ถอดเคล็ดลับ 'YP2G' โครงการพัฒนา 'คนเจนวาย' ที่ปตท.คว้ารางวัลในเวทีโลก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

ถอดเคล็ดลับ 'YP2G' โครงการพัฒนา 'คนเจนวาย' ที่ปตท.คว้ารางวัลในเวทีโลก

Date Time: 23 พ.ค. 2560 12:40 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • ปตท.ซึ่งเป็นองค์กร ที่มีพนักงานหลากหลายเจน และพนักงานแต่ละเจน มีความต้องการและวีถีการทำงานที่แตกต่างกัน การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ต้องใช้ความเข้าใจ และต้องพยายามทำให้คนเจนวาย สามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เต็มที่

Latest


งานวิจัยหลายๆ ชิ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับคน Generation Y หรือ Millennials เรียกกันสั้นๆ ว่า คนเจนวาย ซึ่งเกิดระหว่างปี พ.ศ. 2523-2538 ลักษณะพิเศษ ของคนเจนวาย คือ เติบโตและใช้ชีวิตท่ามกลางการสื่อสารแบบดิจิทัล คนเหล่านี้มีความคิดสร้างสรรค์ ยืดหยุ่นในการทำงาน ชอบความท้าท้าย และชอบความก้าวหน้า

อย่างไรก็ตาม คนเจนวาย กำลังก้าวเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในสังคม หน่วยงาน และองค์กรต่างๆ ซึ่งหลายงานวิจัย ก็ให้ข้อมูลตรงกันว่า คนเจนวาย กำลังเป็นฟันเฟืองสำคัญในองค์กร และหน่วยงานต่างๆ ที่จะร่วมเปลี่ยนแปลง และมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ กำหนดทิศทางร่วมกับคนรุ่นเก่า หรือคนระดับบนในองค์กร ด้วยบริบทเหล่านี้ จึงทำให้หลายองค์กรให้ความสำคัญกับกลุ่มคนเจนวายมากขึ้น

เฉกเช่นเดียวกับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นองค์กร มีพนักงานหลากหลายอายุ และเจนเนอเรชั่นและพนักงานแต่ละเจน มีความต้องการและวีถีการทำงานที่แตกต่างกัน การสร้างผู้นำรุ่นใหม่ต้องใช้ความเข้าใจ และต้องพยายามทำให้คนเจนวาย สามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ให้เต็มที่ และในขณะเดียวกันก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรให้ได้

คุณกฤษณ์ อิ่มแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรัพยากรบุคคลและศักยภาพองค์กร บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) อธิบายถึงเหตุผลการพัฒนาคนในองค์กร และคนเจนวาย ว่า ปตท.เชื่อว่าการสร้างทรัพยากรมุนษย์ (Human Capital) ให้มีความรู้ และพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้น ถือเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ พันธกิจ และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ และการส่งเสริมคนดีและคนเก่งนั้นเป็นสิ่งสำคัญ

ทั้งนี้ ปตท.มีพันธกิจ SPIRIT ซึ่งเป็นค่านิยมของ กลุ่ม ปตท. โดยเริ่มที่
S : Synergy ของการสร้างพลังที่ยิ่งใหญ่ร่วมกัน
P : Performance Excellence เพื่อร่วมมือกันสู่ความเป็นเลิศ
I : Innovation การสร้างนวัตกรรม
R : Responsibility for Society การสร้างสำนึกดีให้กับสังคม
I : Integrity & Ethic เพื่อสร้างจริยธรรม และความซื่อสัตย์
T : Trust & Respect สร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในองค์กร

ทั้งนี้ ด้วยพันธกิจดังกล่าว จะช่วยให้บริษัทในกลุ่ม ปตท. ผู้บริหาร และพนักงาน มีความเชื่อในการสร้างวิถีและทิศทางการทำงานที่สอดคล้องร่วมกัน จะช่วยสร้างความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์สู่สายตาคนภายนอกและนำองค์กรสู่การเป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศอย่างยั่งยืน

คุณกฤษณ์ กล่าวต่อว่า การให้ความสำคัญกับคนเจนวาย ก็เป็นอีกประเด็นสำคัญ และเราก็ร่วมพัฒนาไปกับคนเจนอื่นๆ เพื่อการเติบโตของบริษัทในอนาคต เราจึงจัดทำโครงการพัฒนาคนเจนวายขึ้นมา ภายใต้ชื่อโครงการ Young People to Global (YP2G)

ทั้งนี้ เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงานทุกกลุ่มทุกฝ่ายอาชีพ ที่มีศักยภาพ ได้มีโอกาสแสดงออกถึงคุณสมบัติการเป็น Next generation Leaders ผ่านการปฏิบัติงานจริง (On-the-job training) และเน้นการพัฒนา Core Competency เพื่อสร้างผู้นำที่สามารถรองรับภารกิจขององค์กร โดยเฉพาะในต่างประเทศ ซึ่งกำหนดระยะเวลาการพัฒนา จำนวน 2 ปี และใช้เวลา 6 เดือนต่อ 1 การหมุนเวียน

สำหรับ โครงการ YP2G นั้น ได้รับการตอบรับที่ดีจากพนักงานตั้งแต่ปี 2557 มีพนักงานสนใจเข้าสมัครร่วมโครงการ 475 คน แบ่งได้ดังนี้ ปี 2557 มีพนักงานเข้าสมัครโครงการจำนวน 167 คน ปี 2558 มีพนักงานเข้าสมัครโครงการจำนวน 116 คน ปี 2559 มีพนักงานเข้าสมัครโครงการจำนวน 77 คน ปี 2560 มีพนักงานเข้าสมัครโครงการจำนวน 115 คน โดยการคัดเลือกพนักงานนั้นก็ค่อนข้างเข้มข้นพอสมควร

ปัจจุบัน มีพนักงานที่อยู่ในโครงการ YP2G จำนวน 32 คน โดยเรามีการส่งพนักงานไปปฏิบัติงานในต่างประเทศ และในประเทศ ที่ปตท.ได้ไปทำกิจการอยู่ ได้แก่ พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย และสหรัฐอเมริกา

"โครงการ YP2G นั้น เป็นการดึงศักยภาพให้พนักงานที่เข้าร่วมโครงการ มีประสบการณ์ในการทำงานที่หลากหลาย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้พนักงานมีโอกาสในการเรียนรู้ และการค้นพบความถนัด จุดแข็ง และจุดอ่อนของตนเอง มีคอนเน็กชั่น ในการทำงานหลากหลายระดับ ตั้งแต่ผู้ปฏิบัติงานถึงระดับผู้บริหาร ทั้งภายในและภายนอกบริษัท"

นอกจากนี้ เราต้องมีระบบการบริหารจัดการความสามารถพิเศษ (Talent) ของผู้ที่เข้าร่วมโครงการ YP2G โดยใส่ใจทุกขั้นตอน สิ่งสำคัญคือ เมื่อได้พนักงานที่มีความสามารถพิเศษเหล่านี้กลับเข้ามาในระบบปกติ เราจะต้องพัฒนาทักษะ โดยการมอบหมายงานที่เหมาะสม ดูแลความก้าวหน้าในอาชีพ และติดตามผลการทำงานอย่างใกล้ชิด (Coaching, Mentoring System) รวมทั้งต้องสร้างความผูกพันในองค์กรให้กับพนักงาน และที่สำคัญจะต้องไม่ลืมพนักงานส่วนใหญ่ขององค์กรอีกด้วย

คุณกฤษณ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่น่าภาคภูมิใจมากที่สุดคือ The Association for Talent Development (ATD) ที่เป็นองค์กรด้านพัฒนาบุคคลที่มีชื่อเสียงในระดับโลก และมีประเทศสมาชิกกว่า 120 ประเทศก่อตั้งในปี 1944 ได้มอบรางวัล ATD Excellence in Practice (Honorable Mention Citation) ในประเภท Career Development เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 60 ที่ผ่านมา ณ เมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา

โดยปลายปี 2559 ที่ผ่านมา ปตท.ได้นำโครงการ YP2G เข้าร่วมประกวดกับ ATD Excellence in Practice เป็นปีแรก และเมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา ATD ได้ประกาศผลพิจารณารางวัลผลงานโครงการที่บริษัทองค์กรต่างๆ เข้าร่วมประกวดกว่า 220 หัวข้อทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม รางวัลนี้ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้กับคนในองค์กรปตท. เพราะเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาทรัพยากรบุคคล ที่ปตท.ยึดถือมาอย่างต่อเนื่อง และยังแสดงว่า องค์กรสามารถสร้างโปรแกรมพัฒนาความสามารถพิเศษของพนักงาน ให้เป็นที่ยอมรับตามมาตรฐานโลกได้ 'ความสำเร็จขององค์กรที่เกิดขึ้นในวันนี้ คือส่วนสำคัญต่อพนักงานที่ถือเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ามากที่สุด'

คุณกฤษณ์ กล่าวอีกว่า ปตท.เองก็พยายามสร้างและคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของสังคมโลก และทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ล่าสุดมีการจัดตั้งหน่วยงาน ExpresSo หรือ Express Solution เพื่อเป็นหลักในการวิเคราะห์ และคัดเลือกแนวคิดธุรกิจใหม่ๆ คล้ายกับ Venture Capital หรือ ธุรกิจเงินร่วมลงทุน ซึ่งจะมองหานวัตกรรมที่มีอยู่ในปตท.อยู่แล้ว หรือ มองหาคนมีไอเดีย การคิดค้นนวัตกรรมต่างๆ มาร่วมธุรกิจกัน (Startup) ซึ่งหน่วยงาน ExpresSo นี้เองจะมีพนักงานที่มาจากโครงการ YP2G เข้าร่วมงานเป็นส่วนใหญ่

สำหรับตัวแทนพนักงานโครงการ YP2G รุ่นแรกคือ เธียร ธนะพรพันธุ์ รักษาการผู้จัดการส่วนด้านการตลาดในบริษัทลูกของ ปตท. ที่ประเทศพม่า และ ณัฐชา ตู้จินดา รักษาการผู้จัดการส่วนการเงิน ปฏิบัติการที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งปัจจุบันทั้ง 2 ยังคงอยู่ในโครงการ YP2G  

เธียร อธิบายให้ฟังว่า สิ่งแรกที่ต้องทำคือการไปเรียนภาษา และเรียนรู้วัฒนธรรมต่างๆ ของประเทศที่เราต้องไปอยู่ โดยก่อนหน้านี้ ตนเองเป็นนักเรียนทุนของปตท.ด้วย ส่วนหนึ่ง ก็อยากจะลองดูศักยภาพของตนว่าเป็นอย่างไร จึงสมัครเข้าร่วมโครงการ 

"สิ่งที่ภาคภูมิใจมากที่สุด ผมมีโอกาสได้นำเสนองานเกี่ยวกับพลังงานให้กับรมต.พลังงานของพม่า ซึ่งผมดีใจมากที่มีโอกาสเช่นนี้ เนื่องจากผมมาจากครอบครัวคนชั้นกลาง การได้นำเสนองานให้กับผู้บริหารของประเทศ ก็เป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมากที่สุด"

สำหรับโครงการ YP2G นั้น เป็นโครงการที่ดีมาก ทำให้ตนรู้จักศักยภาพของตัวเอง ค้นพบตัวตน และได้เรียนรู้การแก้ปัญหาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังได้เรียนรู้ประสบการณ์ในการร่วมงานกับคนที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็น ช่วงอายุ วัฒนธรรม และการทำงาน อีกด้วย

ส่วน ณัฐชา กล่าวว่า ตนก็เป็นคนหนึ่งที่อยู่ในช่วงเจนวาย ชอบความท้าทาย จึงร่วมสมัครเข้าร่วมโครงการ YP2G หลังจากผ่านการคัดเลือกแล้ว ก็ไปปฏิบัติงาน โดยจะต้องเข้าเรียนภาษาที่ใช้ในประเทศนั้นๆ ก่อน ซึ่งตนถือเป็นความท้าทาย และเป็นการทดสอบขั้นแรก

"เรียกได้ว่า แต่ละโปรเจกต์ที่เราได้รับมอบหมาย มักจะเป็นโปรเจกต์ที่ต้องการให้จัดการเร็วที่สุด หรือมีปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ แต่เราไม่ได้เดินอยู่ลำพัง จะมีหัวหน้างาน หรือโค้ช เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ หลังจากนั้น ทางโครงการก็จัดการประชุม เพื่อประเมินผลอยู่เสมอ หลังจากปฏิบัติภารกิจเสร็จสิ้น เพื่อติดตามผลว่าเราเป็นอย่างไร หลังจากได้รับมอบหมายงาน และเพื่อดูศักยภาพว่าเราปฏิบัติงานได้หรือไม่ ซึ่งเพื่อนร่วมโครงการบางคนก็ค้นพบศักยภาพของตนเองในระหว่างนี้" ณัฐชา กล่าวทิ้งท้าย

อย่างไรก็ตาม โครงการ YP2G นอกจากจะดึงศักยภาพของผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว ยังสามารถผลิตผู้นำ ผู้บริหารยุคใหม่ที่มีคุณภาพทั้งเก่ง และดี ควบคู่กันไป ซึ่งการพัฒนาบุคลากรของปตท.ไม่ได้สิ้นสุดเพียงแค่โครงการนี้ แต่ยังมีโครงการอีกจำนวนมากที่ช่วยพัฒนาพนักงานในองค์กร รวมทั้งมีการหล่อหลอมให้เกิดคนดี และคนเก่ง เพื่อพัฒนาองค์กร และประเทศชาติต่อไปอีกด้วย


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ