ผู้บริโภคเชื่อมั่นลดรอบ 6 เดือน “ธนวรรธน์” แนะรัฐตะลุยโครงสร้างพื้นฐาน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ผู้บริโภคเชื่อมั่นลดรอบ 6 เดือน “ธนวรรธน์” แนะรัฐตะลุยโครงสร้างพื้นฐาน

Date Time: 9 มิ.ย. 2560 08:30 น.

Summary

  • ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. ปรับตัวลดลงครั้งแรกรอบ 6 เดือน หลังกรุงเทพฯเจอบึ้ม ทำให้ความเชื่อมั่นด้านการเมืองลดลง แถมเจอสินค้าเกษตรตกต่ำ ฉุดกำลังซื้อผู้บริโภคลงอีก “ธนวรรธน์” แนะรัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนโครงสร้าง

Latest

เตรียมพร้อม “ยื่นภาษี 2567” ช่วงต้นปี 2568 กับ 4 ความผิด ที่มักถูกกรมสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน พ.ค. ปรับตัวลดลงครั้งแรกรอบ 6 เดือน หลังกรุงเทพฯเจอบึ้ม ทำให้ความเชื่อมั่นด้านการเมืองลดลง แถมเจอสินค้าเกษตรตกต่ำ ฉุดกำลังซื้อผู้บริโภคลงอีก “ธนวรรธน์” แนะรัฐเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและผลักดันอีอีซี พร้อมให้จับตาผลกระทบกาตาร์ ทำให้ราคาน้ำมันดิบลดลง กระทบกำลังซื้อกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์ พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจประชาชนทั่ว ประเทศ 2,251 ตัวอย่าง เกี่ยวกับความคิดเห็นต่อเศรษฐกิจไทยเดือน พ.ค.60 ว่า ดัชนีความเชื่อผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน นับตั้งแต่เดือน ธ.ค.59 โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (CCI) อยู่ที่ 76.0 ลดลงจากเดือน เม.ย.60 ที่ 77.0 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัจจุบัน อยู่ที่ 53.7 ลดลงจาก 54.7 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตอยู่ที่ 85.3 ลดลงจาก 86.3 ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 64.3 ลดลงจาก 65.4 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสในการหางานอยู่ที่ 70.9 ลดลงจาก 71.6 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 92.7 ลดลงจาก 94.0

ทั้งนี้ ปัจจัยลบที่ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงทุกรายการ เป็นผลจากความกังวลต่อเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นด้านการเมือง ทำให้ตัวเลขสำรวจดัชนีความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์การเมืองเดือน พ.ค. อยู่ที่ 84.7 ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็น เดือนที่ 5 และต่ำสุดในรอบ 21 เดือนนับตั้งแต่เดือน ก.ย.58 ซึ่งเป็นเรื่องของความรู้สึกประชาชนที่มองการเมืองแบบไม่สบายใจ แต่น่าจะเป็นผลกระทบระยะสั้น หากไม่มีเหตุการณ์ระเบิดซ้ำ คาดว่าความเชื่อมั่นในเดือนหน้าจะปรับตัวดีขึ้น แน่นอน

นอกจากนี้ ยังพบปัจจัยลบในเรื่องของกำลัง ซื้อในต่างจังหวัดที่ลดลงด้วย เพราะประชาชนในต่างจังหวัดการค้าขายไม่ค่อยดี เป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลง โดยเฉพาะราคายาง พารา มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรด ทำให้กำลังซื้อเกษตรกรลดลง ราคาน้ำมันขายปลีกปรับตัวสูงขึ้น ตลาดหุ้นปรับตัวลดลง คนยังมีความกังวลเรื่องค่าครองชีพ เพราะเห็นว่ารายได้ไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ และมีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการดำเนินนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจปีนี้เติบโตตามเป้าหมาย จะต้องเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณลงไปในโครงสร้างพื้นฐานให้เร็วที่สุด เพื่อเพิ่มรายได้ในต่างจังหวัด รวมทั้งการผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (อีอีซี) ให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพราะศูนย์ฯยังมองว่าดัชนีความเชื่อยังอยู่ในช่วงขาขึ้น รัฐบาลจะต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน โดยศูนย์ฯ ยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโต 3.5-4% การส่งออกขยายตัว 2-3%

“ผลกระทบกรณีที่ชาติอาหรับแบนประเทศกาตาร์จากการสนับสนุนกลุ่มไอเอสนั้น มองว่าไม่ส่งผลในด้านการค้าและการส่งออกมากนัก เนื่องจากไทยส่งออกไปกาตาร์ในปริมาณไม่มาก เมื่อเทียบกับตลาดอื่นๆ แต่ที่น่าห่วงคือ ด้านกำลังซื้อของประเทศในตะวันออกกลางที่จะมีผลกระทบตามมา รวมถึงการท่องเที่ยว เนื่องจากกาตาร์อาจเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบมากขึ้น เพื่อชดเชยรายได้จากภาคการค้าที่หายไป ทำให้ความพยายามของกลุ่มโอเปกที่ลดกำลังการผลิตน้ำมันลง เพื่อดันราคาขึ้นไม่ประสบความสำเร็จ และส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบทรงตัวต่ำ ซึ่งจะมีผลกระทบทั้งภูมิภาค”

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามสถานการณ์การเลือกตั้งในอังกฤษที่คาดว่า จะมีการจัดตั้งรัฐบาลผสมจาก 2 พรรค เนื่องจากคะแนนสูสีกัน ที่จะมี ผลต่อการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษ (เบรกซิต) อาจเกิดความไม่ชัดเจนขึ้นมา และปัญหาเศรษฐกิจภายในอียู เช่น ธนาคารกลาง สเปนอาจเพิ่มทุนไม่ได้ รวมถึงการก่อการร้ายที่มีมากขึ้น หลังจากที่อังกฤษ ฝรั่งเศส และอินโดนีเซีย ประสบกับปัญหาก่อการร้ายอย่างต่อเนื่อง มีผลต่อภาคการท่องเที่ยว และมีผลต่ออัตราแลก เปลี่ยนมากขึ้น โดยเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 34 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการส่งออกไทย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ