'สมคิด' ดึงทีมเศรษฐกิจตะลุยญี่ปุ่น กล่อมนักธุรกิจขนเงินมาลงทุนในไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

'สมคิด' ดึงทีมเศรษฐกิจตะลุยญี่ปุ่น กล่อมนักธุรกิจขนเงินมาลงทุนในไทย

Date Time: 5 มิ.ย. 2560 17:28 น.

Video

บรรยง พงษ์พานิช แกะปมเศรษฐกิจไทยโตต่ำ ฟื้นช้า พร้อมแนะทางออก

Summary

  • 'สมคิด' กล่อม 4 บริษัทอุตสาหกรรมไฮเทคญี่ปุ่น ทั้งผลิตเครื่องมือแพทย์ รถยนต์ เคมีภัณฑ์พิเศษ ลงทุนอีอีซี ยันมีความเป็นไปได้ถึง 90% คาดหอบเงินลงทุนปลายปีนี้ 2.5 หมื่นล้านบาท

สมคิด กล่อม 4 บริษัทอุตสาหกรรมไฮเทคญี่ปุ่น ทั้งผลิตเครื่องมือแพทย์ รถยนต์ เคมีภัณฑ์พิเศษ ลงทุนอีอีซี ยันมีความเป็นไปได้ถึง 90% คาดหอบเงินลงทุนปลายปีนี้ 2.5 หมื่นล้านบาท 

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการเดินทางเยือนญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 5-8 มิ.ย.นี้ว่า ในช่วงเช้าได้มีโอกาสพบปะกับผู้บริหารของบริษัทรายใหญ่ของญี่ปุ่น 4 ราย ซึ่ง 3 รายยังไม่ได้ลงทุนในไทย เพื่อเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยภายหลังจากการหารือเพื่อสร้างความมั่นใจแล้ว ทั้ง 4 รายมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุนในอีอีซีมากขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการตัดสินใจเลือกประเทศที่จะลงทุนภายนอกญี่ปุ่น

สำหรับบริษัท 3 รายที่ยังไม่เคยลงทุนในไทย และมีความเป็นไปได้ประมาณ 90% ที่จะลงทุนในไทย ได้แก่ บริษัท สไปเบอร์ อิงก์ ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพ โดยนำเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดมาผลิตวัสดุชีวภาพ และอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ที่จะลงทุนระหว่าง 2 ประเทศคือ สหรัฐฯ และไทย เพื่อผลิตเส้นใยชนิดพิเศษ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ อากาศยาน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีบริษัท คูราเรย์ จำกัด บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ สนใจร่วมทุนกับ ซูมิโมโต คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศขนาดใหญ่ ที่มีเครือข่ายทั่วโลกของญี่ปุ่นและบริษัท พีทีที โกลบอล จำกัด (พีทีทีจีซี) ในเครือ ปตท. เพื่อลงทุนในไทยด้านผลิตเคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษ และพลาสติกชนิดพิเศษ, บริษัท ซูบารุ คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตรถยนต์ ชิ้นส่วน และการซ่อมแซมอากาศยาน สนใจที่จะลงทุนในไทยเพื่อผลิตรถยนต์ที่มีระบบความปลอดภัยสูง รวมถึงยังได้เชิญชวนให้ศึกษาความเป็นไปได้ที่จะลงทุนด้านการผลิตชิ้นส่วน และการซ่อมแซมอากาศยานในอีอีซีด้วย

ส่วน บริษัท เคียวเซรา คอร์ปอเรชั่น เป็นบริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมเซรามิก อิเล็กทรอนิกส์ โซลาร์เซลล์ และเครื่องมือแพทย์ของญี่ปุ่น ซึ่งร่วมมือกับบริษัทเอสซีจี จำกัด (มหาขน)ในการดำเนินธุรกิจและมีแผนใช้ไทยเป็นฐานขยายธุรกิจเพื่อทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งยังมีแผนลงทุนอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของไทยจึงได้เชิญชวนให้มาลงทุนในอีอีซี

“มีความเป็นไปได้มากกว่า 90% ที่ทั้ง 4 บริษัทจะลงทุนในอีอีซี เพราะไทยมีโครงสร้างพื้นฐาน และมีศักยภาพมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก โดยเฉพาะเมื่อเข็มขัด 2 เส้นของจีนพาดผ่าน จะทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค และมีแรงดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศแน่นอน”

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการ บีโอไอ กล่าวว่า คาดว่า ทั้ง 4 บริษัท จะตัดสินใจลงทุนในปีนี้ เงินลงทุนรวมไม่น้อยกว่า 25,000 ล้านบาท และหากโครงการเกิดขึ้น จะช่วยสนับสนุนการผลิตและสร้างความแข็งแกร่งของห่วงโซ่การผลิตในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ทั้งอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ อากาศยาน และเครื่องมือแพทย์

นายอุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ได้หารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดฟูกูชิมะ ซึ่งผู้ผลิตขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) ในอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์เครื่องมือแพทย์ที่เข้มแข็งมาก จึงได้เชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในอีอีซี เพราะเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล นอกจากนี้ วันที่ 5 มิ.ย. ไทย โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ลงนาม กับจังหวัดฟูกูชิมะ เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์การแพทย์ระดับสูง

อย่างไรก็ตาม กรณีที่องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น ประจำกรุงเทพฯ (เจโทร กรุงเทพฯ) ต้องการให้ไทยยืนยันว่า อีอีซีเป็นนโยบายระยะยาว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนนั้น ตนได้ยืนยันไปแล้วว่า อีอีซีเป็นนโยบายระยะยาวของไทย เพราะมีการออกกฎหมายหลายฉบับเพื่อรองรับ เช่น กฎหมายของบีโอไอ, พ.ร.บ.อีอีซี, กองทุนส่งเสริมขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ฯลฯ ทำให้นักลงทุนเห็นภาพชัดเจนมากขึ้น หากรัฐบาลใหม่มาจะยกเลิกกฎหมายก็ย่อมได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายหากมีการลงทุนที่ชัดเจน และเป็นประโยชน์กับไทยอย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม คาดว่า น่าจะเริ่มเห็นนักลงทุนเข้ามาลงทุนในอีอีซีได้ตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงต้นปีหน้าแน่นอน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ กล่าวว่า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ได้ลงนามเอ็มโอยูร่วมกับบริษัท โตโยตา ทูโช ซึ่งเป็นบริษัทการค้าระหว่างประเทศรายใหญ่ของญี่ปุ่น และมีสาขาในไทย เพื่อให้ช่วยกระจายสินค้าไทยในแอฟริกา เพราะทูโช มีช่องทางการจำหน่ายสินค้าที่กว้างขวางมาก และครอบคลุม 53 ประเทศในทวีปแอฟริกา จากทั้งหมด 54 ประเทศ โดยจะนำร่องในสินค้าข้าวก่อน เพราะแอฟริกาเป็นผู้ซื้อข้าวรายใหญ่ของไทยในแต่ละปี จากนั้นจะขยายไปยังสินค้าอื่นๆ เช่น ยางพารา อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ อาหาร เป็นต้น

“ความร่วมมือกับทูโชครั้งนี้ จะทำให้สินค้าไทยเข้าสู่แอฟริกาได้ง่ายขึ้น และมากขึ้น คาดว่าจะเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยไม่ต่ำกว่า 10% จากปัจจุบันที่มีมูลค่าการค้าระหว่างกันปีละประมาณ 8,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ