“พาณิชย์” เผยมูลค่าส่งออกไทย 4 เดือนสูงสุดรอบ 6 ปี พุ่ง 5.7% ชี้เป็นสัญญาณขาขึ้นหลังการค้าโลกเดือน มี.ค.พุ่งสูงสุดรอบ 67 เดือน เร่งตั้งคณะทำงานติดตามมาตรการการค้าสหรัฐฯ เตรียมรับมือผลกระทบ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยถึงสถิติการค้าระหว่างประเทศของไทยว่า ในช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) ปีนี้การส่งออกมีมูลค่า 73,320.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 5.7% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี ถือเป็นสัญญาณสำคัญของภาคการส่งออกที่กลับมาฟื้นตัวชัดเจน ตามแนวโน้มการค้าโลกเดือน มี.ค.60 ที่ขยายตัว 12.4% สูงสุดในรอบ 67 เดือน โดยเมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 2.564 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.10% ส่วนการนำเข้า 69,211 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 14.47% คิดเป็นเงินบาท 2.450 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.86% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 4,109 ล้านเหรียญฯ หรือเกินดุล 114,282 ล้านบาท
“เศรษฐกิจโลกขณะนี้กำลังเริ่มฟื้นตัว โดยประเทศสำคัญ เช่น สหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีน ขยายตัวดีขึ้น ทำให้เป้าหมายการส่งออก 5% ที่กระทรวงตั้งไว้ น่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียง หลังจากนี้รัฐบาลต้องเร่งเครื่องผลักดันการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมาย และไม่ตกขบวนการค้าโลกที่ฟื้นกลับมา เพราะการส่งออกไทยเริ่มจุดไฟติดแล้ว”
สำหรับการส่งออกในเดือน เม.ย.60 มีมูลค่า 16,864.3 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 8.49% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมูลค่าสูงขึ้นกว่าเกณฑ์เฉลี่ยในรอบ 5 ปี เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 581,717 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.76% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 16,807.5 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 13.38% คิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 586,892.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.64% เกินดุลการค้า 56.8 ล้านเหรียญฯ แต่ขาดดุล 5,175.7 ล้านบาท
ส่วนรายละเอียดการส่งออกรายสินค้าเดือน เม.ย.60 พบว่า สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 2,831 ล้านเหรียญฯเพิ่มขึ้น 16.8% ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม 13,179 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 7.9% ด้านตลาดส่งออก พบว่า ตลาดหลักเพิ่ม 1.8% เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 3.5% ญี่ปุ่น เพิ่ม 3.3% เว้นสหภาพยุโรป (15 ประเทศ) ลบ 1.7%, ตลาดศักยภาพสูง เพิ่ม 13.8% เช่น อาเซียน เพิ่ม 13.2% จีน เพิ่ม 20.2% อินเดีย เพิ่ม 9.0%, ตลาดศักยภาพรอง เพิ่ม 3.5% เช่น ทวีปออสเตรเลีย เพิ่ม 8.8% แอฟริกา เพิ่ม 9.1% เว้นตะวันออกกลาง ลด 7.1% เป็นต้น ขณะที่สินค้านำเข้า พบว่าสินค้าทุน เพิ่ม 10.4% สินค้ากึ่งวัตถุดิบและสำเร็จรูป เพิ่ม 16% สินค้าเชื้อเพลิง เพิ่ม 34.7% เป็นต้น
น.ส.พิมพ์ชนกกล่าวว่า กระทรวงเตรียมตั้งคณะทำงานภายใน เพื่อติดตามมาตรการทางการค้าที่สหรัฐฯจะประกาศใช้ เบื้องต้นมี 2 จุดที่ต้องเร่งแก้ไขคือ กรณีที่เอกชนสหรัฐฯ ได้แจ้งสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (ยูเอสทีอาร์) ขอให้ใช้มาตรการทางการค้าที่เข้มข้นกับไทย และกรณีที่สหรัฐฯ แจ้งสภาคองเกรสเกี่ยวกับการทบทวนข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (นาฟตา) กับแคนาดา และเม็กซิโก แสดงให้เห็นว่า สหรัฐฯต้องการแก้ปัญหา และเจาะลึกลงมากขึ้น
“ประกาศที่แจ้งสภาคองเกรส คือสหรัฐฯ จะเน้นดิจิตัล เทรด โดยจะปรับการค้าสหรัฐฯให้เข้ากับโลกสมัยใหม่ และการปรับบทบัญญัติด้านทรัพย์สินทางปัญญา ภาคบริการ พิธีการศุลกากร แรงงาน สุขอนามัย เอสเอ็มอี และสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องติดตามว่าสหรัฐฯจะมีมาตรการอะไรออกมาเพิ่มเติมหรือไม่ ส่วนการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี/ซีวีดี) ก็ต้องดูเช่นกัน”.