ครม.นำร่องระดมทุน 2 ทางด่วน “บิ๊กตู่” เล็งขาย “ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์” รายย่อย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ครม.นำร่องระดมทุน 2 ทางด่วน “บิ๊กตู่” เล็งขาย “ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์” รายย่อย

Date Time: 31 พ.ค. 2560 05:01 น.

Summary

  • ครม.กดปุ่มเดินหน้าระดมทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ประเดิม 2 โครงการ สร้างทางด่วนของ กทพ. 44,819 ล้านบาท “ประยุทธ์” ย้ำให้ขายหน่วยลงทุนให้ประชาชนรายย่อยก่อน อย่าให้ซ้ำรอยแปรรูป ปตท.

Latest

ทอท. ลงทุนเต็มพิกัด 10 ปี 2 แสนล้านบาท เที่ยวบินอินเตอร์ฟื้นตัวเกิน 100%

ครม.กดปุ่มเดินหน้าระดมทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ประเดิม 2 โครงการ สร้างทางด่วนของ กทพ. 44,819 ล้านบาท “ประยุทธ์” ย้ำให้ขายหน่วยลงทุนให้ประชาชนรายย่อยก่อน อย่าให้ซ้ำรอยแปรรูป ปตท.

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (ไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์) เป็นการระดมทุนอันแรกนี้เป็นของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ซึ่ง กทพ.จะนำรายได้ในอนาคตที่ได้จากการจัดเก็บค่าผ่านทางของ 2 เส้นทางคือ โครงการทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) มาระดมทุน ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีรายได้เข้ามาเป็นประจำอยู่แล้ว โดยจะโอนรายได้ในอนาคต 45% จากทั้ง 2 โครงการในระยะเวลา 30 ปี มาใส่ไว้ในกองทุน

ขณะที่เงินที่ได้จากการระดมทุนจะนำไปสร้างทางด่วนใหม่ 2 เส้นทาง รวม 44,819 ล้านบาท ได้แก่ โครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก วงเงิน 30,437 ล้านบาท และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N 2 และอีสต์-เวสต์ คอร์ริดอร์ด้านตะวันออก เริ่มต้นจากหน้ามหาวิทยาลัยเกษตรไปทาง ถ.เกษตรนวมินทร์ไปบรรจบกับวงแหวนตะวันออกวงเงิน 14,382 ล้านบาท ทั้งนี้ จุดประสงค์ของโครงการที่ระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานฯ ก็เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของงบประมาณของรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานรวมวงเงิน 2.3 ล้านล้านบาท แต่การรักษาวินัยการเงินการคลังกำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ที่ไม่เกิน 60% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งทำให้มีเพดานให้กู้เงินได้อีก 2.6 ล้านล้านบาทเท่านั้น

“ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ย้ำในที่ประชุม ครม.ว่า กองทุนที่ออกมาครั้งนี้จะต้องให้ประชาชนได้มีส่วนได้ซื้อกองทุน เพราะว่ากองทุนนี้จะมีผลตอบแทนดีกว่าเงินฝากในปัจจุบัน อย่าให้ซ้ำรอยกับการแปรรูป ปตท.ในอดีตที่คนซื้อหุ้นส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารทั้งหลาย ฉะนั้นกองทุนนี้ขอให้ประชาชนได้มีสิทธิ์ซื้อก่อน”

ด้านนายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยมีโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากที่จะสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ แค่กระทรวงคมนาคมกระทรวงเดียวก็มีวงเงินสำหรับโครงสร้างพื้นฐานกว่า 2.3 ล้านล้านบาท และในแผนปฏิบัติการของกระทรวงคมนาคม มีบางโครงการได้ระบุไว้ชัดเจนว่า สามารถใช้แหล่งเงินจากแหล่งใหม่ หรือไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ได้ โดยให้ กทพ.มานำร่องใน 2 โครงการ ซึ่งถือเป็นการเดินหน้าอย่างชัดเจนของกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์

“โครงการทางพิเศษพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และโครงการทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N 2 วงเงินรวม 44,819 ล้านบาท ถ้าไม่มีกองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์ ก็ต้องไปแย่งเงินงบประมาณ หรือไม่ก็ต้องไปแย่งเงินกู้กับโครงการพัฒนาประเทศด้านอื่นๆ เช่น นำเงินไปสร้างโรงพยาบาล หรือจะใช้เงินของ กทพ.เองก็ต้องรอไปอีก 6-7 ปี แต่ประเทศรอไม่ได้ จึงต้องมีแหล่งระดมทุนอันใหม่ของประเทศไทยเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งตอนนี้เป็นโอกาสที่ดีมากเพราะดอกเบี้ยของทั้งภูมิภาคและทั้งโลกก็ไม่ได้สูงมาก”

ทั้งนี้ การคืนเงินต้น และผลตอบแทนที่จะได้ กทพ.จะนำรายได้ส่วนหนึ่งในอนาคตของ 2 เส้นทางคือโครงการทางพิเศษฉลองรัช (รามอินทรา-อาจณรงค์) และโครงการทางพิเศษบูรพาวิถี (บางนา-ชลบุรี) มาเป็นแหล่งระดมทุน นอกจากนั้น กระทรวงการคลังยังตั้งใจไว้ว่า จะใช้เกณฑ์ของ กลต.คือให้สิทธิ์ผู้ถือหุ้นรายย่อยซื้อหุ้นก่อน และเพื่อให้เกิดความมั่นใจกับผู้ลงทุน ทางกระทรวงการคลังได้ถือหน่วยลงทุนวงเงิน 1,000 ล้านบาท ซึ่ง ครม.ได้อนุมัติวงเงินเพิ่มอีก 9,000 ล้านบาท รวมเป็น 10,000 ล้านบาท เพื่อให้เห็นว่าเป็นกองทุนที่รัฐบาลเข้ามาถือหุ้นด้วย ไม่ใช่มีแต่เอกชนอย่างเดียว

ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า กองทุนไทยแลนด์ฟิวเจอร์ฟันด์มีต้นทุนดอกเบี้ยที่ 8% แต่ดอกเบี้ยเงินกู้ในโครงการที่รัฐบาลค้ำประกันจะอยู่ที่ 3% นั้น ขอชี้แจงว่า คนที่จะมาลงทุนในกองทุนนี้จะได้รับผลตอบแทนจากรายได้จากค่าผ่านทางในอนาคต โดยการใช้การแปลงมูลค่ารายได้ในอนาคตมาเป็นมูลค่าในปัจจุบัน และตามเกณฑ์ของ กลต.กำหนดว่า จะให้ผู้ประเมินอิสระเป็นผู้ประเมินว่า จะใช้อัตราส่วนลดในการแปลงค่ารายได้ หรือดิสเคาต์เรต ว่าอยู่ที่เท่าไหร่ เช่น ถ้าตามสมมติฐานใช้ดิสเคาต์เรตที่ 8% แต่ผลตอบแทนที่แท้จริงอาจจะไม่ใช่ 8% ขึ้นอยู่กับความต้องการของนักลงทุน ที่จะมาประเมินรายได้ที่แน่นอน หรือมีความเสี่ยงขนาดไหน ซึ่งอาจจะมีผลตอบแทนที่ 6% โดยคาดว่าจะนำออกขายให้ผู้ที่สนใจได้ไม่เกินไตรมาส 3 ปีนี้ และเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ