นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า กระทรวงดีอีจะเสนอแก้ไขพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 เข้าสู่การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 13 ม.ค. 2568 เพื่อให้การแก้ปัญหาอาชญากรรมออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยสาระสำคัญของการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ คือการกำหนดให้สถาบันการเงินและผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ (โอเปอเรเตอร์) ร่วมรับผิดชอบคืนเงินให้เหยื่ออาชญากรรมออนไลน์ ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบจากครม.แล้ว จะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 3 วันเพื่อจะให้มีผลบังคับใช้ทันที
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะออกมาตรการเสริม คือการควบคุมการซื้อ-ขายซิมการ์ดของนิติบุคคล ซึ่งสามารถหลีกเลี่ยงการลงทะเบียนยืนยันตัวตนได้ เพื่อป้องกันการใช้ในกิจกรรมผิดกฎหมาย โดยจะมีการหารือออกมาตรการกับทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือกสทช. โดยเมื่อวันที่ 1 ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา ยังได้เริ่มต้นมาตรการกำหนดให้ผู้ส่ง SMS แนบลิงก์ ต้องลงทะเบียนชื่อและตรวจสอบเนื้อหากับโอเปอเรเตอร์ ก่อนที่จะมีการส่งด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ร่างแก้ไขพ.ร.ก.ดังกล่าว ยังรวมถึงการกำหนดแนวทางสำหรับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊กและติ๊กต็อก (TikTok) ให้มีส่วนร่วมในการคัดกรองเนื้อหาและโฆษณาที่เกี่ยวข้องกับการพนันออนไลน์ เพื่อไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวง หากไม่ปฏิบัติตามหรือปล่อยละเลยถือว่าความผิดตามกฎหมายด้วย
ด้านนางสาวดารณี แซ่จู ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา มีกรณีผู้เสียหายจากการถูกมิจฉาชีพขโมยบัตรเครดิตไปชำระค่าสินค้าและบริการ จากการเข้ารับบริการในออนเซ็นหลายแห่ง ธปท.ได้สั่งการให้ธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการบัตรเครดิตเร่งตรวจสอบ ดูแล และชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นแก่ลูกค้าทุกรายในกรณีดังกล่าว โดยกรณีบัตรเครดิต ผู้ถือบัตรจะไม่ต้องชำระเงินและดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ส่วนกรณีบัตรเดบิต ธนาคารจะคืนเงินให้ผู้ถือบัตรตามยอดที่ถูกตัดชำระภายใน 5 วัน นับแต่วันที่มีเหตุอันเชื่อได้ว่าไม่ได้เกิดจากความผิดของผู้ถือบัตรหรือผู้ถือบัตรไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งธนาคารพาณิชย์และผู้ให้บริการบัตรเครดิตจะต้องเข้มงวดในการปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว