ผลจากมาตรการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้เกิดการไหลบ่าของกองทัพรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีนสู่ตลาดรถในประเทศไทย ชนิดท่วมทะลัก
ทำเอาค่ายรถญี่ปุ่น เจ้าตลาดรถยนต์บ้านเราต้องเสียศูนย์ เพราะค่ายรถจีนได้เปรียบที่มีรถยนต์ไฟฟ้าสารพัดรุ่น สารพัดแบรนด์ มาพร้อมเทคโนโลยีใหม่ล้ำยุค และราคาเย้ายวนใจ เนื่องจากได้มาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐบาลไทยและประโยชน์จากเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ “ไทย-จีน”
ปีที่ผ่านมาจึงได้เห็นรถยนต์ไฟฟ้า รถยนต์ไฮบริด และรถยนต์ปลั๊กอินไฮบริด ซึ่งเรียกโดยรวมว่า “รถยนต์พลังงานใหม่” หรือ New Energy Vehicle (NEV) จากจีน มากันคึกคัก มีแบรนด์ใหม่ๆมาเปิดตัวตั้งแต่ต้นปียันท้ายปี
อย่างไรก็ดีจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยในปีที่ผ่านมาไม่ค่อยสดใสที่สำคัญสถาบันการเงินยังคุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า
สืบเนื่องจากพิษเศรษฐกิจถดถอย และการที่ราคารถยนต์ไฟฟ้าไม่ค่อยนิ่ง อันเป็นผลจากการทำสงครามราคาของค่ายรถจีนที่เล่นกันดุเดือด ทำให้ราคารถมือสองของรถยนต์ไฟฟ้าตกฮวบชนิดน่าใจหาย
ทำให้ตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปีที่ผ่านมายอดขายของรถยนต์ไฟฟ้าในไทยจึงเริ่มอืด ไม่คึกคักเหมือนก่อนหน้านี้
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ยอดขายรถยนต์โดยรวมภายในประเทศไทยประจำเดือน พ.ย. 2567 มีทั้งสิ้น 42,309 คัน ลดลงจากเดือน พ.ย. ปี 2566 ถึง 31.34% อันเป็นผลจากการเข้มงวดการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงิน เพราะเศรษฐกิจในประเทศอ่อนแอ หนี้เสียรถยนต์เพิ่มขึ้น 22.8% จากไตรมาสสามปีที่แล้ว หนี้ครัวเรือนสูงถึง 89.6% ของจีดีพี ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังคงลดลง ยอดขายบ้านลดลงจากปีที่แล้ว รวมทั้งการลงทุนภาคเอกชนยังอยู่ในอัตราต่ำ
ส่งผลให้ยอดขายสะสมของรถยนต์ในประเทศช่วง 11 เดือนแรก ปี 2567 (ม.ค.-พ.ย. 2567) อยู่ที่ 518,659 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนถึง 26.69%
เฉพาะยอดจดทะเบียนสะสมรถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) ในประเทศไทย ช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ที่ 89,658 คัน เพิ่มขึ้นเพียง 0.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ขณะที่ยอดจดทะเบียนสะสมของรถยนต์ไฮบริด (HEV) กลับคึกคัก โดยช่วง 11 เดือนแรกของปี 2567 มียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 121,228 คัน เพิ่มขึ้น 52.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
แต่เมื่อมองตัวเลขยอดจับจองรถใหม่ใน งานมหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 41 หรือ “มอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024” ซึ่งเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 10 ธ.ค. ที่ผ่านมา กลับพบว่ายอดจองรถยนต์ไฟฟ้ากลับคึกคักยิ่ง
นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงานมอเตอร์ เอ็กซ์โป 2024 กล่าวว่าในงานนี้สามารถทำตัวเลขยอดจองรถโดยรวมได้ถึง 54,513 คัน ซึ่งจากข้อมูลผู้ร่วมกิจกรรม “ซื้อรถ...ชิงรถ” พบว่า มีผู้ร่วมกิจกรรมมากกว่าปีที่แล้ว แบ่งเป็นรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ (สันดาป, ไฮบริด และปลั๊กอิน-ไฮบริด) 58.7% และรถยนต์ไฟฟ้า 41.3%
ตัวเลขยอดจองรถยนต์ในงานมอเตอร์เอ็กซ์โปที่บริษัทรถได้แจ้งกับผู้จัดงาน ปรากฏว่ายอดจองสูงสุด 20 อันดับแรก ได้แก่ 1.โตโยต้า 8,297 คัน 2.BYD + Denza 7,615 คัน (แบ่งเป็นบีวายดี 7,042 คัน และเดนซ่า 573 คัน) 3.ฮอนด้า 5,081 คัน 4.ไอออน 3,668 คัน 5.เอ็มจี 3,311 คัน 6.ดีพอล 2,756 คัน 7.มิตซูบิชิ 2,609 คัน 8.นิสสัน 2,219 คัน 9.GWM 2,060 คัน 10.เนต้า 2,016 คัน
11.อีซูซุ 1,942 คัน 12.มาสด้า 1,509 คัน 13.บีเอ็มดับเบิลยู 1,331 คัน 14.ฟอร์ด 1,154 คัน 15.เมอร์เซเดส-เบนซ์ 1,122 คัน 16.ซูซูกิ 1,012 คัน 17.โอโมดา แอนด์ เจคู 1,008 คัน 18.ซีเกอร์ 866 คัน 19.เอ็กซ์เผิง 638 คัน และ 20.จีลี่ 766 คัน
โดยจำนวนยอดจองสูงสุดในงาน 20 อันดับแรกเป็นค่ายรถจากจีนถึง 10 อันดับ
สำหรับทิศทางตลาดรถจีนในไทยปี 2568 ยังคงเห็นภาพการไหลบ่าของทัพรถยนต์จีนทั้งการเปิดตัวแบรนด์ใหม่ๆและรถยนต์รุ่นใหม่ๆ
รวมทั้งความมุ่งมั่นในการทำตลาดรถกระบะทั้งที่เป็นรถกระบะเครื่องไฮบริด รถกระบะปลั๊กอินไฮบริด และรถกระบะไฟฟ้า เนื่องจากตลาดรถกระบะเป็นตลาดรถที่มีขนาดใหญ่สุดของบ้านเรา
ถึงแม้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยจะยังไม่สดใสและสถาบันการเงินไม่ลดระดับการคุมเข้มการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้า
แต่บรรดาค่ายรถจีนยังคงรัวกลองรบ พร้อมเดินหน้าทำตลาดรถในไทยต่อไป เพราะนอกจากได้ทุ่มเม็ดเงินเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว ยังเป็นเพราะหลายค่ายรถจีนที่ได้ขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยไปก่อนหน้านี้ได้อานิสงส์จากมาตรการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้าของรัฐ จึงต้องเร่งผลิตออกมาชดเชยกับตัวเลขที่ได้ขายรถไปแล้ว
นั่นหมายความว่าในปีนี้ค่ายรถจีนจะต้องใช้ทุกกระบวนยุทธ์ในการผลักดันยอดขาย
โดยหนึ่งในกลยุทธ์ทีเด็ดก็คือการทำ “สงครามราคา” รุกสนั่นตลอดทั้งปี!!!
ทีมเศรษฐกิจ
อ่าน “คอลัมน์หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ” เพิ่มเติม