สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ หรือ USTR ติงไทยแก้ไขปัญหาละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาล่าช้า เตรียมนำผลการประชุมรายงาน 'ทรัมป์'
เมื่อวันที่ 3 เม.ย. 60 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะมนตรีภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา (TIFA JC) ระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส และสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ (USTR) ซึ่งถือเป็นการหารืออย่างเป็นทางการครั้งแรกภายใต้รัฐบาลของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ
สำหรับประเด็นการหารือส่วนใหญ่เป็นการติดตามความคืบหน้าการดำเนินการให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลของไทยในหลายเรื่อง เช่น การคุ้มครองและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน และการเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ โดยสหรัฐฯ เห็นว่าไทยยังแก้ไขปัญหาต่างๆ ล่าช้า โดยเฉพาะทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสหรัฐฯ จะนำผลการประชุมทั้งหมดไปรายงานต่อนายทรัมป์
นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือแนวทางความร่วมมือในแบบหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งสหรัฐฯ จะแจ้งรายชื่อหน่วยงาน และบริษัทเอกชนของสหรัฐฯ ที่ควรจัดทำความร่วมมือกับไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันแบบ win-win ต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้หารือแก้ไขประเด็นเชิงเทคนิค เพื่อนำไปสู่การขยายการค้าการลงทุน โดยไทยได้เน้นถึงความคืบหน้าในการดำเนินการให้ทัดเทียมมาตรฐานสากลในหลายเรื่อง อาทิ การคุ้มครองและปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา การคุ้มครองสิทธิแรงงาน และการเดินหน้าตามแผนปฏิบัติการงาช้างแห่งชาติ รวมทั้งผลักดันให้สหรัฐฯ พิจารณาเพิ่มเติมสิทธิทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ในสินค้าเครื่องเดินทางให้กับทุกประเทศที่ได้รับสิทธิภายใต้โครงการจีเอสพี เนื่องจากการขยายสิทธิดังกล่าวเป็นความต้องการของภาคเอกชนของสหรัฐฯ เช่นกัน
ขณะที่ ประเด็นนโยบายการเจรจาความตกลงการค้าระหว่างประเทศ หลังจากสหรัฐฯ ประกาศยุติการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ทีพีพี) นั้น เบื้องต้น ยังอยู่ระหว่างกำหนดนโยบายและการแต่งตั้งผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ซึ่งจะมีความชัดเจนหลังจากนี้
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงได้ประชุมระดับบริหาร เพื่อวางมาตรการรองรับต่อคำสั่งของนายทรัมป์ ซึ่งทุกฝ่ายเร่งจัดเตรียมข้อมูล เพื่อจัดหมวดหมู่สินค้าที่ส่งออกไปยังตลาดสหรัฐฯ ก่อนจะนัดหารือกับภาคเอกชนเจาะรายอุตสาหกรรมในช่วงวันที่ 10-11 เม.ย.นี้
อย่างไรก็ดี ในการประชุม TIFA ทั้ง 2 ประเทศได้กำหนดวันที่จะประชุมร่วมกันมานานแล้ว ไม่ได้เป็นการหารือในเรื่องของคำสั่งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อคู่ค้า 16 ประเทศ ที่ได้ดุลการค้าสหรัฐฯ แต่อย่างใด.