นายไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์
นายไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความไม่ชัดเจนของรัฐบาลต่อการกำกับดูแลธุรกิจดาวเทียมในขณะนี้ อาจทำให้ไทยเสียโอกาสในการรักษาวงโคจรดาวเทียมที่เคยเป็นของประเทศ และยังทำให้ไทยคมกำลังประสบกับความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งต้องแข่งขันกับต่างประเทศ
“ปัญหาของไทยคมขณะนี้คือดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) และดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งถือเป็นดาวเทียมขนาดใหญ่ มีลูกค้าใช้งานอยู่เป็นจำนวนมาก กำลังจะหมดอายุสัมปทานลงในปี 2564 แต่เรายังไม่สามารถการันตีกับลูกค้าได้เลยว่า เราจะสามารถยิงดาวเทียมไทยคม 9 ดวงใหม่ทดแทนและให้บริการลูกค้าเดิมต่อไปได้ ผมไม่มั่นใจเลย เพราะเราควบคุมภาครัฐไม่ได้”
นายไพบูลย์กล่าวว่า ขณะนี้ธุรกิจดาวเทียม เป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันกับทั่วโลก ไทยคมอยู่ในฐานะดาวเทียมของไทย ต้องแข่งขันกับดาวเทียมจากทั่วโลกที่รอจะเข้ามาแบ่งเค้ก ก่อนหน้านี้ลูกค้าบนไทยคม 4 อย่าง Softbank ผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ของญี่ปุ่น สอบถามเรามาตลอดว่ามีแผนยิงดาวเทียมดวงใหม่แทนไทยคม 4 หรือยัง เขาพร้อมจะใช้บริการต่อ แต่เราก็ตอบเขาไม่ได้สักที ปกติธุรกิจดาวเทียมนั้นจะต้องมีการวางแผนล่วงหน้า การจะยิงดาวเทียมดวงใหม่ต้องมีการเตรียมการ ทั้งจองวงโคจรในนามรัฐบาลไทย การติดต่อผู้ผลิตดาวเทียม ซึ่งต้องใช้เวลาล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 2 ปี หากยังไม่มีความชัดเจนอย่างช้าที่สุดในปีหน้า เราจะประสบความยากลำบากในการดำเนินธุรกิจแน่”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จนถึงปัจจุบันไทยคม ซึ่งดำเนินธุรกิจดาวเทียมมาแล้วมากกว่า 25 ปี และสัมปทานประกอบกิจการภายใต้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(ดีอี) จะหมดอายุลงในปี 2564 นั้น กำลังประสบปัญหาในการเคลียร์ข้อขัดแย้งกับกระทรวงดีอี ซึ่งต้องการให้ดาวเทียมไทยคมกลับไปอยู่ใต้สัมปทานของดีอีอีกครั้ง หลังจากที่ดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ดำเนินการภายใต้ใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.