กรมการค้าต่างประเทศ เผย นบข. ไฟเขียวขายข้าวสต๊อกรัฐ อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่คนบริโภค 1.62 ล้านตัน ยันขายตามราคาเสนอซื้อสูงสุด เหมาะสมกับสภาพ พร้อมเปิดประมูลข้าวเสื่อมเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่คน-สัตว์บริโภคอีกล้านตัน 28 เม.ย.
เมื่อวันที่ 19 เม.ย. นางดวงพร รอดพยาธิ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ได้เห็นชอบอนุมัติขายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลปริมาณ 1.62 ล้านตัน มูลค่าเสนอซื้อ 7,929.58 ล้านบาท ให้กับผู้เสนอซื้อราคาสูงสุด 13 ราย ที่เข้าร่วมการประมูลซื้อข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคน ครั้งที่ 1/60 เมื่อวันที่ 23 มี.ค.ที่ผ่านมา คิดเป็นสัดส่วน 44.32% ของปริมาณที่นำมาเปิดประมูลทั้งสิ้น 3.66 ล้านตัน
สำหรับราคาที่เสนอซื้อนั้น คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ที่มีปลัดกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นราคาเสนอซื้อสูงสุด ที่เหมาะสมกับสภาพข้าว โดยใช้เกณฑ์เรื่องภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลในการเก็บรักษาข้าวหากไม่ขายตามที่มีการเสนอซื้อ รวมถึงผลกระทบต่อตลาดข้าว และธัญพืชอื่นๆ มาพิจารณาประกอบกันด้วย โดยกรมได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ชนะการประมูลมาทำสัญญาซื้อขายข้าวกับองค์การคลังสินค้า (อคส.) และองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) ภายใน 15 วันทำการแล้ว
ทั้งนี้ ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) บริหารประเทศ สามารถระบายข้าวในสต๊อกรัฐบาลไปได้แล้วกว่า 11 ล้านตัน มูลค่ากว่า 110,000 ล้านบาท จากปริมาณที่รับภาระมาจากรัฐบาลชุดก่อนประมาณ 18 ล้านตัน โดยกระทรวงตั้งเป้าหมายระบายข้าวในสต๊อกให้หมดภายในปีนี้
นอกจากนี้ นบข. ยังได้เห็นชอบให้กรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะทำงานพิจารณาการระบายข้าว ออกประกาศการจำหน่ายข้าวสารในสต๊อกของรัฐบาลเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ไม่ใช่การบริโภคของคนและสัตว์ ครั้งที่ 1/60 ปริมาณ 1.03 ล้าน โดยเปิดให้ผู้สนใจดูสภาพข้าวในคลังสินค้า วันที่ 19–25 เม.ย.นี้ และเปิดรับฟังการชี้แจงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการออกประกาศประมูล (ทีโออาร์) วันที่ 20 เม.ย. จากนั้นวันที่ 26 เม.ย. จะเปิดให้ผู้สนใจยื่นซองคุณสมบัติ และจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติ พร้อมเปิดให้ยื่นซองเสนอราคาซื้อวันเดียวกันในวันที่ 28 เม.ย.นี้
"นบข.ให้ความสำคัญกับการจัดระบบมาตรการการตรวจสอบ การกำกับดูแล และการติดตามการนำข้าวดังกล่าวไปใช้ในอุตสาหกรรมที่ไม่ใช่เพื่อการบริโภคของคนและสัตว์อย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้ข้าวรั่วไหลเข้าสู่ระบบการค้าปกติ เพราะข้าวลอตนี้ไม่เหมาะกับการบริโภคทั้งของคน และสัตว์".