ความหวังไทยแลนด์ 4.0 ยังห่างไกล อึ้ง! ดีอีรายงาน ครม.ติด “อินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน” ได้แค่ 99 หมู่บ้าน จากที่ตั้งเป้าติดตั้งเสร็จ 24,700 หมู่บ้านแรกในปีนี้ ส่วนหมู่บ้านพื้นที่กันดาร เลื่อนไปติดตั้งเสร็จสิ้นปีหน้า ด้าน กสทช.รายงานปิดเว็บหมิ่นคืบหน้าไปมาก ปลื้มเฟซบุ๊กให้ความร่วมมือ
นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารวม.พาณิชย์ กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบผลการดำเนินการโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศวงเงิน 20,000 ล้านบาท ตามที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เสนอ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนแรก การขยายโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ หรือโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านวงเงิน 15,000 ล้านบาท และการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศวงเงิน 5,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการเชื่อมต่อเคเบิ้ลใต้น้ำ
สำหรับโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านนั้น ส่วนแรก คือ โครงการอินเตอร์เน็ตประชารัฐเป็นพื้นที่ที่มีผู้คนอยู่หนาแน่นเข้าถึงได้ง่าย โดยมีกระทรวงดีอีเป็นผู้ดูแลโครงการ ความคืบหน้าในขณะนี้ สามารถติดตั้งอินเตอร์เน็ตไปแล้วจำนวน 99 หมู่บ้าน โดยมีเป้าหมายจะติดตั้งให้เสร็จสิ้นรวมทั้งสิ้น 24,700 หมู่บ้าน ซึ่งจะเสร็จภายในสิ้นปีนี้ แบ่งเป็นเป้าหมายในเดือน พ.ค.นี้จะติดตั้งจำนวน 3,099 หมู่บ้าน, เดือน มิ.ย. 2,800 หมู่บ้าน, เดือน ก.ย. 8,200 หมู่บ้าน, และเดือน ธ.ค. 10,601 หมู่บ้าน ขณะที่พื้นที่ถัดมาจะเป็นพื้นที่ที่เข้าถึงยากขึ้นมีจำนวน 15,732 หมู่บ้าน และพื้นที่ที่เข้าถึงยากอยู่ห่างไกลทุรกันดารอีกจำนวน 3,900 หมู่บ้าน สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้ดูแล ซึ่งทั้ง 2 โครงการนี้คาดจะเสร็จในกลางปีหรือไม่เกินสิ้นปี 2561
“ลักษณะการติดตั้งอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านจะใช้วิธีการเดินสายไฟเบอร์ออฟติกเข้าไป แล้วภายในหมู่บ้านก็จะประชุมกันว่าจะให้ไปลง ณ จุดไหน จุดนั้นจะเป็นไวไฟเน็ตเวิร์ก หลังจากนั้นหากบ้านใครต้องการที่จะลากสายต่อไปที่บ้านตัวเองก็เป็นเรื่องการจ้างเอกชนมาดำเนินการต่อ แต่ในหมู่บ้านจะมีจุดฟรีไวไฟหมู่บ้านละ 1 จุด”
ขณะเดียวกัน กระทรวงดีอีได้ขอขยายระยะเวลาการเบิกจ่ายเงินโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านวงเงิน 13,000 ล้านบาท ที่เดิมกำหนดไว้ให้สิ้นสุดเดือน มี.ค.2560 ขยายเป็นภายในเดือน ก.ย. 2561 และเหตุผลที่เหลือวงเงิน 13,000 ล้านบาท จาก 15,000 ล้านบาทนั้น เนื่องจากมี กสทช.มาช่วยวางโครงข่ายให้ด้วยทำให้เหลืองบประมาณปี 2560 ที่ยังไม่ได้เบิกจ่าย 2,000 ล้านบาท จึงขอโยกงบประมาณจากโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านไปในส่วนการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณปี 2559 คงเหลือจากการดำเนินกิจกรรมอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านจำนวน 1,639 ล้านบาท ส่วนนี้ขอเปลี่ยนแปลงงบประมาณไปใช้สำหรับภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล หรืองบประมาณเพื่อบำรุงรักษา
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการดำเนินการติดตั้งอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งในส่วนที่ กสทช.รับผิดชอบนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน โดยส่วนแรก เป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกล และตามแนวชายแดน จำนวน 3,920 หมู่บ้าน วงเงิน 11,000 ล้านบาท คาดว่าจะเปิดประมูลได้ในเดือน มิ.ย.นี้ และลงนามในสัญญาจ้างผู้ชนะประมูลติดตั้งอินเตอร์เน็ตในเดือน ก.ย.60 และเริ่มทยอยติดตั้ง คาดว่าจะครบ 3,920 หมู่บ้าน ภายในปี 2561
ส่วนที่ 2 กสทช.ได้รับมอบหมายเพิ่มเติมอีก 14,000 หมู่บ้าน ขณะนี้ กสทช.ได้ว่าจ้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ลงพื้นที่สำรวจแล้ว ขณะนี้ยังไม่ได้กำหนดกรอบวงเงินในการดำเนินการ อย่างไรก็ตาม กสทช.ตั้งเป้าหมายว่าภายในปลายปีนี้จะต้องเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และทยอยติดตั้งเพื่อให้แล้วเสร็จครบ 14,000 หมู่บ้าน ภายในปี 2561
นายฐากรยังได้กล่าวถึงการประสานงานกับผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตในประเทศไทย (ไอเอสพี) เพื่อให้ปิดเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายและไม่เหมาะสมว่า ได้ดำเนินการเพิ่มเติมอีก 34 เว็บไซต์แล้ว ยังคงเหลืออีก 97 เว็บไซต์เท่านั้น ที่ยังไม่สามารถปิดได้ จากเดิม 131 เว็บไซต์ เนื่องจากต้องรอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ส่งหมายศาลมาให้ไอเอสพี เพื่อดำเนินการปิดเว็บไซต์ต่อไป
“กสทช.มีความพอใจในการทำงานของเฟซบุ๊กและไอเอสพีเป็นอย่างมาก ที่ปิดเว็บไซต์หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ และเว็บไซต์ที่ผิดกฎหมายเกือบหมดแล้ว เหลือเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งจากการประสานงานกับเฟซบุ๊กในช่วงที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ยินดีและพร้อมปฏิบัติตามกฎหมายไทย ซึ่งเฟซบุ๊กได้นำเพจที่มีเนื้อหาผิดกฎหมายและเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ออกจากบัญชีของเฟซบุ๊กเกือบหมดแล้วเช่นกัน โดยเฟซบุ๊กแจ้งว่า หากรัฐบาลไทยต้องการให้ปิดเพจใด และบัญชีใด ก็ขอให้ส่งหมายศาลมา ทางเฟซบุ๊กพร้อมดำเนินการให้”.