวไม่สมดุล ส่งผลให้เงินจะไม่ไหลเข้าสู่เศรษฐกิจอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นอุปสรรคให้เศรษฐกิจจีนเติบโตช้าลง โดยมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ กับดักสภาพคล่อง, ความเสี่ยงจากหนี้สินที่เพิ่มขึ้นและความต้องการใช้จ่ายในประเทศลดลง

Latest


แม้ทั่วโลกจะฝากความหวังให้การเติบโตของเศรษฐกิจจีนช่วยดึงภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีนี้ให้ดีขึ้น หลังจากที่ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2566 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนขยายตัวสูงกว่าคาดที่ 4.5% หลังยกเลิกมาตรการควบคุมโควิด ซึ่งสูงกว่า 4% ที่นักวิเคราะห์คาดไว้ และมีแนวโน้มการเติบโตที่สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่กำหนดการเติบโต GDP ปีนี้ไว้ที่ 5%


แต่ข้อมูลเศรษฐกิจเชิงลบจำนวนมากในเดือนเมษายน พบว่า ภาคการผลิตมีการหดตัวลงกะทันหันและยอดการค้าปลีกที่ต่ำกว่าการคาดการณ์ ซึ่งบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล จากภาคการผลิตที่ฟื้นตัวช้ากว่าภาคการบริโภค ส่งผลให้เงินจะไม่เข้าสู่เศรษฐกิจที่แท้จริง แต่เป็นเพียงการหมุนเวียนภายในระบบการเงินเท่านั้น โดยมีสาเหตุมาจาก 3 ปัจจัยหลัก


กับดักสภาพคล่อง


เมื่อพิจารณาจากตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่น่าเป็นห่วง ทำให้หลายฝ่ายกังวลถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิด "กับดักสภาพคล่อง" ที่ผู้บริโภคและนักลงทุนกักตุนเงินสดแทนที่จะใช้จ่ายหรือลงทุน ซึ่งเป็นการลดผลกระทบของการผ่อนคลายนโยบายการเงิน


แม้จะมีการผ่อนคลายนโยบายทางการเงินอย่างต่อเนื่อง แต่เศรษฐกิจกลับมีความต้องการสินเชื่อไม่เพียงพอ คนจีนกล้าเสี่ยงกับการลงทุนน้อยลง จากภาวะตกต่ำของตลาดอสังหาริมทรัพย์และการคาดการณ์รายได้ที่ซบเซาส่งผลให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเติบโตอย่างอ่อนแอ


ธุรกิจเอกชนยังขาดความกระตือรือร้นในการขยายการลงทุน และสินเชื่อจำนวนมากถูกจัดสรรให้กับหน่วยงานภาครัฐ ทำให้ทั้งบริษัทเอกชนและรัฐวิสาหกิจรวมถึงรัฐบาลท้องถิ่น กำลังใช้เงินทุนดังกล่าวเพื่อชำระหนี้และชำระดอกเบี้ย ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติที่กำลังขยายเป็นวงกว้าง 


อีกทั้งธุรกิจบางแห่งไม่ได้ใช้เงินกู้ที่ได้รับจากธนาคารเพื่อขยายการผลิต แต่นำเงินไปลงทุนในผลิตภัณฑ์การบริหารความมั่งคั่งหรือการออมแทน ส่งผลให้เกิดการจำกัดผลกระทบของการขยาย M2 ต่อการกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยอ้างจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ซึ่งลดลงจากระดับเป็นกลาง 50.0 ในเดือนมีนาคม เป็น 49.5 ในเดือนเมษายน แสดงถึงการชะลอตัวของภาคการผลิตในรอบสามเดือน 


หลังจากที่ข้อมูลในเดือนเมษายนบ่งชี้ว่าการฟื้นของเศรษฐกิจจีนตัวชะลอตัวลง ความคาดหวังของตลาดที่มีต่อรัฐบาลในการออกนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจก็เพิ่มขึ้นตาม ตัวอย่างเครื่องมือนโยบายเหล่านี้ ได้แก่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย การให้กู้ยืมเสริมแบบจำนำ (PSL) และตราสารทางการเงินที่ขับเคลื่อนด้วยนโยบาย จึงมีข่าวลือว่าจีนจะออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษมูลค่า 5 ล้านล้านหยวน (7.06 แสนล้านดอลลาร์) เพื่อกระตุ้นการเติบโต


ตามรายงานของ Jiemian News Wang Xiaolu รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติภายใต้การพัฒนาแห่งชาติและคณะกรรมการปฏิรูปกล่าวว่า การผสมผสานระหว่างนโยบายการคลังและนโยบายการเงินสามารถมีบทบาทในการกระตุ้นอุปสงค์ได้ทั้งหมด แต่เนื่องจากอุปสงค์มีลักษณะเชิงโครงสร้าง และปัญหาหลักที่จีนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ อุปสงค์ของผู้บริโภคไม่เพียงพอ การผ่อนคลายมาตรทางการเงินเพื่อกระตุ้นการลงทุนเป็นหลัก อาจส่งผลให้โครงสร้างอุปสงค์ไม่สมดุลมากขึ้น และเกิดการขยายตัวของหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้


ดังนั้นปัญหาอุปสงค์ไม่เพียงพอ จึงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยนโยบายระยะสั้นเพียงอย่างเดียว แต่ต้องแก้ปัญหาเชิงสถาบันที่ฝังลึกมานานด้วย ตัวอย่างเช่น ความขาดแคลนในด้านที่อยู่อาศัย การประกันการว่างงาน การประกันเงินบำนาญและการดูแลสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประชากรที่มีรายได้ปานกลางและต่ำ รวมถึงแรงงานอพยพในเขตเมือง 


หากสามารถแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ทันท่วงที ไม่เพียงแต่สภาพความเป็นอยู่ของกลุ่มคนเหล่านี้จะดีขึ้นและเพิ่มความเท่าเทียมทางสังคมเท่านั้น แต่ยังสามารถกระตุ้นการบริโภคได้อีกด้วย


ความเสี่ยงจากหนี้สินที่เพิ่มขึ้น


ตามรายงานของสถาบันการเงินและการพัฒนาแห่งชาติ (NIFD) ของจีน พบว่า อัตราส่วนเงินกู้ขององค์กรที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 167% ณ สิ้นเดือนมีนาคม แต่บริษัทต่างๆ ไม่ได้นำเงินที่กู้ยืมมาทั้งหมดไปใช้ในการลงทุนเพื่อขยายธุรกิจ แต่กลับใช้เงินส่วนใหญ่ไปกับการชำระหนี้คงค้าง เนื่องจากรายได้และกำไรที่ลดลง 


Yan Yan ประธานและซีอีโอของบริษัท China Chengxin International Credit Rating กล่าวในงานสัมมนา แนวโน้มความเสี่ยงด้านเครดิตที่จัดขึ้นเมื่อปีที่แล้วว่า ความเสี่ยงด้านหนี้สินเป็นหนึ่งในความท้าทายหลักในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของจีนโดยกว่า 14% ของ GDP ถูกใช้ไปกับการชำระดอกเบี้ยหนี้


รัฐบาลท้องถิ่นซึ่งเป็นแหล่งเงินทุนสำคัญ สำหรับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ก็ต้องเผชิญกับการจ่ายดอกเบี้ยที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยในปี 2565 รัฐบาลท้องต้องจ่ายดอกเบี้ยผลตอบแทนจากการออกพันธบัตร เพิ่มขึ้นมากกว่า 20% คิดเป็นเงิน 1.12 ล้านล้านหยวน และหากพิจารณาหนี้ที่ซ่อนเร้นผ่านการออกพันธบัตร โดยหน่วยงานจัดหาเงินทุนของรัฐบาลท้องถิ่น (LGFV) และหน่วยงานอื่นๆ จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันในการชำระดอกเบี้ย และหนี้สินเหล่านี้ถูกประเมินว่ามีมูลค่าเกือบ 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณสองเท่าของ GDP ญี่ปุ่น

ความต้องการใช้จ่ายในประเทศลดลง


ปัญหาที่ใหญ่ที่สุดที่ขัดขวางการเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน คือ อุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนแอลง จากข้อมูลในเดือนเมษายนพบว่า ยอดการค้าปลีกเติบโตต่ำกว่าการคาดการณ์ที่ 18.4% จากตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ที่ 21.9% ดังนั้นการฟื้นฟูและขยายตัวอุปสงค์ภายในประเทศ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจปัจจุบันอย่างยั่งยืน ตามแถลงการณ์การประชุมสำนักการเมืองของ คณะกรรมการกลางเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา


ระหว่างการประชุมหนึ่งในข้อเสนอแนะที่ถูกพูดถึงมากที่สุด คือ การลดอัตราดอกเบี้ย แล้วเพื่อเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ แต่ Sheng Songcheng อดีตหัวหน้าแผนกสถิติและวิเคราะห์ ของธนาคารประชาชนจีนให้ความเห็นว่า ผลกระทบของนโยบายการเงินมีจำกัดการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่นั้นเป็นไปไม่ได้ และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย ก็ไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน 


ถึงแม้ว่าการลดอัตราดอกเบี้ยจะกระตุ้นให้ภาคครัวเรือนนำเงินไปลงทุน ในผลิตภัณฑ์บริหารความมั่งคั่ง ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงแทนที่จะนำเงินไปใช้จ่ายทั่วไป แต่ธุรกิจส่วนใหญ่ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงและ ผลตอบแทนที่เหมาะสม ดังนั้นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียงเล็กน้อย จึงแทบจะไม่ส่งกระทบต่อการตัดสินใจลงทุน 


ด้วยผลกระทบที่จำกัดของนโยบายกระตุ้นทางการเงิน ทำให้ข้อเสนอแนะให้รัฐบาลเพิ่มการกู้เงิน เพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศถูกเสนอขึ้นมา โดยสภาแห่งรัฐซึ่งเป็นคณะรัฐมนตรีของจีน ได้กำหนดอัตราส่วนการขาดดุลต่อ GDP ไว้ที่ 3% ในปี 2566 ซึ่งสูงกว่าในปี 2565 ร้อยละ 0.2 แต่การกู้ยืมที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นผ่านการออกพันธบัตรวัตถุประสงค์พิเศษ ของรัฐบาลท้องถิ่นมากกว่าพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลกลาง ซึ่งอาจทำให้กระทรวงการคลัง พิจารณายกเลิกข้อจำกัดอัตราส่วนการขาดดุลเดิมที่ 3% พร้อมลดสัดส่วนการออกพันธบัตรพิเศษ ของรัฐบาลท้องถิ่น และเพิ่มการออกพันธบัตรระดับชาติกับพันธบัตรทั่วไปของรัฐบาลท้องถิ่น


อย่างไรก็ตาม นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจได้แสดงความกังวลว่าการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ระยะสั้นเพียงอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาอุปสงค์ไม่เพียงพอได้ และจำเป็นต้องมีการปฏิรูปนโยบายเศรษฐกิจ ทั้งในระยะกลางและระยะยาว รวมถึงเสนอแนะให้รัฐบาลจีน เร่งรักษาความเชื่อมั่นการลงทุนกับองค์กรเอกชนและนักลงทุนต่างชาติ ผ่านการชี้แจงเกี่ยวกับหลักนิติธรรม การปรับปรุงสภาพแวดล้อมการลงทุน การปกป้องสิทธิในทรัพย์สิน และเพิ่มการลงทุน ในโครงสร้างพื้นฐานและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีหลัก

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ