สถิติชี้ให้เห็นว่า จีน กำลังเปลี่ยนผ่าน โดยลดสถานะจากการเป็น ‘โรงงานโลก’ เพื่อก้าวสู่สถานะ ‘เจ้าตลาดแห่งนวัตกรรมอุบัติใหม่’
ย้อนกลับไปปี 2558 จีนประกาศนโยบาย Made in China 2025 เพื่อให้เปลี่ยนภาพจำต่อทั่วโลก จากเดิมที่มักจะมองคำนี้เป็น 'แหล่งโรงงาน' แต่การประกาศครั้งนี้กลับหมายถึง ‘แหล่งนวัตกรรมโลก’ โดยจีนจะระดมสร้างงานวิจัย R&D สร้างบุคลากรให้มีทักษะและความเชี่ยวชาญสูงขึ้นในสายการผลิต ยกระดับการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำอุตสาหกรรมระดับโลก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเกิดใหม่ (Emerging Industries) ดึงดูดเม็ดเงินต่างชาติให้เข้ามาลงทุนใช้พื้นที่และทรัพยากรในประเทศ
แน่นอนว่าขนาดตลาดที่ใหญ่พร้อมด้วยกำลังซื้อของประชากรทำให้จีนเป็นที่ต้องตาต้องใจของผู้นำด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ระดับโลก โดยมีข้อแม้เล็กๆ พ่วงตามมา นั่นก็คือ แลกเปลี่ยนวิทยาการกับสถานที่ผลิต โรงงานตะวันตกต้องเว้นที่ให้คนจีนเข้าไปทำงานและเก็บเกี่ยวทักษะความรู้
อย่างไรก็ตามเมื่อโลกดำเนินไป การแข่งขันตลอดจนความขัดแย้งทางการค้า ระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ได้ส่งผลต่อธุรกิจที่มีการผลิตและซัพพลายเออร์ในจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ สหรัฐฯ บังคับใช้นโยบายการค้าควบคุมการส่งออกที่เข้มงวดกับจีนในปี 2561 ภายใต้รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์จนเปิดฉากสงครามการค้า ที่กระตุ้นให้นักลงทุนประเมินความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ใหม่
ต่อเนื่องยังปี 2563 รัฐบาลโจ ไบเดนได้สานต่อนโยบายการค้าที่แข็งกร้าว คว่ำบาตรเศรษฐกิจเล่นแง่ทางภาษี จำกัดการส่งออกชิ้นส่วนเทคโนโลยีสำคัญไปยังผู้ผลิตที่อยู่ในจีน แถมชักชวนพันธมิตรตะวันตกให้กระทำเช่นเดียวกัน
ปีต่อมา ธุรกิจเจ้าใหญ่ เช่น Google, Apple, Microsoft, Foxconn, Intel, TSMC, Tesla ประกาศลดปริมาณส่วนประกอบที่ ‘ผลิตในจีน’ ในผลิตภัณฑ์ของตน และส่งสัญญาณการถอนการผลิตจากจีนชัดเจนขึ้น
โดยมีปัจจัยเร่งสำคัญ คือ การแพร่ระบาดโควิด ที่ต่อเนื่องด้วยสงครามรัสเซีย-ยูเครนในปี 2565 ทำให้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ขาดแคลนต่อเนื่องร้ายแรงยิ่งขึ้น กอปรกับการแพร่ระบาดระลอกสองและสามที่ จีน ปิดเมืองพร้อมด้วยนโยบาย 'Zero Covid' ได้หยุดชะงักภาคการผลิตที่ซ้ำเติมไม่ธุรกิจยากจะฟื้นตัวกลับมาในระดับเดิม
ความไม่แน่นอนข้างต้น ทำให้บรรดาบริษัทข้ามชาติ จำเป็นต้องหาวิธีป้องกันความเสี่ยงทางธุรกิจอย่างเร่งด่วน ด้วยการเพิ่มความยืดหยุ่นการจัดหาวัตถุดิบ เพิ่มแหล่งผลิตคู่ขนาน บ้างหันกลับมาพึ่งพาภาคการผลิตในประเทศตนเอง หนีการรวมศูนย์การผลิตไว้ที่ จีน เพียงแห่งเดียว
สถิติ ระบุ ปี 2565 อัตราการส่งออกของจีนลดลง 9.9% ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี ปริมาณการขนส่งตู้สินค้า TEU หรือ ตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งมีขนาดความยาว 20 ฟุตจากจีนไปยังสหรัฐฯ เพื่อกระจายสินค้าสู่ตะวันตกยังลดลงไปกว่า 21% โดยเฉพาะฐานสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น อาหาร เฟอร์นิเจอร์ เครื่องแต่งกาย รองเท้า สินค้าสำหรับการเดินทาง กระเป๋าถือ แร่ธาตุสำคัญ เทคโนโลยีขั้นสูงตลอดจนเทคโนโลยีระดับรองให้กับเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีการเติบโตทางเศรษฐกิจที่กำลังพัฒนาดันมูลค่าเพิ่มทางการผลิตให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ ขึ้นตามลำดับ โดยมี 5 ประเทศที่ถูกจับตาให้เป็นแหล่งผลิตต่อไป ได้แก่ เวียดนาม อินเดีย ไทย มาเลเซีย บังกลาเทศ
เมื่อหลากธุรกิจประกาศย้ายออกจากจีนเพื่อความมั่นคงทางธุรกิจ จีน ได้รับผลกระทบอะไรหรือไม่?
คำตอบจากนักวิเคราะห์หลายแห่งให้ความเห็นว่า จีนยังคงเป็นศูนย์กลางของเครือข่ายอิเล็กทรอนิกส์ในเอเชียแปซิฟิก ซึ่งการครอบงำห่วงโซ่อุปทานของจีนหลายปีที่ผ่านมาได้สนับสนุนรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ นอกเหนือจากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ซึ่งถูกถอนการผลิตเป็นส่วนใหญ่ จีนยังได้รับอานิสงส์จากธุรกิจเครื่องแต่งกาย เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น
จีนมีแรงงานทักษะสูง การเติบโตของตลาด กำลังการผลิตที่สามารถรองรับความต้องการสำหรับอุปกรณ์ และอีกหนึ่งความจริงที่ว่า การตรวจสอบบริษัทเทคโนโลยีทั้งในและต่างประเทศก็ทวีความรุนแรงขึ้นในจีน รัฐบาลค่อยๆ เพิ่มการควบคุมอุตสาหกรรมเทคโนโลยี สภาพแวดล้อมการทำงานที่ยากขึ้นได้ผลักดันบริษัทเทคโนโลยีสหรัฐฯ ออกจากจีน ขณะเดียวกันที่ในระยะยาวไม่อาจแย่งตลาดผู้ใช้จากบริษัทเทคโนโลยีในท้องถิ่นอย่าง Didi, Alibaba, JD.com ได้ อีกนัยหนึ่ง ฝั่งเทคโนโลยีและผู้ผลิตจีนนั้นแข็งแกร่งขึ้นอย่างต่อเนื่องนั่นเอง
ผลการสำรวจล่าสุดจาก The Australian Strategic Policy Institute (ASPI) ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เปิดเผยว่า จีน กำลังขึ้นแท่นเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยที่อิทธิพลสูงมากถึง 37 ประเภทจากทั้งหมด 44 ประเภทโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมวดหมู่ด้านเทคโนโลยีสำคัญๆ และเทคโนโลยีอุบัติใหม่ อาทิ เทคโนโลยีการป้องกันประเทศ อวกาศ วิทยาการหุ่นยนต์ พลังงาน สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีชีวภาพ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีควอนตัมที่สำคัญ
ขณะเดียวกันที่สหรัฐฯ กำลังสูญเสียการแข่งขันทางเทคโนโลยีระดับโลก ถึงแม้จะยังคงรักษาจุดแข็งด้านการออกแบบและพัฒนาอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูง ครองสถานะผู้วิจัยระดับโลกในด้านคอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูง ควอนตัมคอมพิวติ้ง ดาวเทียมขนาดเล็ก และวัคซีน แต่นอกจากนั้นสหรัฐฯ ตกไปอยู่อันดับสองทั้งสิ้น
ความก้าวหน้าดังกล่าวเป็นผลจากการวางแผนนโยบายระยะยาวของคณะบริหารของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และบรรดาคณะบริการก่อนหน้านี้ โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จีนได้สร้างงานวิจัยที่มีอิทธิพลสูงรวมกันมากกว่าประเทศสหรัฐฯ ถึง 9 เท่า โดยจีนได้เปรียบด้านการป้องกันประเทศ เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ มากไปกว่านั้นยังพบว่าสถาบันวิจัยชั้นนำ 10 อันดับแรกของโลก 7 แห่งมีสถานที่ตั้งอยู่ในจีน
นอกจากนี้รายงานยังระบุความเสี่ยงในการผูกขาดทางเทคโนโลยี โดยจีนมีแนวโน้มจะผูกขาดใน 8 สาขา ได้แก่ เซ็นเซอร์โฟโตนิก, ชีววิทยาสังเคราะห์, ไฮโดรเจนและแอมโมเนียสำหรับพลังงาน, เทคโนโลยีตัวเก็บประจุยิ่งยวด, แบตเตอรี่ไฟฟ้า, วัสดุและการผลิตระดับนาโน, การเคลือบผิว, การสื่อสารด้วยคลื่นความถี่วิทยุขั้นสูง (5G, 6G)
เป็นความจริงที่ว่าความก้าวหน้าของงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจีนมีส่วนสนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทั่วโลก แต่กระนั้น ASPI กล่าวว่า “จากนี้จีนจะมีอำนาจในการจัดหาเทคโนโลยีสำคัญๆ ให้กับทั่วโลก" และจะผลักดันให้จีนก้าวสู่ความเป็นเลิศในเกือบทุกภาคส่วน รวมถึงเทคโนโลยีที่ยังไม่มีอยู่
ปัจจุบันเทคโนโลยีที่รายรอบตัวเราจำนวนมากถูกพัฒนาและมีที่มาการผลิตจากจีน ภาพจำที่ว่าสหรัฐฯ คือ เจ้าแห่งเทคโนโลยี กำลังถูก จีน ทับซ้อนด้วยการพัฒนาและการควบคุมทางเทคโนโลยีของคู่แข่งที่สมน้ำสมเนื้อ ซึ่งกำลังละทิ้งภาพจำเดิมของการเป็น 'โรงงานของโลก' สู่ตำแหน่ง 'ผู้นำนวัตกรรมวิทยาการ' รายต่อไป
อ้างอิง Financial Time, CNBC1, CNBC2, Mckinsey