นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย กล่าวถึงความทันสมัยของจีนจะสะท้อนความเจริญของเพื่อนบ้านและทั่วโลกในวาระครบรอบ 10 ปี BRI หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ในงานสัมมนา "จีนร่วมสมัยกับโลก การเแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน" ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม
"BRI ไม่ได้เป็นเพียงเส้นทางการค้าแต่ยังเป็นเส้นทางแห่งมิตรภาพ เป็นสัญลักษณ์ในประวัติศาสตร์ที่สะท้อนการพัฒนาร่วมกันของทั้ง 151 ประเทศ และ 32 องค์กรระหว่างประเทศตลอดเส้นทาง เกิดโครงการมากกว่า 3,000 โครงการ ขับเคลื่อนมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ"
ช่วงสิบปีที่ผ่านมา ความร่วมมือระหว่างจีนและไทยได้สร้างเชื่อมต่อระหว่างนโยบายอย่างรอบด้าน ภายใต้ BRI ประสบความสำเร็จมากมาย สร้างระบบเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการเดินทางเยือนไทยของประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง เพื่อเข้าร่วมการประชุม APEC เมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามในแผนความร่วมมือระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการร่วมส่งเสริมเส้นทางสายไหมแห่งศตวรรณที่ 21 อันเป็นการร่วมกันเขียนพิมพ์เขียวเพิ่มเติมในด้านโครงสร้างพื้นฐาน โครงการรถไฟไทยจีนที่ปัจจุบันกำลังอยู่ในระยะสอง ซึ่งคาดว่าจะเสร็จในปี 2571 และจะลดต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างจีนไทยลาวถึง 30-50% ภายใน 3-5 ปี
นายหานกล่าวว่า จีนเป็นหนึ่งในแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศของไทยมาโดยตลอด และเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของไทยต่อเนื่อง 10 ปี สร้างมูลค่าไปกว่า 1.35 แสนล้านดอลลาร์หรือราว 4 ล้านล้านบาท โดย EEC มีการลงทุนกว่า 4.3 พันล้านดอลลาร์หรือประมาณ 1.4 แสนล้านบาท มีบริษัทจีนตั้งอยู่ประมาณ 180 บริษัท ตัวเลขการจ้างงานใหม่เพิ่มกว่า 45,000 ตำแหน่ง อีกทั้งธนาคารกลางทั้งสองประเทศยังได้ลงนามต่ออายุสัญญาแลกเปลี่ยนสกุลเงินท้องถิ่นจัดตั้งบัญชีรับฝากเงินหยวน เชื่อมโยงการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างพรมแดน โดยนักธุรกิจจีนรุ่นใหม่ยังมีความต้องการเข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง
"อนาคตหวังที่จะเห็นไทยและจีนภายใต้หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางที่เป็นรูปธรรม ภายใต้หลักการร่วมหารือ ร่วมสร้างและร่วมรับประโยชน์ จีนจะส่งเสริมไทยในด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ คลาวด์ อีคอมเมิร์ซ และโมเดลเศรษฐกิจดิจิทัล เพิ่มการหารือเพื่อเชื่อมโยงทางยุทธศาสตร์เชิงลึกมากยิ่งขึ้นท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในยุคนี้"
งานสัมมนาในครั้งนี้ยังมีหน่วยงานร่วมจัดและสนับสนุนจำนวนมาก อาทิ สภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน พร้อมด้วยตัวแทนภาคธุรกิจและภาคการศึกษาร่วมเสวนาในหัวข้อ "การแลกเปลี่ยนระหว่างคนรุ่นใหม่ไทย-จีน" พิธีมอบรางวัลการแข่งขันเรียงความ "แพนด้าสันถวไมตรี" และพิธีนำเสนอผลงานวิจัยจากสถาบันวิจัยประเทศจีนและโลกร่วมสมัย (ACCWS) โดยมีหน่วยงานร่วมจัดและสนับสนุนจำนวนมาก อาทิ สภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์ ศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน พร้อมด้วยตัวแทนภาคธุรกิจ ผู้แทนจากคลังสมองสำนักงานวิจัยแห่งชาติ สมาชิกจากสมาคมมิตรภาพไทย-จีน สมาคมการค้าการลงทุนจีนในไทย ภาคการศึกษา ตลอดจนสื่อมวลชนไทยและจีน