ประธานาธิบดีโจ ไบเดนเตรียมออกคำสั่งพิเศษโดยตรงจากประธานาธิบดี (Executive order) ที่ไม่ต้องผ่านการรับรองจากสภา เพื่อจำกัดการลงทุนที่มีส่วนสำคัญในเศรษฐกิจจีนในอีกไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า โดยเตรียมเปิดเผยแผนดำเนินการกับกลุ่มสมาชิก G-7 เพื่อให้รองการสนับสนุนการควบคุมดังกล่าวในการประชุมสุดยอดซึ่งจะเริ่มขึ้นขึ้นในวันที่ 19-21 พฤษภาคมนี้ที่ประเทศญี่ปุ่น การควบคุมครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อปิดกั้นเงินทุนและองค์ความรู้ที่สำคัญที่อาจพัฒนาขีดความสามารถของจีน
ปี 64 การลงทุนโดยรวมของธุรกิจในจีนของสหรัฐฯ มีมูลค่าสะสมราว 120,000 ล้านดอลลาร์ สัดส่วนลงทุนในภาคการผลิตมากที่สุดอยู่ที่ 14.6 พันล้านดอลลาร์ ตามรายงานของสำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ แหล่งข่าวที่ใกล้ชิดเปิดเผยกับสำนักข่าว Bloomberg ว่า สหรัฐฯ เพ่งเล็งไปที่การลงทุนอุตสาหกรรมไฮเทค โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ควอนตัม และ AI
โดยเน้นไปที่การลงทุนของบริษัทสหรัฐฯ ที่มีบทบาทอย่างแข็งขันในการบริหารจัดการ ซึ่งรวมถึงเงินร่วมลงทุนและทุนส่วนตัว รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีและการร่วมทุน โดยการลงทุนบางประเภทจะถูกระงับทันที ในขณะที่บางประเภทจะกำหนดให้บริษัทต้องแจ้งรัฐบาลก่อน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการร่างคำสั่งระบุว่า คำสั่งดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่การลงทุนใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ไม่ใช่คำสั่งที่มีอยู่แล้ว
การห้ามไม่ให้บริษัทอเมริกันขายเทคโนโลยีขั้นสูงบางอย่างโดยตรงให้กับจีนถูกต่อต้านจากกลุ่มอุตสาหกรรมและะธุรกิจอเมริกันที่ค้าขายกับจีนที่มองว่าอาจส่งผลกระทบย้อนกลับมายังเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขัน ทำให้บริษัทสหรัฐไม่สามารถรับประโยชน์จากนวัตกรรมของจีนได้ ขณะที่จีนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นๆ มากมายทั่วโลก อย่างไรก็ตามยังมีบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการลงทุนขนาดใหญ่ในจีนและแสดงสัญญาณว่าจะอยู่ต่อไปในระยะยาว
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนถึงการต่อต้านจีนที่เข้มข้นยิ่งขึ้น ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ ออกมาตรการกีดกันทางการค้า กำหนดอัตราภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าจากจีน ในช่วงอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ที่ทำให้เกิดสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และล่าสุดพยายามที่จะจำกัดการส่งออกเทคโนโลยีที่สำคัญของอเมริกาผ่าน United States Chips and Science Act (ลงนาม 9 ส.ค. 2022) ตลอดจนการอัดฉีดกระตุ้นอุตสาหกรรมและดึงดูดการลงทุนขนานใหญ่สู่สหรัฐฯ ด้วยนโยบาย เพื่อยึดส่วนแบ่งตลาดและลดต้นทุนการผลิตสำหรับห่วงโซ่อุปทาน
ความตึงเครียดทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่การรุกรานยูเครนของรัสเซีย ซึ่งเป็นความขัดแย้งที่สหรัฐฯ เข้ามีบทบาทสำคัญ จีนใช้จังหวะดังกล่าวเปิดเกมรุกในระบบเศรษฐกิจกับประเทศที่เป็นขั้วตรงข้ามความขัดแย้ง ถึงแม้จะไม่ถึงขั้นดำเนินไปสู่สงครามเย็นครั้งใหม่ แต่ก็ถือได้ว่าสร้างรอยร้าวเพิ่มในเศรษฐกิจโลกให้แตกแยกเป็นคู่แข่งกัน
ปัจจุบันกระแสเงินทุนระหว่างสองประเทศเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดนี้ดำเนินมาจุดที่ตึงตัวและบีบบังคับให้ทั้งสองประเทศหลีกเลี่ยงความขัดแย้งให้มากที่สุด ประเด็นดังกล่าวยังถูกจับตาโดยรัฐสภา เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง เน้นย้ำว่า สหรัฐฯ จะดำเนินการตามข้อกังวลด้านความมั่นคงเกี่ยวกับจีนและยอมรับต้นทุนทางเศรษฐกิจที่อาจเสียไป เพื่อปกป้องผลประโยชน์ด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ
อ้างอิง Bloomberg , New York Times