สสว.เร่งปั้นสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดหวังดันเศรษฐกิจไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สสว.เร่งปั้นสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดหวังดันเศรษฐกิจไทยสู่อุตสาหกรรม 4.0

Date Time: 7 ก.ค. 2560 15:47 น.

Video

ล้วงไส้ TEMU อีคอมเมิร์ซจีน บุกไทย ทำไมอาจสร้างวิบากกรรมกว่าที่คิด ? | Digital Frontiers

Summary

  • สสว. ยืนยันโครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดสำเร็จเกินเป้า ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น 4,642.43 ล้านบาท ย้ำแผนปี 60 เร่งดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใส่นวัตกรรมและเทคโนโลยี ยกระดับให้เป็น SME 4.0

สสว. ยืนยันโครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดสำเร็จเกินเป้า ผู้ประกอบการมีรายได้เพิ่มขึ้น 4,642.43 ล้านบาท ย้ำแผนปี 60 เร่งดำเนินการต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ใส่นวัตกรรมและเทคโนโลยี ยกระดับให้เป็น SME 4.0

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ยืนยันว่าโครงการพัฒนาสู่สุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด (SME Provincial Champions) นั้นประสบความสำเร็จตามเป้าหมายในระดับสูง ทำให้ในปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการมีรายได้และผลิตภาพเพิ่มสูงขึ้น 4,642.43 ล้านบาท ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 สสว. ได้ดำเนินงานโครงการ อย่างต่อเนื่อง โดยเน้นส่งเสริมและผลักดันให้ SME เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ ให้เติบโตอย่างเข้มแข็งและยั่งยืนในที่สุด

ทั้งนี้โครงการพัฒนาสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด เป็นหนึ่งในโครงการภายใต้ ยุทธศาสตร์การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ระยะเร่งด่วน ปี 2558 ของ สสว. ที่มุ่งส่งเสริม พัฒนา SMEs ตามวงจรธุรกิจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1) สร้างต้นแบบธุรกิจที่มีศักยภาพให้เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับจังหวัด

2) สนับสนุนธุรกิจต้นแบบให้สามารถถ่ายทอดการจัดการองค์ความรู้ธุรกิจสู่ SMEs ในภูมิภาค

3) สร้างระบบการบูรณาการการส่งเสริม SMEs ทุกระดับ ทุกภาคส่วน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ในการดำเนินโครงการที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการได้รับคัดเลือก ให้เข้ากระบวนการพัฒนาศักยภาพ จากทุกจังหวัดจำนวน 222 ราย ประกอบด้วย กลุ่มที่เพิ่งเริ่มดำเนินธุรกิจ (Start Up) จำนวน 72 ราย กลุ่มที่มีศักยภาพทางการตลาด (Rising Star) จำนวน 74 ราย และกลุ่มที่อยู่ในช่วงฟื้นตัว (Turn Around) จำนวน 76 ราย

ทั้งนี้ สสว. ได้บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยในการตรวจประเมินและวินิจฉัย สถานประกอบการเชิงลึก พบว่ากลุ่ม Start Up ให้ความสำคัญกับการเพิ่มยอดขาย มากกว่าการเพิ่มผลิตภาพ ดังนั้นแนวทางในการพัฒนาส่วนใหญ่ จึงเป็นการพัฒนา Product ให้ได้มาตรฐาน การพัฒนา Packaging รวมทั้งกลยุทธ์ทางการตลาด เพราะจะช่วยเพิ่มยอดขายเป็นหลัก

ในส่วนของกลุ่ม Rising Star ที่มีความชำนาญในการขายนั้นมีความต้องการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต หรือลดต้นทุนผลิต ซึ่งในกลุ่มนี้มีอัตราการเพิ่มขึ้นของยอดขาย ร้อยละ 12.88 ในขณะที่การเพิ่มขึ้นของมูลค่าผลิตภาพ เพิ่มสูงขึ้นในอัตราร้อยละ 12.15

ในกลุ่ม Turn Around เป็นกลุ่มที่ประสบปัญหาด้านยอดขายและด้านการเงิน ดังนั้นการพัฒนาจึงต้องดำเนินการ ทั้งเรื่องการเพิ่มยอดขาย การเพิ่มผลิตภาพการผลิต และการหาแหล่งเงินทุน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งทางที่ปรึกษาได้ประสานงานกับธนาคารในพื้นที่เป็นส่วนใหญ่จากการประเมินและสรุปผลการดำเนินงาน โครงการพัฒนาสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ พบว่าการดำเนินโครงการประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายในระดับสูง โดยมีคะแนนเฉลี่ยสูงถึง 3.55 และหลังจากที่ SME ได้เข้าร่วมโครงการแล้ว ผลการประเมินด้านรายได้และผลิตภาพที่เพิ่มขึ้นต่อปี ปรากฏว่ากลุ่ม Start Up มีรายได้และผลิตภาพเพิ่มขึ้น ร้อยละ 30.57 รองลงมาเป็นกลุ่ม Rising Star มีรายได้และผลิตภาพเพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.04 และกลุ่ม Turn Around สามารถมีรายได้และผลิตภาพเพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.61

ทั้งนี้ในภาพรวมของโครงการฯ สามารถเพิ่มรายได้และผลิตภาพ ร้อยละ 21.06 ต่อปี สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาทางด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจ พบว่าผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการฯ มีรายได้รวม 22,047.17 ล้านบาท และเมื่อผ่านกระบวนการพัฒนา ภายใต้โครงการพัฒนาสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด ทำให้ผู้ประกอบการมีรายได้และผลิตภาพเพิ่มขึ้น 4,642.43 ล้านบาท

จากการดำเนินโครงการพัฒนาสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดในครั้งนี้ ได้ผลสัมฤทธิ์ที่สูงกว่าเป้า สสว. จึงได้จัดให้มีการดำเนินงานโครงการสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัด ในปีงบประมาณ 2560 อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีนวัตกรรม และได้รับการรับรองมาตรฐานสูงขึ้น พัฒนาการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และสร้างโอกาสด้านการตลาดในทุกมิติโดยมีเป้าหมายผู้ประกอบการ 6 รายต่อจังหวัด แบ่งเป็นกลุ่มอาหาร (Food) และกลุ่มที่มิใช่อาหาร (Non-Food) เน้น Service & Trade โดยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อพัฒนากลุ่มธุรกิจท่องเที่ยวและกลุ่มบริการเพื่อสุขภาพ (Medical Hub) ตลอดจนกลุ่ม Local Trader กลุ่ม Logistics และ E-Commerce

การดำเนินโครงการสุดยอดเอสเอ็มอีจังหวัดในปี 2560 นี้ ได้รับความร่วมมือจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และสถาบันอาหารเป็นหน่วยร่วมดำเนินการ จะทำการคัดเลือกผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั่วประเทศ รวม 462 ราย แบ่งเป็นกลุ่มอาหาร 231 ราย และกลุ่มที่มิใช่อาหาร 231 ราย โดยได้มีการทำ workshop ร่วมกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในเบื้องต้น จำนวน 6 ราย เพื่อวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ที่ผู้ประกอบการต้องปรับปรุง ซึ่งพบว่าผู้ประกอบการในกลุ่ม Food ได้แก่ บริษัท เชฟอุทัย จำกัด ประกอบธุรกิจมัสมั่นบรรจุกระป๋อง ต้องปรับปรุงในเรื่องมาตรฐานการผลิต อาทิ Halal HACCP ฯลฯ เพื่อรองรับการส่งออกในอนาคต ส่วนกลุ่ม Non Food ได้แก่ บริษัท บ้านนาทอง เฮลท์ตี้ แอนด์สปา จำกัด ประกอบธุรกิจสปาและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ที่เน้นวัตถุดิบที่ทำจากธรรมชาติ ปลอดภัยจากสารเคมี 100% ซึ่งพบว่าต้องปรับปรุงด้านการบริหารจัดการให้เป็นระบบยิ่งขึ้น รวมทั้งการขยายช่องทางการตลาด ในลักษณะแฟรนไชส์เป็นของตัวเอง

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา สสว. ได้ทำการสำรวจข้อมูลในด้านความคาดหวังและการรับรู้ของผู้บริโภคไทยที่มีต่อสินค้าอาหารที่ผลิตโดยเอสเอ็มอี พบว่า สิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวัง (Expectation) จากสินค้าอาหารของเอสเอ็มอี อันดับแรก คือ อาหารจะต้องมีรสชาติอร่อย มีสินค้าที่หลากหลายตามความต้องการของผู้บริโภค รองลงมาคือความสะอาด ปลอดภัย ได้คุณภาพมาตรฐาน และต้องสามารถหาซื้อได้ง่ายทั่วไป โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่มักเห็นว่า (Perception) สินค้าอาหารของ SME ไทย จะมีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ อาหารมีรสชาติอร่อย และบรรจุภัณฑ์มีการแสดงข้อมูลส่วนประกอบ (Ingredients) สินค้าชัดเจน แต่สิ่งที่ยังเป็นจุดด้อย คือ ตราสินค้ายังไม่เป็นที่รู้จัก ขาดการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ดึงดูดใจ และสินค้ายังไม่ได้มาตรฐาน มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ขณะที่ปัจจัยหลักที่ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจซื้อ จะอยู่ที่คุณภาพของสินค้า (Quality) และความคุ้มค่าเงิน (Value For Money) ซึ่งสิ่งนี้จะสะท้อนผ่านบรรจุภัณฑ์ (Packaging) ของสินค้า บรรจุภัณฑ์ที่ดีจะเป็นสิ่งดึงดูดความสนใจ สร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจในคุณภาพสินค้า และนำไปสู่การตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคในที่สุด

จึงเห็นได้ว่ากุญแจสำคัญในการสร้างความสำเร็จให้กับสินค้าอาหารของเอสเอ็มอี คือ

1. การมีบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามมีฉลากข้อมูลครบถ้วน จะช่วยสื่อถึงคุณภาพของสินค้า ช่วยสร้างแบรนด์ และยังเป็นด่านแรกที่ดึงดูดใจผู้บริโภคให้ตัดสินใจซื้อสินค้า

2. การมีมาตรฐานของสินค้า ที่ต้องให้ความสำคัญมากกว่าที่จะแข่งขันด้วยราคา

3. รสชาติอาหารต้องอร่อยถูกปากผู้บริโภคส่วนใหญ่ ซึ่งถ้าผู้ประกอบการสามารถพัฒนาสินค้าให้มีบรรจุภัณฑ์ที่ดี อาหารรสชาติอร่อย มีคุณภาพ มาตรฐานในราคาที่เหมาะสม ก็จะทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ไม่ยาก

เชื่อว่าภายใต้การดำเนินโครงการดังกล่าว จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้มีศักยภาพและความสามารถในการดำเนินธุรกิจเพิ่มขึ้น ต่อยอดการยกระดับมาตรฐานสินค้าให้เป็นสากล พัฒนาศักยภาพการบริหารจัดการ พัฒนาผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ รวมทั้งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ มาเสริมสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและบริการ ยกระดับให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการเป็น SME 4.0 เป็นต้นแบบให้กับเอสเอ็มอีในจังหวัดและนำไปสู่การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในระดับจังหวัดต่อไป


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ