กนง.ปลื้มเศรษฐกิจเริ่มผงกหัว ก่อนมีมติคงดอกเบี้ย 1.5% ต่อไปอีก ยันระเบิด ไม่กระทบเศรษฐกิจ แต่ยังห่วงความสามารถชำระหนี้ประชาชน โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่จ่อมีหนี้เสียเพิ่มหลังปรับตัวแข่งขันไม่ได้ ขณะที่คนยังแสวงหากำไรจากการลงทุนเสี่ยงทำให้ตกเป็นเหยื่อหลอกลวง ด้าน “ฉัตรชัย” ฟุ้งจีดีพีภาคเกษตรขยายตัว 7.7% ในรอบ 20 ไตรมาส หลังนโยบายแปลงใหญ่ทำรายได้เกษตรกรเพิ่มรายละ 1,100-1,400 บาท
นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) กล่าว ว่า จากการประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไทยพบว่า มีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่แรงกดดันเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงและอาจจะต่ำลงในไตรมาสที่ 2 ทำให้ที่ประชุม กนง.มีมติให้คงอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5%ต่อปี โดยสภาพคล่องของระบบยังมีมากเพียงพอและ กนง.พร้อมที่จะใช้เครื่องมือที่มีอยู่สนับสนุนการขยายตัว และรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไป
ทั้งนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ขยายตัวดีกว่าที่ ธปท.คาดไว้ ขณะที่การส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้นช่วยให้การอุปโภคบริโภคของประชาชนดีขึ้นตามรายได้ของเกษตรกรที่ดีขึ้น รวมทั้งความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายที่ดีขึ้น ขณะที่การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนยังคงต้องรออีกระยะ
สำหรับปัญหาระเบิดและการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและในหลายประเทศนั้น ธปท.ยังคงติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แต่กรณีระเบิดที่เกิดขึ้นในไทยล่าสุดนั้น ขณะนี้ยังไม่เห็นผลกระทบที่มีต่อการท่องเที่ยว และเท่าที่ติดตามเหตุระเบิดที่เคยเกิดขึ้นในไทยนั้นพบว่ากรณีที่รุนแรงกว่านี้ภาคการท่องเที่ยวของไทยยังสามารถปรับตัวและรับมือจนกลับมาขยายตัวได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ ธปท.ยังเป็นกังวลคือ ปัญหาเรื่องความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ และประชาชน โดยเฉพาะในกรณีของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ซึ่งพบว่าส่วนหนึ่งไม่มีความสามารถในการปรับตัวทำให้เสียความสามารถในการแข่งขันและกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) โดยเท่าที่ ธปท. ประเมินตามปกติเมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว หนี้เอ็นพีแอลของแต่ละธุรกิจจะเริ่มลดลง แต่ในกรณีเอสเอ็มอีหนี้เอ็นพีแอลอาจจะยังสูงต่อเนื่อง เพราะธุรกิจที่แข่งขันไม่ได้คงไม่สามารถกลับมาทำธุรกิจได้เร็วอย่างที่คาดไว้
“อีกประเด็นหนึ่งที่ กนง.เป็นห่วงคือพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นของประชาชน ทำให้เกิดการลงทุนที่เกิดความเสี่ยงและนำไปสู่การหลอกลวง ทั้งกรณีของสหกรณ์ออมทรัพย์ และแชร์ ขณะที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ เป็นอีกภาคที่ ธปท.ติดตามการปรับตัวของผู้ประกอบการหลังสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปรับลดลงต่อเนื่อง โดยพบ ว่าอาจจะมีปัญหาจำนวนบ้านมากกว่าความต้องการอยู่บ้าง”
ขณะที่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากการประเมินผลิตภัณฑ์มวลรวมประเทศ หรือจีดีพี ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่า จีดีพีในภาคการเกษตรมีการขยายตัวสูงขึ้นถึง 7.7% จาก 3.0% ในไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 20 ไตรมาสนับตั้งแต่ไตรมาสที่สองของปี 55 และในปี 60 นี้ จีดีพีไตรมาสแรกขยายตัวถึง 7.74% มูลค่า 175,927 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าการบริหารจัดการในภาค การเกษตรเดินมาในทิศทางที่ถูกต้องแล้ว โดยเฉพาะโครงการแปลงใหญ่และโครงการประชารัฐ ซึ่งมีส่วนผลักดันจีดีพีภาคเกษตรอย่างมาก โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการแปลงใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นรายละ 1,100 บาท และเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการประชารัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นรายละ 1,400 บาท
ดังนั้น เพื่อให้ขับเคลื่อนให้โครงการแปลงใหญ่ของกระทรวงเกษตรฯมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในปีนี้จะเร่งผลักดันแปลงใหญ่ให้เชื่อมโยงภาคการตลาดมากขึ้น รวมทั้งปรับเป้าหมายโครงการแปลงใหญ่จากเดิมที่กำหนดไว้ใน 5 ปี จะต้องมี แปลงใหญ่เกิดขึ้นรวม 7,000 แห่ง แต่เนื่องจากปัจจุบันสามารถทำโครงการแปลงใหญ่ได้ถึง 2,000 แห่งแล้ว เกินเป้าหมายที่กำหนดไว้ 1,500 แห่ง โดยจะเพิ่มแปลงใหญ่ในปี 60 นี้ให้ถึง 3,000 แปลง
“โครงการดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าโครงการแปลงใหญ่มีประสิทธิภาพ สามารถลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรได้จริง โครงการแบบนี้ผมอยากเห็นให้มีมากขึ้นขยายเป็นวงกว้างให้ครอบคลุม เพราะเกษตรกรจะเรียนรู้ สามารถผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของตลาด และแก้ปัญหาเรื่องราคาตกต่ำหรือสินค้าล้นตลาดได้”.