กรมการขนส่งทางบก เพิ่มศักยภาพการขนส่งสินค้าทางถนนของประเทศ เตรียมสร้างสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค 17 จังหวัด เดินหน้าจัดสัมมนาทดสอบความสนใจของนักลงทุน เพื่อกำหนดแนวทางการลงทุนที่เหมาะสม เป็นการดำเนินงานระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
วันที่ 9 มิ.ย. 60 นายกมล บูรณพงศ์ รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เผยว่า กรมการขนส่งทางบกจัดสัมมนา การทดสอบความสนใจของภาคเอกชน ในการร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โครงการสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าของโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งของประเทศ และเพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้มีส่วนร่วมในการให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ถึงโอกาสความเป็นไปได้ และความสนใจในการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคของกรมการขนส่งทางบก ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
โดยมีภาคเอกชน ภาคธุรกิจ นักลงทุน ผู้ประกอบการขนส่งสินค้า และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม โดยมีพิธีเปิดการสัมมนา ณ ห้องวิภาวดีบอลรูม เอ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ เซ็นทรัลพลาซาลาดพร้าว กรุงเทพมหานคร ในวันนี้ 9 มิ.ย. 60 ซึ่งมีนางสิริรัตน์ วีรวิศาล ผู้อำนวยการสำนักการขนส่งสินค้า กรมการขนส่งทางบก เป็นประธานในการเปิดงาน
ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบก และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง จะนำข้อคิดเห็นและข้อเสนอประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการร่วมลงทุน เพื่อกำหนดแนวทางการลงทุนให้มีความน่าสนใจ มีความเหมาะสมและเป็นไปได้ ในการดำเนินโครงการร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน
พร้อมเริ่มดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้ และรูปแบบการบริหารจัดการสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาค มาตั้งแต่ปี 2558 รวมจำนวนทั้งสิ้น 17 แห่ง แบ่งเป็นจังหวัดชายแดน 9 แห่ง ได้แก่ หนองคาย มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา นราธิวาส กาญจนบุรี ตาก และ เชียงราย และจังหวัดภูมิภาคหลัก 8 แห่ง ได้แก่ ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี เชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ ปราจีนบุรี และสุราษฎร์ธานี
รวมถึงวัตถุประสงค์ เพื่อให้เป็นจุดเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งสินค้าทางถนน และทำหน้าที่เป็นศูนย์รวบรวม และกระจายสินค้าที่มีประสิทธิภาพและมาตรฐานสูง เชื่อมโยงฐานการผลิตและฐานการส่งออกที่สำคัญของประเทศ ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่ง พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยมีการให้บริการกิจกรรมที่มีความหลากหลาย เช่น ลานจอดรถบรรทุก เปลี่ยนถ่ายสินค้า ชานชาลาขนถ่ายสินค้า คลังสินค้า เครื่องมือและอุปกรณ์ยกขน
พร้อมทั้งพื้นที่บริการสาธารณะ เช่น อาคารสำนักงาน โรงอาหาร สถานีบริการเชื้อเพลิง และพื้นที่เพื่อดำเนินกิจกรรมทางศุลกากร เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้จังหวัดชายแดนกลายเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อ (Hub) การขนส่งสินค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน และเพื่อเป็นการรองรับความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของจังหวัดในส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ จะเริ่มดำเนินการในส่วนของการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและก่อสร้างภายในปี พ.ศ. 2561 โดยคาดการณ์ว่าจะสามารถดำเนินการก่อสร้างสถานีขนส่งสินค้าภูมิภาคทั้ง 17 แห่ง แล้วเสร็จภายในปี 2565 รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก.