ย้าย "หมอชิตใหม่" ไป "หมอชิตเก่า" เป็น "หมอชิตใหม่" วลีนี้อาจจะต้องใช้สติในการพูดเนื่องจากทำเอางงและลิ้นพันกันได้ง่ายๆ หลังจากมีข้อสรุปล่าสุด เกี่ยวกับการย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 จาก ถ.กำแพงเพชร
กรณีนี้ ได้รับการเปิดเผยจากระดับนโยบายรัฐบาลว่า มีมติเห็นชอบให้ บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ย้ายสถานีขนส่งหมอชิต 2 ซึ่งปัจจุบันเป็นจุดโดยสารรถ บขส. รถร่วม บขส.สายเหนือ อีสาน กลางและตะวันออกบางจังหวัด รวมทั้งรถตู้ร่วม บขส. อีกหลายเส้นทาง ให้กลับไปใช้พื้นที่ เคยเป็นสถานีขนส่งหมอชิตเดิม หรือมักเรียกกันว่า หมอชิตเก่า ถ.พหลโยธิน ตรงข้ามสวนจตุจักร ซึ่งปัจจุบันเป็นสถานีบีทีเอสจตุจักร ลานจอดรถและอาคารศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าบีทีเอส
อย่างไรก็ตาม "ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์" เชื่อว่า ข้อสรุปนี้ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอนและใช้เวลาอีกนาน
แต่เดิมหมอชิตเก่าเป็นสำนักงานที่ทำการ บขส. รวมทั้งสถานีต้นทางของรถ บขส. และรถร่วม บขส. ออกจากกรุงเทพฯ ไปยังจังหวัดในภาคเหนือ ภาคอีสานและกลางบางจังหวัด โดยรถที่จะเข้าหมอชิตเก่าจะใช้เส้นทางด้าน ถ.พหลโยธิน ส่วนในขาออกจะออกทางด้านหลังใช้เส้นทางผ่านหน้าช่อง 7 ไปเลี้ยวซ้าย 3 แยก ก่อนถึงกรมการขนส่งทางบกปัจจุบันทะลุออก ถ.วิภาวดีรังสิตที่ซอยวิภาวดีรังสิต 5 ซึ่งจากอดีตจนถึงปัจจุบันก็ยังคับแคบรถแทบจะสวนกันลำบาก ทุกวันจันทร์ต้นสัปดาห์และวันศุกร์ปลายสัปดาห์ช่วงเวลาเร่งด่วนยิ่งติดขัด เพราะมีรถเข้าไปใช้บริการกรมการขนส่งทางบกจำนวนมาก
ทั้งนี้ ใครที่อายุต่ำกว่า 20 ปี ลงไป อาจจะไม่ทันเคยใช้บริการหมอชิตเก่า และอาจจะนึกภาพไม่ออก เพราะตั้งแต่เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2541 มีการย้ายหมอชิตจาก ถ.พหลโยธิน ไปหมอชิตใหม่ปัจจุบัน ที่ ถ.กำแพงเพชร เนื่องจากกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ในฐานะเจ้าของพื้นที่ ได้เปลี่ยนให้บีทีเอสเข้ามาเช่าใช้พื้นที่ ประกอบกับเกิดความแออัดและปัญหาจราจรติดขัด
หมอชิตเก่าเริ่มเปิดใช้บริการเมื่อเดือน ม.ค.2503 นับเป็นเวลารวมประมาณ 38 ปี จึงย้ายไปใช้ที่ปัจจุบัน
ณ วันนั้น หลังมีการย้ายหมอชิตไปหมอชิตใหม่ ในแง่เศรษฐกิจส่งผลให้การค้าขายในย่านนี้ ซบเซาลง ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง เช่น ห้องเช่า หอพัก ร้านค้า ร้านอาหารและแหล่งบันเทิง เป็นต้น ทยอยปิดตัว แต่ยังคงเหลือร้านอะไหล่รถยนต์ และอู่รถทัวร์ ต่อมาอีกสักระยะ
ส่วนสาเหตุที่จะต้องย้ายหมอชิต 2 ใหม่อีกครั้ง เพราะต้องคืนพื้นที่ให้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และต้องย้ายออกจากพื้นที่ก่อน พ.ศ. 2562 โดยพื้นที่จะถูกใช้ก่อสร้างศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าสายสีแดงและสถานีกลางบางซื่อ.