เศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น อาจโดนหางเลข หากสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ 1 มิ.ย.นี้

Economics

World Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

เศรษฐกิจจีนและญี่ปุ่น อาจโดนหางเลข หากสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ 1 มิ.ย.นี้

Date Time: 27 พ.ค. 2566 17:33 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • เหลือเวลาอีกประมาณ 4 วัน ก่อนถึงกำหนดการชำระหนี้แต่สหรัฐฯ ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้ได้ ทำให้หลายฝ่ายออกมาเตือนถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลก โดยจีนและญี่ปุ่นอาจประเทศเป็นที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด

Latest


เหลือเวลาอีกประมาณ 4 วัน ก่อนสหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้สาธารณะในวันที่ 1 มิถุนายน ตามคำเตือนของรัฐมนตรีคลัง Janet Yellen แต่ประธานาธิบดี Joe Biden และพรรครีพับลิกัน ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงขยายเพดานหนี้ได้ ทำให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แสดงความกังวลและออกมาเตือนถึงผลกระทบจากการผิดนัดชำระหนี้ที่จะสร้างหายนะทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกอยู่ในสภาวะถดถอย ตลอดจนสั่นคลอนความเชื่อมั่นของดอลลาร์ ในฐานะสกุลเงินหลักของโลก อีกทั้งยังส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก เนื่องจากพันธบัตรสหรัฐฯ เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยที่มีการถือครองมากที่สุดในโลก โดยมีการถือครองโดยประเทศจีนและญี่ปุ่นมากที่สุด

จากการรวบรวมข้อมูลของสำนักข่าว CNN พบว่า จีนและญี่ปุ่นเป็นสองประเทศที่มีการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ มากที่สุด ถือได้ว่าเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของรัฐบาลสหรัฐฯ โดยมีมูลค่ารวมกันประมาณ 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 1 ใน 4 ของมูลค่าการถือครองพันธบัตรโดยต่างประเทศทั้งหมดที่ 7.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในอดีตจีนเคยเป็นผู้ถือครองพันธบัตรรัฐบาลรายใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ มามากกว่า 1 ทศวรรษ แต่ด้วยความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนและสหรัฐฯ ในรัฐบาลของประธานาธิบดี Donald Trump ทำให้ในปี 2562 จีนลดสัดส่วนการถือครองพันธบัตรลง ญี่ปุ่นจึงกลายเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ที่สุดแทน

โดยปัจจุบัน ญี่ปุ่นถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มูลค่าทั้งหมด 1.1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่จีนถือครองมูลค่า 870 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ การถือครองพันธบัตรจำนวนมาก จะเพิ่มความเสี่ยงให้ทั้งสองประเทศได้รับความเสียหายจากมูลค่าพันธบัตรที่ลดลงหากสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้

Josh Lipsky และ Phillip Meng นักวิเคราะห์จาก Atlantic Council's GeoEconomics Center มองว่า มูลค่าของพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ลดลง จะนำไปสู่การลดลงของทุนสำรองระหว่างประเทศของญี่ปุ่นและจีน ส่งผลให้ทั้งสองประเทศ มีเงินน้อยลงสำหรับการชำระค่าสินค้านำเข้าที่จำเป็น การชำระหนี้ต่างประเทศ รวมถึงความสามารถในการประคับประคองสกุลเงินในประเทศ

อย่างไรก็ตาม “ความเสี่ยงที่แท้จริง” ที่ต้องจับตาดูหากสหรัฐฯ ผิดนัดชำระหนี้ คือผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจถดถอย ของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเรื่องน่ากังวลสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีนที่มีความเสี่ยงเป็นพิเศษ ต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจซึ่งมีความเปราะบาง

หลังจากที่จีนประกาศยกเลิกมาตรการ zero covid เมื่อปลายปีที่แล้ว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศเติบโตอย่างรวดเร็ว จนผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจต่างพากันคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตมากกว่า 5% ซึ่งจะช่วยพยุงภาพรวมเศรษฐกิจโลกให้ดีขึ้น แต่ปัจจุบันจีนกำลังเผชิญปัญหาการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ เนื่องจากภาคการบริโภค การลงทุน และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมส่งสัญญาณชะลอตัว แรงกดดันจากภาวะเงินฝืดแย่ลง จากดัชนีราคาผู้บริโภคที่คงที่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ประกอบกับอัตราการว่างงานที่สูงขึ้นในเด็กจบใหม่ ซึ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 20.4% ในเดือนเมษายน

ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจของญี่ปุ่นก็เพิ่งส่งสัญญาณฟื้นตัวจากความซบเซาและภาวะเงินฝืด หลังจากติดหล่มกับปัญหาดังกล่าวมานานหลายทศวรรษ

ด้าน Marcus Noland รองประธานบริหารและผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาของ Peterson Institute for International Economics ให้ความเห็นว่า แม้จะมีความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้น แต่สหรัฐฯ ยังคงเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดเพียงรายเดียวของจีน และเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสองของญี่ปุ่น โดยในปี 2565 ที่ผ่านมา มูลค่าการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีนพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 691 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 10%

“ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัว ผลกระทบจะถูกส่งผ่านการค้า กดดันการส่งออกของจีนไปยังสหรัฐฯ และส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัว” Noland กล่าว

อ้างอิง


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ