“แอปกู้เงินเถื่อน” ตรวจสอบอย่างไร และทางรอด เมื่อตกเป็นเหยื่อไม่รู้ตัว หน่วยงานไหนช่วยได้

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

“แอปกู้เงินเถื่อน” ตรวจสอบอย่างไร และทางรอด เมื่อตกเป็นเหยื่อไม่รู้ตัว หน่วยงานไหนช่วยได้

Date Time: 14 ม.ค. 2568 11:38 น.

Video

“โกษาปาน ดิสติลเลอรี่” สุรากลั่นเชื่อมวัฒนธรรม | BrandStory Special EP x เมรัยไทยแลนด์

Summary

  • Thairath Money สรุปวิธีสังเกตและตรวจสอบแอปกู้เงินผิดกฎหมาย พร้อมแนวทางรับมือเมื่อตกเป็นเหยื่อ ป้องกันถูกทวงหนี้โหด ล้วงข้อมูลออนไลน์

Latest


จากกรณี OPPO และ Realme แอบติดตั้งแอปพลิเคชันกู้เงิน “สินเชื่อความสุข” และ “Fineasy” มากับโทรศัพท์มือถือล่วงหน้า โดยไม่สามารถถอนการติดตั้งได้ และไม่ได้รับอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จนถูกผู้ใช้งานร้องเรียนว่าตั้งใจละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อผลประโยชน์ซ่อนเร้นหรือไม่ อีกทั้งยังมีคนได้รับความเสียหาย ถูกคิดดอกเบี้ยเงินกู้เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และถูกโทรข่มขู่เพื่อทวงหนี้

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้สั่งให้บริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ OPPO และบริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ Realme หยุดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ทุกรุ่นที่มีการติดตั้งแอปพลิเคชันกู้เงินล่วงหน้า และเร่งอัปเดตซอฟต์แวร์เพื่อถอนการติดตั้งแอปพลิเคชันดังกล่าวสำหรับโทรศัพท์มือถือรุ่นเก่า และต้องชี้แจงแนวทางแก้ไขภายในวันที่ 16 ม.ค.นี้ หากไม่ปฏิบัติตามจะถูกปรับเป็นเงิน 3 ล้านบาท

เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อแอปกู้เงินเถื่อน Thairath Money สรุปวิธีสังเกตและตรวจสอบแอปกู้เงินผิดกฎหมาย พร้อมแนวทางแก้ไขเมื่อตกเป็นเหยื่อ

แอปกู้เงินถูกกฎหมาย เช็กอย่างไร

1. ได้รับอนุญาตจาก ธปท.

แอปกู้เงินถูกกฎหมายต้องมีใบอนุญาตจากกระทรวงการคลัง และภายใต้การกำกับของ ธปท. เท่านั้น ทั้งแอปพลิเคชันจากสถาบันการเงิน และ Non-bank โดยสามารถตรวจสอบข้อมูลผ่านฐานข้อมูลการเช็กแอปกู้เงินของธนาคารแห่งประเทศไทยได้โดยตรง ดังนี้

วิธีตรวจสอบ

  • นำข้อมูลชื่อแอปและชื่อผู้ให้บริการไปตรวจสอบในเว็บไซต์ ธปท. ในหัวข้อ "เช็กแอปเงินกู้" ที่รวบรวมรายชื่อผู้ให้บริการที่ได้รับอนุญาตในส่วนที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำกับดูแล
  • หากแอปกู้เงินไหนที่มีรายชื่ออยู่บนหน้าเว็บของ ธปท. แสดงว่าบริษัทเหล่านั้นมีหลักเกณฑ์การให้บริการถูกกฎหมาย และจะไม่นำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้อย่างผิดกฎหมาย

2. บอกเงื่อนไขการกู้ชัดเจน

ปัจจุบันการขอสินเชื่อจากแอปกู้เงินจะต้องสมัครและส่งข้อมูลออนไลน์ในแอป ซึ่งแอปพลิเคชันที่ถูกกฎหมายจะต้องเปิดเผยรายละเอียดการขอสินเชื่อที่ชัดเจน ครบถ้วน เพื่อให้ผู้ใช้บริการพิจารณาเงื่อนไขก่อนตัดสินใจขอสินเชื่อ

  • ต้องมีการเปิดเผยอัตราดอกเบี้ยอย่างละเอียดตามประเภทสินเชื่อที่ทางแอปได้ระบุเอาไว้
  • มีการระบุค่าบริการ เบี้ยปรับ จำนวนวงเงิน ระยะเวลาผ่อนชำระคืนอย่างละเอียดและครบถ้วน
  • มีรายละเอียดและเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน ให้ข้อมูลครบ ไม่มีเนื้อความแอบแฝง

3. คิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินที่ ธปท. กำหนด

แอปเงินกู้ถูกกฎหมายต้องมีอัตราดอกเบี้ยไม่เกินที่กฎหมายกำหนด ตามที่ ธปท.ได้กำหนดเอาไว้ตามประเภทสินเชื่อดังนี้

  • สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพฯ (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์) ต้องไม่เกิน 33% ต่อปี
  • สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ต้องไม่เกิน 36% ต่อปี
  • สินเชื่อส่วนบุคคล (P-Loan) ไม่เกิน 25% ต่อปี (สำหรับสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกันต้องไม่เกิน 24%)
  • บัตรเครดิต (Credit Card) คำนวณรวมกันแบบลดต้นลดดอก ต้องไม่เกิน 16% ต่อปี
  • ผู้ให้บริการอื่น ๆ มิให้คิดดอกเบี้ยเกิน 15% ต่อปี

4. ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมก่อนทำสัญญา

แอปกู้เงินถูกกฎหมายจะไม่มีการเรียกเก็บค่าดำเนินการใดๆ ก่อนเริ่มทำสัญญากู้เงิน เนื่องจากแอปพลิเคชันจะมีการทำสัญญาและส่งมอบเงินกู้ให้ผู้ใช้บริการอย่างครบถ้วนตั้งแต่ครั้งแรก หากแอปใดให้วางค่ามัดจำให้สันนิษฐานไปก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ เพื่อล้วงข้อมูล

สิ่งที่ต้องทำ เมื่อหลงกู้เงินจากแอปเถื่อน

1. ตั้งสติและทำสิ่งต่อไปนี้
หลีกเลี่ยงการเปิดอ่านข้อความหรือรับโทรศัพท์จากแอปฯ กู้เงินเถื่อนที่มาทวงหนี้
รวบรวมหลักฐานและข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ครบที่สุดเท่าที่มี เช่น รายการเดินบัญชี (Statement) ที่กู้เงินออนไลน์ ชื่อและหน้าแอปฯ กู้เงินเถื่อน หลักฐานการ Chat

2. นำหลักฐานทั้งหมดที่รวบรวมได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน รวมถึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงานไปยังตำรวจไซเบอร์ (บก.สอท.)

3. แจ้งสายด่วน 1559 หรือสายด่วนของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หากถูกปลอมแปลงหรือขโมยข้อมูลออนไลน์ เพื่อกู้คืนหรือแก้ไขบัญชีให้ถูกต้อง

ที่มา

ติดตามข้อมูลด้านเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาล กับ ThairathMoney ได้ที่ 
https://www.thairath.co.th/money/economics/thailand_econ
ติดตามเพจ Facebook : Thairath Money ได้ที่ลิงก์นี้  https://www.facebook.com/ThairathMoney


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ