"เหลียวหลัง-แลหน้า" วัดสุขภาพเศรษฐกิจไทย รับมือ "ปีแห่งความท้าทาย" 2568

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"เหลียวหลัง-แลหน้า" วัดสุขภาพเศรษฐกิจไทย รับมือ "ปีแห่งความท้าทาย" 2568

Date Time: 3 ม.ค. 2568 06:30 น.

Summary

  • “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งมีมุมมองสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งการเหลียวหลังไปในปี 2567 ซึ่งเป็นหนึ่งปีที่คนไทยประสบกับความยากลำบากจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว

Latest

“สุริยะ” สานฝัน “รถไฟไทย” โกอินเตอร์ จุดเปลี่ยนระบบรางสู่มาตรฐานที่ยั่งยืน

นอกเหนือจากการเฉลิมฉลองในช่วงวันหยุดยาวส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ที่พวกเราทำกันทุกปีแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่คนไทยส่วนใหญ่จะทำในช่วงนี้ก็คือ การมองย้อนกลับไปในปีที่ผ่านมาว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง และมองไปข้างหน้าเพื่อที่จะวางแผนการดำเนินชีวิต หรือดำเนินธุรกิจในปีใหม่นี้ เช่นเดียวกับ “ภาพใหญ่ของเศรษฐกิจไทย” ซึ่งตามปกติทุกๆปีใหม่ “ทีมเศรษฐกิจหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” มีรายงานพิเศษ “เหลียวหลัง แลหน้าเศรษฐกิจไทย” เพื่อให้เห็นทิศทางเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาว่ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง และจะส่งผลต่อเนื่องมายังปีใหม่นี้อย่างไร รวมทั้งมองทะลุให้เห็นปัจจัยบวก ความเสี่ยง และความท้าทายในปีนี้ เพื่อต้อนรับปีใหม่ปี 2568 นี้ “ทีมเศรษฐกิจ” ได้สัมภาษณ์ รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) ซึ่งมีมุมมองสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไว้อย่างน่าสนใจ ทั้งการเหลียวหลังไปในปี 2567 ซึ่งเป็นหนึ่งปีที่คนไทยประสบกับความยากลำบากจากรายได้ที่ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งโอกาสและความท้าทายที่จะเป็นไปได้ในปี 2568 นี้

เหลียวหลัง “ปีมังกร 2567” ยังไม่ฟื้น

เริ่มต้นก่อนจะมองไปข้างหน้า ดร.มนตรีได้ย้อนรอยเหลียวหลังภาพรวมเศรษฐกิจของปี 2567 ที่เพิ่งผ่านมาไม่กี่วันนี้ โดยระบุว่า “เศรษฐกิจไทยปี 2567 ขยายตัวได้ราว 2.6% ต่ำกว่าศักยภาพและต่ำกว่าประเทศในอาเซียน เพราะถึงแม้ไตรมาส 3 และ 4 จะขยายตัวดีขึ้น แต่จุดอ่อนคืองบประมาณล่าช้า โดยผ่านสภาในเดือน เม.ย.67”

ทำให้ช่วงเดือน ต.ค.2566-เม.ย.2567 ไม่สามารถใช้งบลงทุนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ส่งผลให้ไตรมาส 1-2 ของปี 2567 การขยายตัวเศรษฐกิจต่ำกว่าเป้า ต่อจากนั้นสถานการณ์การคลังไตรมาส 3 เริ่มดีขึ้นจากงบประมาณผ่านสภาแล้ว งบลงทุนภาครัฐเริ่มเข้าสู่ระบบไตรมาส 4

เรามีนายกรัฐมนตรีท่านใหม่ ส่งผลให้การใช้จ่ายงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเริ่มเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ 10,000 บาท รอบแรกสำหรับกลุ่มเปราะบางจำนวน 14.5 ล้านคน เป็นเงินกว่า 145,000 ล้านบาท รวมทั้ง มีนโยบายแก้ไขหนี้ครัวเรือนในช่วงปลายปี

“การท่องเที่ยวของไทยที่เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ ถือเป็นปัจจัยบวกของเศรษฐกิจปี 2567 มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยราว 32-34 ล้านคน เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เพียงแต่การใช้จ่ายนักท่องเที่ยวยังต่ำกว่าสถานการณ์ปกติราว 10% นอกจากนั้น การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) และอีกหลายประเทศได้ปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย หลังจากอัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวอยู่ในกรอบ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ส่งผลดีต่อส่งออกของไทยให้ดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้ปี 2567 การส่งออกขยายตัวราว 2-3% เมื่อเทียบกับปี 2566”

อย่างไรก็ตาม ปัญหาอุทกภัย ทั้งภาคเหนือและภาคใต้ได้ส่งผลกระทบต่องบประมาณ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวม นอกจากนั้น ค่าเงินบาทผันผวนมากในปี 2567 ผันผวนมากสุดในเอเชีย จากการที่ดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกมีการปรับลดอย่างต่อเนื่อง มีผลต่ออัตราแลกเปลี่ยน โดยค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

โอกาสและความท้าทายในปี 2568

ต่อเนื่องมาที่ภาพของเศรษฐกิจปี 2568 ซึ่ง ดร.มนตรีมองว่ามีทั้งโอกาสและความท้าทาย จากการที่โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีการพึ่งพาต่างประเทศราว 72% และพึ่งพาในประเทศ 28% ภาคต่างประเทศ ซึ่งประกอบด้วยภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งออกมีผลต่อเศรษฐกิจไทยค่อนข้างมาก

“หากการส่งออกขยายตัวได้ทุกๆ 4% จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยโต 1% ขณะที่การท่องเที่ยวก็มีส่วนสำคัญในการนำเงินเข้าประเทศจากการที่นักท่องเที่ยวนำเงินมาใช้จ่ายในประเทศไทยคนละ 46,000 บาท และมีส่วนให้เกิดการจ้างงานในภาคการบริการ การท่องเที่ยวกว่า 10 ล้านคน ภาคต่างประเทศจึงมีความสำคัญมากต่อไทยในปี 2568”

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลง ในต่างประเทศที่สำคัญในปี 2568 คือ การมีประธานาธิบดีใหม่ของสหรัฐฯ ซึ่งจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ 20 ม.ค. และมีนโยบายที่สำคัญๆ ที่มีผลต่อการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ

โดยเรื่องแรกที่น่าสนใจ คือ นโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะมีผลความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ทรัมป์มีนโยบายที่จะยุติสงครามความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสและหลายประเทศในตะวันออกกลาง ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาราคาน้ำมัน ซึ่งจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาการขนส่งสินค้าผ่านคลองสุเอช ซึ่งจะช่วยให้เงินเฟ้อทั่วโลกบรรเทาลง ส่งผลให้ดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่างๆมีโอกาสปรับลดลง

เรื่องที่สอง นโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกาที่จะมุ่งเน้น “สหรัฐอเมริกาต้องมาก่อน” โดยการกำหนดภาษีขาเข้าสินค้าจากทั่วโลกในอัตรา 10% สินค้าจากประเทศจีนจะเสียภาษี 60% ถ้าเป็นรถยนต์ EV จากจีนจะต้องเสียภาษี 200% จากประเทศเม็กซิโก และแคนาดา จะต้องเสียภาษีขาเข้า 25% และสำหรับสมาชิกกลุ่ม BRICS หากมีการใช้เงินสกุลอื่นๆ ที่มิใช่เงินดอลลาร์ในการชำระสินค้า จะต้องเสียภาษีขาเข้า 100%

ต่อเนื่องมาถึงเรื่องที่ 3 เนื่องจากสหรัฐฯมีขนาดเศรษฐกิจ 1 ใน 4 หรือ 25% ของเศรษฐกิจโลก และเป็นประเทศที่มีมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกมากสุดอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ประเทศจีนมีขนาดเศรษฐกิจ 18% ของเศรษฐกิจโลก และเป็นผู้ส่งออกสินค้ามีมูลค่าสูงสุดอันดับ 2 ของโลก มาตรการกีดกันทางการค้าจึงมีผลต่อการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก ขณะที่อุตสาหกรรมของจีนมีความเป็นไปได้ที่จะย้ายฐานการผลิตมายังประเทศในอาเซียน รวมทั้งไทย

นอกจากนั้น ข้อดีของปี 2568 ยังมาจากเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น โดยจีนมีนโยบายที่จะออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมรับมือมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยตั้งงบกระตุ้นเศรษฐกิจสูงถึง 3 ล้านล้านหยวน (ราว 15 ล้านล้านบาท) ขณะที่เศรษฐกิจอินเดียมีการเติบโตสูงสุดของโลกประมาณ 6.5%

ไทยซึ่งมีการทำความตกลง FTA กับหลากหลายประเทศ อาทิ EFTA และกำลังเจรจากับ EU อังกฤษ และอีกหลายประเทศ ซึ่งจะช่วยในเชิงการค้า ภาพรวมน่าจะดี ซึ่งรวมทั้งเป็นสมาชิก กลุ่ม BRICS ด้วย น่าจะช่วยเพื่อโอกาสทางการค้ามากขึ้น

ดังนั้น จากภาพรวมเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดการณ์โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ว่าขยายตัว 3.2% การค้าระหว่างประเทศขยายตัวประมาณ 3.4% ไทยน่าจะได้ประโยชน์การส่งออกของไทยจะขยายตัว 3–4% ซึ่งจะมีส่วนช่วยเศรษฐกิจไทยขยายตัวราว 1%

อย่างไรก็ตาม ต้องระวังปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศ และจากนโยบายของนายทรัมป์ที่ต้องจับตาใน 3 เรื่องเช่นกัน 1.หนี้สาธารณะของประเทศต่างๆมีสัดส่วนสูงมาก โดยในปี 2567 IMF รายงานว่าหนี้สาธารณะโลกสูงถึง 100 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 93% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) โลก ซึ่งจะมีผลต่องบลงทุนภาครัฐของแต่ละประเทศ

2.ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในจีนก็จำเป็นต้องระบายสินค้าที่ถูกกีดกันจากสหรัฐฯมายังตลาดในไทย ซึ่งจะกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยในที่สุด และ 3.ไทยได้รับการจัดอันดับประเทศที่มีความเสี่ยงสำหรับสหรัฐฯเป็นลำดับที่ 2 ตามหลังอันดับ 1 คือเม็กซิโก โดยประเทศไทยมีดุลการค้าเกินดุลสหรัฐฯมากถึง 30,000 ล้านเหรียญต่อปี ทำให้มีโอกาสที่ไทยจะเผชิญมาตรการโต้ตอบทางการค้าโดยตรงจากสหรัฐฯ

ประเมินเศรษฐกิจปีงูเล็กโต 2.8–3.0%

สำหรับการขยายตัวเศรษฐกิจ ปี 2568 ดร.มนตรีระบุว่า จะมีการเติบโตประมาณ 2.8–3.0% จากระยะเดียวกันของปีก่อน หลังจากที่มีการเติบโตต่ำกว่าศักยภาพมาตั้งแต่ 2564 ในช่วงโควิด โดยการบริโภคภาคเอกชน จะขยายตัว 3.0% การลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 2.5% การลงทุนภาคครัวเรือนขยายตัว 4.5%

ขณะที่อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 1.0% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีโอกาสจะปรับลดลงต่อเนื่อง โดยลงมาอยู่ที่ 1.75-2.0% จาก 2.25% ในปัจจุบัน ดุลการค้าเกินดุล 12,500 ล้านเหรียญ อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอยู่ระหว่าง 34.0-36.0 บาทต่อดอลลาร์ และมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาทั้งสิ้น 40 ล้านคน

โดยหากแยกเป็นรายภาคเศรษฐกิจ เริ่มจากภาคการท่องเที่ยว ดร.มนตรีมองว่าการที่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศบรรเทาลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกขยายตัวดีขึ้น จะส่งผลต่อการท่องเที่ยว รวมทั้งมาตรการส่งเสริมและการกระตุ้น Soft Power ต่างๆ ของภาครัฐ น่าจะมีผลต่อการท่องเที่ยวในภาพรวมดีขึ้น โดยคาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาไทยราว 40 ล้านคน รวมทั้งการใช้จ่ายต่อคนที่สูงขึ้น น่าจะมีผลช่วยเศรษฐกิจไทยในปี 2568 อีกทางหนึ่ง

ต่อด้วยภาคครัวเรือน ซึ่งมองว่านโยบายภาครัฐที่ออกมาช่วยกระตุ้นการบริโภค โดยเฉพาะนโยบาย E-Receipt ที่จะมีผลช่วง 16 ม.ค.-28 ก.พ.2568 โดยการใช้จ่าย 50,000 บาท โดยแบ่งเป็นสินค้าทั่วไป 30,000 บาท และสินค้า OTOP อีก 20,000 บาท สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้ รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกลุ่มผู้สูงอายุ 4 ล้านคน คนละ 10,000 บาท จำนวน 40,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการขึ้นค่าแรง 400 บาท ใน 4 จังหวัดแหล่งท่องเที่ยว ภูเก็ต ชลบุรี ระยอง และสมุย ซึ่งจะช่วยให้การใช้จ่ายในประเทศฟื้นตัวได้ระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ควรจะเสริมด้วยการเพิ่มรายได้เพื่อความยั่งยืนของกำลังซื้อของคนไทยในระยะยาว โดยการเพิ่มทักษะทั้ง Upskill และ Reskill โดยผ่านการอบรมการศึกษา ทั้งในระบบและนอกระบบ

แนะรัฐเร่งลงทุน–เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจ

ดร.มนตรีให้ความเห็นเพิ่มเติมว่างบลงทุนภาครัฐจะเป็นกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญในปีนี้ จากข้อจำกัดของภาคครัวเรือนที่มีหนี้ครัวเรือนสูงและเศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่มาก การจ้างงานยังไม่กลับมาเหมือนเดิม ประกอบกับรายได้ไม่สูง เครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเฉพาะหน้าคงต้องพึ่งงบประมาณของภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านงบลงทุน

อย่างไรก็ตาม จากภาวการณ์ของเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำเพียง 2.6% ของปี 2567 ซึ่งต่ำสุดในอาเซียนมีผลกระทบต่องบประมาณรายรับ ขณะที่การจัดทำงบประมาณยังเป็นแบบขาดดุล โดยงบปี 2568 ขาดดุล 860,000 ล้านบาท และในอีก 4 ปีข้างหน้า งบประมาณจะขาดดุลต่อเนื่อง โดยขาดดุลประมาณ 700,000-800,000 ล้านบาทต่อปี นำไปสู่ข้อจำกัดของการคลัง ซึ่งการขาดดุลไม่ควรเกิน 4.5% ของจีดีพี ประกอบกับการขาดดุลนำไปสู่การก่อหนี้เพื่อชดเชยการขาดดุล นำไปสู่ภาวะหนี้สาธารณะสูงขึ้นตามไปด้วย

ทั้งนี้ ในปัจจุบันรัฐบาลมีหนี้สาธารณะ 11.36 ล้านล้านบาท หรือ 63.3% ของจีดีพี โดยเป็นหนี้ในประเทศเกือบทั้งหมด และในปี 2568 จะเพิ่มเป็น 65.6% ของจีดีพี ซึ่งกรอบวินัยการเงินการคลังกำหนดไว้ต้องไม่เกิน 70% ดังนั้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 2568 ภาครัฐควรจะต้องบริหารงบลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด งบลงทุน 800,000 ล้านบาท ควรใช้อย่างมีประสิทธิภาพและเร่งรัดการใช้ให้มากสุดและเร็วที่สุด โดยควรจะลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ที่มีผลต่อเศรษฐกิจ การขนส่ง และการส่งออก การท่องเที่ยวจะได้ประโยชน์มากกว่า รวมทั้งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มการรองรับการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย

ขณะที่ยังมีงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจต่างๆ อีกราว 300,000 ล้านบาท สามารถมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ การบริหารงบลงทุนจึงควรบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ และเร่งรัดการใช้งบการลงทุน เพื่อเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจ นอกจากนั้น รัฐบาลยังควรเร่งรัดทำความร่วมมือและข้อตกลงทางการค้ากับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหภาพยุโรป อังกฤษ และประเทศอื่นๆ เพื่อช่วยในการขับเคลื่อนการส่งออกให้ขยายตัวมากสุด รวมทั้งต้องเร่งเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มทักษะแรงงานให้สูงขึ้น โดยผ่านการอบรมทั้งในระบบและนอกระบบ และทุกช่องทาง คู่ขนานกับการเพิ่มค่าแรง

ปรับปรุงโครงสร้างภาษีนิติบุคคลให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศ โดยฮ่องกงอยู่ที่อัตรา 15% สิงคโปร์ 17% ในขณะที่สหรัฐอเมริกาจะปรับจาก 21% เป็น 15% ควบคู่กับเร่งรัดพัฒนาโครงสร้างสวัสดิการสำหรับประชากรไทย ซึ่งเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น เพื่อความยั่งยืนในระยะยาว

โดยแนวทางทั้งหมดนี้ หากดำเนินการได้ ดร.มนตรี เชื่อมั่นว่าจะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการขยายตัวเศรษฐกิจในอัตราที่สูงและเต็มศักยภาพให้ทัดเทียมประเทศในอาเซียนได้ในที่สุด.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ